10 ธ.ค. 2022 เวลา 15:40 • ข่าวรอบโลก
หินจากนอกโลกอาจนำพาสารตั้งต้น การให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก
หินอวกาศจากนอกโลกบางชนิด สามารถจะผลิตกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุกกาบาตประเภท Carbonaceous Chondrites ที่มีธาตุกัมมันตรังสีปะปนอยู่
นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานว่า โลกในยุคเริ่มก่อตัวที่แห้งแล้งไร้ชีวิต ได้กลายมาเป็นดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตสารพัดชนิดพันธุ์ได้อย่างไร ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือการที่อุกกาบาตจำนวนมหาศาลกระหน่ำพุ่งชนโลกในยุคแรกเริ่ม โดยอุกกาบาตเหล่านี้นำพาโมเลกุลน้ำและสารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อการให้กำเนิดชีวิตมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า อุกกาบาตได้นำเอากรดอะมิโน (amino acid) สารเคมีสำคัญในการสังเคราะห์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอมาจากนอกโลกด้วยหรือไม่
ทีมนักชีวะเคมีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามา (Yokohama National University : YNU) ของญี่ปุ่น ตีพิมพ์รายงานวิจัยที่พยายามหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว ลงในวารสาร ACS Central Science ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าได้ทำการทดลองทางเคมี ซึ่งจำลองสภาพภายในอุกกาบาตประเภท Carbonaceous Chondrites ที่อุดมไปด้วยน้ำและสารอินทรีย์ เพื่อดูว่ามันจะสังเคราะห์กรดอะมิโนขึ้นมาเองได้หรือไม่ หากมีธาตุกัมมันตรังสีเข้ามาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วย
มีการผสมแอมโมเนีย, เมทานอล, และฟอร์มัลดีไฮด์เข้ากับน้ำ ในสัดส่วนที่ตรงกับที่พบในอุกกาบาตชนิด Carbonaceous chondrites จากนั้นนำส่วนผสมดังกล่าวไปรับรังสีแกมมาที่เกิดจากธาตุโคบอลต์-60 เพื่อดูว่าจะเกิดความร้อนมากพอต่อการสังเคราะห์กรดอะมิโนหรือไม่
ผลปรากฏว่าการระดมยิงสารละลายข้างต้นด้วยรังสีแกมมา ทำให้เกิดการสังเคราะห์กรดอะมิโนในอัตราที่พุ่งสูงขึ้นในทันที ซึ่งปริมาณของกรดอะมิโนที่ผลิตได้ในการทดลองครั้งนี้ อยู่ในอัตราเทียบเท่ากับที่พบในอุกกาบาต Murchison น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ซึ่งตกลงมาที่ออสเตรเลียเมื่อปี 1969
ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมยังชี้ว่า ต้องใช้เวลายาวนานราว 1,000 - 100,000 ปี กว่าที่หินอวกาศซึ่งมีธาตุกัมมันตรังสีปะปนอยู่ จะสามารถสังเคราะห์กรดอะมิโนได้ในปริมาณเท่ากับที่พบในอุกกาบาต Murchison
อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตกรดอะมิโนในธรรมชาติยังมีอีกหลายวิธี การเร่งปฏิกิริยาเคมีด้วยกัมมันตรังสีนั้น ถือเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูงเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาและทำการเปรียบเทียบเพิ่มเติมต่อไป
โฆษณา