12 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
I #การนำเงินจากส่วนกลางของมัสยิด มาชำระหนี้สินให้แก่ผู้เสียชีวิตในกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทย
#เมื่อผู้หนึ่งได้เสียชีวิตลงโดยที่เขามีหนี้สินติดตัว ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องชดใช้หนี้สินนั้นให้แก่เขาด้วยกับ “ตะรีกะฮ์” คือทรัพย์สินของผู้ตายที่ได้ทิ้งไว้ ซึ่งจะถูกแบ่งออกเพื่อชดใช้หนี้ให้แก่เขาก่อนการนำเงินนั้นไปจัดการเรื่องศพ ตามทัศนะของนักวิชาการในมัสฮับอัชชาฟีอีย์ และทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ ซึ่งดังกล่าวนี้อยู่ในกรณีที่ว่า เมื่อเขามีทรัพย์สินทิ้งไว้เพียงพอในการจัดการใช้หนี้ดังกล่าว
แต่หากกรณีทรัพย์ที่เขาได้ทิ้งไว้ ไม่เพียงพอต่อการชดใช้หนี้สิน หรือไม่มีทรัพย์ที่จะใช้หนี้เลย ดังนั้นข้อตัดสินดังกล่าวคือ อนุญาตให้นำทรัพย์สินจากบัยตุลมาล มาชดใช้หนี้แก่เขาแทนได้ ดังกล่าวนี้ก็ด้วยกับการจัดการของผู้ปกครองในละแวกนั้น เช่น อีหม่าม เพราะดังกล่าวตกหนักอยู่บนอีหม่าม เพื่อที่จะให้ลูกมะมูมของเขาปลอดพ้นจากหนี้สินนั้น
ดังกล่าวนี้มีหะดีษระบุไว้อย่างมากมาย ที่บ่งชี้ถึงข้อตัดสินดังกล่าว ส่วนหนึ่งของหะดีษต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
عَنْ أَبِى هُرَيْرَةَ رضى الله عنه عَنِ النَّبِىِّ صلى الله عليه وسلم قَالَ مَنْ تَرَكَ مَالاً فَلِوَرَثَتِهِ وَمَنْ تَرَكَ كَلاًّ فَإِلَيْنَا
“รายงานจากอบู ฮุรอยเราะฮ์ - รอฎียัลลอฮูอันฮู - จากท่านท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - กล่าวว่า : ผู้ใดก็ตามที่ทิ้งทรัพย์สินไว้ ดังนั้นมันก็เป็นมรดกแก่ผู้รับมรดกจากเขา และผู้ใดที่ทิ้ง “กัลลา” ไว้ (หมายถึงครอบครัวที่ไม่มีนาฟาเกาะฮ์ให้ หรือหนี้สินที่ไม่สามารถที่จะชดใช้ได้) ดังนั้นเขาจงมาหาเรา” (1)
และอีกสายรายงานหนึ่ง
عَنْ أَبِى هُرَيْرَةَ رضى الله عنه أَنَّ النَّبِىَّ صلى الله عليه وسلم قَالَ مَا مِنْ مُؤْمِنٍ إِلاَّ وَأَنَا أَوْلَى بِهِ فِى الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ اقْرَءُوا إِنْ شِئْتُمْ النَّبِىُّ أَوْلَى بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنْفُسِهِمْ فَأَيُّمَا مُؤْمِنٍ مَاتَ وَتَرَكَ مَالاً فَلْيَرِثْهُ عَصَبَتُهُ مَنْ كَانُوا وَمَنْ تَرَكَ دَيْنًا أَوْ ضَيَاعًا فَلْيَأْتِنِى فَأَنَا مَوْلاَهُ
“รายงานจากอบู ฮุรอยเราะฮ์ - รอฎิยัลลอฮูอันฮู - กล่าวว่า : แท้จริงท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - กล่าวว่า : ไม่มีผู้ศรัทธาคนใด เว้นแต่ฉันนี้ดีเลิศที่สุด ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าอาคีเราะฮ์ พวกท่านจงอ่านอายะฮ์ดังนี้เถิด หากว่าพวกท่านต้องการ : “บรมศาสดา - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - นั้นดีเลิศกว่าบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจากตัวของพวกเขา” ดังนั้นไม่ว่าผู้ศรัทธาคนใดที่ได้ตายลง และทิ้งทรัพย์สินไว้
ดังนั้นบรรดาเครือญาติของเขาที่มีอยู่ก็จงรับมรดกเสีย และผู้ใดก็ตามที่ได้ละทิ้งหนี้สินหรือความเสียหายไว้ ดังนั้นเขาจงมาหาฉันเถิด เพราะฉันนั้นคือผู้ปกครองของเขา” (2)
ในสายรายงานหนึ่งของอิหม่ามมุสลิม มีสำนวนว่า :
أَنَا أَوْلَى بِكُلِّ مُؤْمِنٍ مِنْ نَفْسِهِ مَنْ تَرَكَ مَالاً فَلأَهْلِهِ وَمَنْ تَرَكَ دَيْنًا أَوْ ضَيَاعًا فَإِلَىَّ وَعَلَىَّ
“ฉันนั้นดีเลิศกว่าผู้ศรัทธาจากตัวของเขาทุก ๆ คน ผู้ใดที่ทิ้งทรัพย์สินไว้ ดังนั้นก็จะตกเป็นของครอบครัวของเขา และผู้ใดที่ทิ้งหนี้สิน หรือความเสียหายไว้ ดังนั้นเขาจงมาหาฉัน และตกหนักบนฉัน” (3)
และอีกสายรายงานหนึ่งจากอิหม่ามอัลบุคอรีย์ มุสลิม อัตติรมีซีย์และอะห์มัด มีสำนวนว่า :
عَنْ أَبِى هُرَيْرَةَ رضى الله عنه أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم كَانَ يُؤْتَى بِالرَّجُلِ الْمُتَوَفَّى عَلَيْهِ الدَّيْنُ فَيَسْأَلُ هَلْ تَرَكَ لِدَيْنِهِ فَضْلاً فَإِنْ حُدِّثَ أَنَّهُ تَرَكَ لِدَيْنِهِ وَفَاءً صَلَّى وَإِلاَّ قَالَ لِلْمُسْلِمِينَ صَلُّوا عَلَى صَاحِبِكُمْ فَلَمَّا فَتَحَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْفُتُوحَ قَالَ أَنَا أَوْلَى بِالْمُؤْمِنِينَ مِنْ أَنْفُسِهِمْ فَمَنْ تُوُفِّىَ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ فَتَرَكَ دَيْنًا فَعَلَىَّ قَضَاؤُهُ وَمَنْ تَرَكَ مَالاً فَلِوَرَثَتِهِ
“รายงานจากอบู ฮุรอยเราะฮ์ - รอฎิยัลลอฮูอันฮู - กล่าวว่า : แท้จริงท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - ถูกนำไปหาชายคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตลง ซึ่งเขามีหนี้สินอยู่ ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า เขาได้ละทิ้งส่วนหนึ่งจากสิ่งที่จะมาชดใช้หนี้สินนี้บ้างหรือไม่? หากปรากฏว่าเขาได้ทิ้งสิ่งที่จะมาชดใช้หนี้สินให้แก่เขาแล้ว ดังนั้นท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - ก็ละหมาดให้เขา
แต่หากมิเป็นเช่นนั้นแล้ว ท่านจะกล่าวแก่บรรดามุสลิมว่า พวกท่านทั้งหลายจงละหมาดให้แก่สหายของพวกท่านเถิด , และเมื่อภายหลังอัลลอฮ์ ได้ทรงให้มุสลิมพิชิตเมืองมากมายแล้ว ท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - ก็จะยืนขึ้นและกล่าวว่า :
“ฉันนั้นดีเลิศกว่าบรรดาผู้ศรัทธาจากตัวของพวกเขา ดังนั้นผู้ใดจากบรรดามุสลิมที่ตายลงซึ่งทิ้งหนี้สินไว้ ดังนั้นจำเป็นบนฉันที่จะต้องชดใช้หนี้สินนั้น และตกหนักบนฉัน และผู้ใดที่ทิ้งทรัพย์สินไว้ ดังนั้นมันจะตกเป็นของผู้รับมรดกจากเขา” (4)
ในรายงานของอิหม่ามอัฏฏ็อบรอนีย์ มีสำนวนว่า :
من ترك مالا فلورثته ومن ترك دينا فعلي وعلى الولاة من بعدي من بيت مال المسلمين
“ผู้ใดที่ทิ้งทรัพย์สินไว้ ดังนั้นมันจะตกเป็นของผู้รับมรดกจากเขา และผู้ใดที่ทิ้งหนี้สินไว้ ดังนั้นจึงตกหนักแก่ฉัน และตกหนักกับบรรดาผู้ปกครองหลังจากฉัน จากบัยตุลมาลของบรรดามุสลิม” (5)
ข้อตัดสินจากตัวบท
จากบรรดารายงานหะดีษดังกล่าวนี้ และมีหะดีษอีกมากมายหลายสายรายงานด้วยกันที่ระบุถึงเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยหลักการวิเคราะห์ และการรวมหะดีษเข้าด้วยกันนั้น บ่งชี้ถึงข้อตัดสินของผู้ที่ตายลง และมีหนี้สินตกค้าง และไม่มีทรัพย์สินที่จะชดใช้เลย หรือมีไม่เพียงพอที่จะชดใช้ได้ด้วยกับทรัพย์สิน “ตะรีกะฮ์” ที่เขาทิ้งไว้
ดังนั้นก็อนุญาตให้นำทรัพย์สินส่วนกลาง หรือบัยตุลมาล มาทำการชดใช้หนี้ให้แก่เขาได้ ดังกล่าวนี้เป็นความจำเป็นแก่ผู้ปกครอง ดังที่ได้ระบุชัดในสายรายงานของอิหม่ามอัฏฏ็อบรอนีย์ ซึ่งเป็นสายรายงานท้ายสุดที่ได้ยกมาว่า จำเป็นแก่ท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - และจำเป็นแก่บรรดาผู้ปกครองที่จะต้องนำเงินบัยตุ้ลมาลมาชดใช้หนี้สินแทนผู้ตาย
ซึ่งข้อตัดสินดังกล่าวนี้นั้นถูกบัญญัติขึ้นมาหลังจากที่บรรดามุสลิมได้มีทรัพย์สินส่วนกลางเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุการพิชิตหัวเมืองต่าง ๆ ดังที่ได้ระบุชัดในสายรายงานของอีหม่ามอัตติรมีซีย์
ท่านอิหม่ามอัชเชากานีย์ - รอฮิมาฮุลลอฮ์ - ได้กล่าวไว้ว่า :
وفِي مَعْنَى ذَلِكَ عِدَّةُ أَحَادِيثَ ثَبَتَتْ عَنْهُ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ قَالَهَا بَعْدَ أَنْ كَانَ يَمْتَنِعُ مِنَ الصَّلَاةِ عَلَى الْمَدْيُونِ فَلَمَّا فَتَحَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْبِلَادَ وَكَثُرَتِ الْأَمْوَالُ صَلَّى عَلَى مَنْ مَاتَ مَدْيُونًا وَقَضَى عَنْهُ وَذَلِكَ مشعر بأن مَنْ مَاتَ مَدْيُونًا اسْتَحَقَّ أَنْ يُقْضَى عَنْهُ دينه في بَيْتِ مَالِ الْمُسْلِمِينَ وهُوَ أَحَدُ الْمَصَارِفِ الثَّمَانِيَةِ فَلَا يَسْقُطُ حَقُّهُ بِالْمَوْتِ
“และหลายๆฮะดีษด้วยกันที่อยู่ในนัยยะดังกล่าว ที่ปรากฏชัดจากท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - ว่า : ท่านนั้นได้บอกกล่าวฮะดีษต่างๆเหล่านี้ภายหลังจากการท่านเคยทำการปฏิเสธที่จะละหมาดให้แก่ผู้ตายที่มีหนี้สินติดตัว
ครั้นเมื่ออัลลอฮ์ได้ทรง (ช่วยเหลือให้มุสลิม) พิชิตบรรดาเมืองต่างๆ และทรัพย์สินก็เพิ่มมากขึ้นท่านนบี - ซ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม - จึงทำการละหมาดให้แก่ผู้ตายที่มีหนี้สินติดตัว และทำการชดใช้หนี้ดังกล่าวแทนเขา และสิ่งดังกล่าวนี้ บ่งชี้ถึงฮุก่มที่ว่า ผู้ใดที่ได้ตายลงโดยมีหนี้สินติดตัว เขาผู้นั้นได้รับสิทธิในการชดใช้หนี้ให้แก่เขาจากทรัพย์สินบัยตุลมาลของบรรดามุสลิม และเขาก็คือหนึ่งจากบรรดาแปดจำพวกที่มีสิทธิรับซะกาต (คือผู้ที่มีหนี้สินล้นตัว) ดังนั้นสิทธิของเขานั้นจะไม่สิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตาย” (6)
ในประเด็นนี้กฎหมายของไทยค่อนข้างจะมีความแตกต่างกับกฎหมายของอิสลาม กล่าวคือ ในกฎหมายอิสลามเมื่อผู้ตายหรือเจ้าของมรดกทิ้งหนี้ไว้ ก็จำเป็นที่ทายาทหรือผู้ปกครองจะต้องชำระหนี้สินนั้นให้หมดสิ้น เป็นหนี้หนึ่งหมื่นบาทก็ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้หนึ่งหมื่นบาท
แต่ในกฎหมายของไทย กรณีที่เจ้าของมรดกมีหนี้สินซึ่งสร้างภาระไว้ก่อนเสียชีวิตในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก (เป็นหนี้หนึ่งหมื่นแต่ทิ้งเงินมรดกไว้หนึ่งพัน) หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ เช่น ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีมูลค่า หนึ่งพันบาท แต่ผู้ตายมีหนี้สินอยู่ หนึ่งหมื่นบาท
ดังนั้นทายาทจะต้องรับชดใช้หนี้สินในจำนวนเงินที่ไม่เกิน หนึ่งพันบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือ ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดเฉพาะบุคคลนั้น
หมายความว่า "หากผู้ตายมีแต่หนี้สิน และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้นๆ"
ซึ่งอิงตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ระบุชัดว่า :
"หากเจ้าของมรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก เจ้าหนี้สามารถทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้นทายาทก็ไม่ต้องชำระ"
นอกจากนี้กฎหมายไทยยังถือว่า "หนี้" ที่มาจาก "มรดก" มีอายุความแค่ 1 ปี หากหลังจากเสียชีวิต 1 ปี เจ้าหนี้ยังไม่มาทวง ก็ไม่มีสิทธิทวง เพราะถือว่าสิ้นอายุความแล้ว และกรณีที่ผู้ตายทำประกันชีวิตไว้ ค่าสินไหมที่ได้จากกรรมธรรม์ ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปชำระหนี้ เนื่องจากมิใช่มรดก นี่คือกฎหมายไทย
แต่กฎหมายอิสลามนั้น มีหนี้เท่าไหร่ก็ต้องชำระ แต่หากจ่ายหนี้ไม่ไหว ก็มีระบบซะกาตเข้ามาช่วยรับภาระหนี้ตรงนั้น และจะไม่มีวันหมดอายุความนะครับ
References :
(1) บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 2437 สำนักพิมพ์อัลมักนัซ
(2) บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 2438 สำนักพิมพ์อัลมักนัซ
(3) บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2042 สำนักพิมพ์อัลมักนัซ
(4) บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 2342, 5425 และมุสลิม หะดีษที่ 4242 และอัตติรมีซีย์ หะดีษที่ 1091 ท่านได้กล่าวว่า หะดีษนี้ หะซัน ศอเฮี้ยะห์ และอะห์มัด หะดีษที่ 9983 สำนักพิมพ์อัลมักนัซ
(5) ตัลคีส อัลหะบี้ร เล่มที่ 3 หน้าที่ 108 สำนักพิมพ์มุอัซซะซะฮ์ อัลกุรฏุบะฮ์
(6) นัยลุล เอาฏ้อร เล่มที่ 4 หน้าที่ 27 สำนักพิมพ์มุศฏอฟา อัลบาบีย์ อัลหะลาบีย์ ตั้วะฮ์ฟะตุลอะฮ์วะซีย์ เล่ม 4 หน้า 194
════════════════════════════════════════════
ติดตามเราได้ที่ :
Facebook - สำนักพิมพ์เพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านนิติศาสตร์อิสลาม
โฆษณา