12 ธ.ค. 2022 เวลา 23:00
เรียกร้องรัฐบาลจีน ฮ่องกง เวียดนาม ไทย ยุติการนำเข้าหนังลา ลดเสี่ยงโรคระบาด
The Donkey Sanctuary องค์กรการกุศลที่ดูแลสวัสดิภาพลา เรียกร้องรัฐบาลจีน ฮ่องกง เวียดนาม และไทย ยุติการนำเข้าหนังลา หลังพบข้อมูล ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เผยความเป็นไปได้ของการเกิดโรคระบาด เช่น กาฬโรคแอฟริกาในม้า หรือ AHS ที่ระบาดในไทยเมื่อปี 2563
นายมาเรียนน์ สตีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Donkey Sanctuary องค์กรการกุศลที่ดูแลสวัสดิภาพของลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า โรคต่าง ๆ ที่ตรวจพบในตัวอย่างหนังลา จากการที่ The Donkey Sanctuary ดำเนินการเก็บข้อมูล ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ในตระกูลม้า
แม้ว่าจะขนส่งมาจากระยะทางไกลก็ตาม แต่เชื้อ S.aureus ก็สามารถอยู่รอดได้เป็นเวลานานบนผิวหนัง ที่เก็บรักษาแบบไม่ได้มาตรฐานในการขนส่ง ซึ่งอาจแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ได้ ทั้งในสถานที่ที่ทำการฆ่าสัตว์ ตลอดจนระหว่างการขนส่งและการส่งมอบในประเทศปลายทาง
ส่วนโรค AHS สามารถแพร่เชื้อได้โดยมีแมลงเป็นพาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Cullicoides midge ซึ่งเป็นตัวริ้นจำพวกหนึ่ง ที่สามารถอยู่รอดได้ภายในตู้คอนเทนเนอร์ แม้ในระยะทางที่ไกลและแพร่เชื้อให้กับม้าหรือลาตัวใหม่ในประเทศปลายทาง
เมื่อพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่สูงนี้ The Donkey Sanctuary จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีน ฮ่องกง เวียดนาม และไทย ยุติการนำเข้าหนังลาโดยทันที พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศผู้ส่งออกดำเนินการเพื่อหยุดยั้งการค้าหนังลาโดยเร็ว
การค้าหนังลาทั่วโลกนั้นมีความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ไร้การควบคุม รวมถึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ซึ่งส่งผลให้ลาต้องได้รับความทุกข์ทรมาน และชุมชนที่พึ่งพาอาศัยลาต้องได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรง ในขณะที่หลายคนอาจเลือกที่จะไม่ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อสัตว์และผู้คน แต่ The Donkey Sanctuary อยากขอให้ผู้บริโภค รัฐบาล
และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของสัตว์และมนุษย์ ซึ่งเห็นได้จากบทเรียนล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน ที่ทำให้เราทุกคนหันมาฉุกคิดและเฝ้าระวังภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้
ดร. เฟธ เบอร์เดน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานด้านการดูแลสัตว์ตระกูลม้า ของ The Donkey Sanctuary กล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในรายงานถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลยก็ตาม เพราะความเสี่ยงต่อโรคสำหรับสัตว์และมนุษย์นั้นสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากขั้นตอนการค้าหนังลาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การขาดการตรวจสอบที่สามารถระบุถึงที่มาที่ไปได้และความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นพื้นฐานทำให้ผู้คนและสัตว์นั้นตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก
แม้ว่าหนังลาที่ใช้ในการทดสอบนั้นจะได้มาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งเดียวกัน ในวันเดียวกันก็ตาม แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่า หากมีการตรวจหาเชื้อหนังลาจากแหล่งอื่น ๆ ทั่วโลก ก็อาจพบเชื้อโรคอันตรายปะปนอยู่ เช่น โรคแกลนเดอร์ ไข้หวัดใหญ่ในม้า และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
รายงานฉบับใหม่จาก The Donkey Sanctuary ระบุถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อม้าและมนุษย์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการค้าหนังลา
การทดสอบตัวอย่างผิวหนังลาจากโรงฆ่าสัตว์ในประเทศเคนยาจำนวน 108 ตัวอย่างพบว่า 88 ตัวอย่างมีเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ปะปนอยู่ และพบผลบวกของสายพันธ์ที่ดื้อต่อยาเมธิซิลลิน (MRSA) จำนวน 44 ตัวอย่างและอีก 3 ตัวอย่าง ที่มีผลบวกของ PVL-toxin ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายที่พบในมนุษย์
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic diesease) เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โดยเกิดจากวิธีการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะบนลานดินหรือแม้แต่ในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม ซึ่งวิธีการฆ่าสัตว์ดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ
การค้าหนังลาอันโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้สร้างความทุกข์ทรมานต่อลาและส่งผลกระทบในระดับที่รุนแรงต่อชุมชนที่ต้องอาศัยแรงงานจากลาด้วย
ในแต่ละปี ทั่วโลกมีลาจำนวนกว่า 4.8 ล้านตัวถูกขายและฆ่าเพื่อนำหนังมาใช้งาน ความต้องการหนังลาเกิดขึ้นจากการนำไปใช้ในการผลิต ejiao (เออเจียว) ซึ่งเป็นเจลาตินที่สกัดจากผิวหนังของลา และถือเป็นยาแผนโบราณของจีน โดยบางคนเชื่อว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ถึงสรรพคุณที่แท้จริงของยาตัวดังกล่าว
โดยรายงานฉบับใหม่จาก The Donkey Sanctuary ได้เผยให้เห็นว่าการค้าหนังลาก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่อความปลอดภัยทางชีวภาพระหว่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยที่เป็นเส้นทางผ่านในการค้าหนังลา
แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ตลาดหลักสำหรับการค้าหนังลา แต่การนำเข้าหนังลาก็เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในประเทศ โดย ผู้ค้าหนังลาส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงและหลบหลีกมาตรการป้องกัน ในการควบคุมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศผู้รับ โดยขนส่งหนังลามายังท่าเรือในประเทศไทย (หรือที่อื่น ๆ เช่น ฮ่องกง) ก่อนที่จะส่งไปยังประเทศจีน
ข้อมูลล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีม้าทั้งหมด 6,069 ตัว ขณะที่มีลาเพียงแค่ 30 ตัว อย่างไรก็ตาม อาจเป็นได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ในการเลี้ยงลานั้น ไม่มีความชัดเจนและมีการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไม่มีการกำกับดูแลการค้าสัตว์จำพวกนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งลามีส่วนสำคัญในการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า หรือ African Horse Sickness (AHS) ที่สามารถเแพร่เชื้อได้ผ่านแมลงที่ดูดเลือดของม้าและลา โดยไม่แสดงอาการที่รุนแรง
การแพร่ระบาดของโรค AHS ในประเทศไทยเมื่อปี 2563 มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการนำเข้าสัตว์ที่มีชีวิต (ได้แก่ ม้า ลา และม้าลาย) ซึ่งพบการติดเชื้อใน 6 จังหวัด ก่อนที่จะมีมาตรการสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ตระกูลม้าออกนอกพื้นที่ ซึ่งสามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ โดยพบการติดเชื้อในม้าจำนวน 610 ตัวใน 17 จังหวัด และมีม้าที่เสียชีวิตจำนวนทั้งสิ้น 568 ตัว
รวมไปถึงม้ามูลค่าสูงที่ใช้ในการแข่งกีฬา และสัตว์ตระกูลม้าสำหรับใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนหลายแสนคน ทั้งนี้ แม้จะไม่พบการติดเชื้อรายใหม่นับตั้งแต่มีโครงการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ แต่การค้าลาและหนังลาที่ไม่ได้รับการควบคุมอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องนี้ได้
รายงานความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ในระดับสากล หรือ Biosecurity Risks and Implications for Human & Animal Health on a Global Scale ที่จัดทำขึ้นโดย The Donkey Sanctuary และสถาบันวิจัยปศุสัตว์ระหว่างประเทศในเคนยา (ILRI) ได้เผยถึงผลการทดสอบตัวอย่างผิวหนังลาหลายตัว
ซึ่งปนเปื้อนเชื้อ Staphylococcus aureus (S.aureus) และโรค AHS โดยในกรณีของผิวหนังที่ปนเปื้อนเชื้อ S.aureus พบว่ามีเชื้อที่ดื้อยา MRSA ในการทดสอบจำนวน 44 ตัวอย่างจาก 108 ตัวอย่าง และอีก 3 ตัวอย่างให้ผลบวกของสาร PVL-toxin ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายที่พบในมนุษย์
โฆษณา