Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2022 เวลา 02:55 • ข่าวรอบโลก
หัวใจไม่เคยพ่ายแพ้ (๑)
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
.
เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่ไทยโบราณเรียกเดือนอ้ายนั้น ถือเป็นเดือนเปลี่ยนปี–ปีใหม่ ของชนชาติไทยโบราณ แล้วจนบัดนี้ คนไทใหญ่ทั้งในรัฐฉาน ในเมียนมา ในประเทศไทย ในยูนนาน ประเทศจีน ก็ยังถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทใหญ่ตลอดมา
.
ดิฉันมีความทรงจำกับการทำงานในแผ่นดินไทใหญ่มายาวนานมาก และยังคิดถึงพี่สาวที่รักยิ่งอยู่เสมอ ขอกราบคารวะจิตใจประเสริฐและปัญญาสูงลึกซึ้งของครูเคอแสนคนเขียนตำราประวัติศาสตร์ไทใหญ่มาด้วยความนับถือที่สุด ครูเคอแสนให้ความรู้มากมายกับดิฉัน
ครูมีอารมณ์ขันชวนหัวชวนฮา และเป็นคนตรงไปตรงมาสุดๆ บางครั้งเราคุยกัน เคลียร์กันรุนแรงชนิด คนอื่นมาฟังคงมึนกะโหลกไปได้ แต่เราไม่เคยโกรธกัน เพราะเรารักในน้ำใจกันอย่างที่สุด ดิฉันรู้จักกันมายาวนาน ยั่งยืนเป็นเสมือนพี่น้องกับครูเคอแสน และเจ้าตืนสางสามีครู สองท่านนักวิชาการไทใหญ่นี้ ทำให้ดิฉันอิ่มใจทุกครั้งยามรำลึกถึง
.
มีบางคน น้อยคนนักที่เราสามารถกราบคารวะนับถือได้ในชีวิตทุกมิติของเขา และครูเคอแสนกับเจ้าตืนสางก็เป็นบุคคลนั้นในชีวิตดิฉัน
.
มาวันนี้เปิดดูภาพเก่า ดิฉันก็ได้พบบทความที่เคยเขียนไว้เรื่องการต่อสู้ของคนไทใหญ่ ได้เห็นภาพของครูเคอแสน แทรกอยู่ด้วย จึงขอนำมาฝากเพื่อนๆ ให้ทบทวนความหลังด้วยกัน
.
ชีวิตเป็นครู ความหลังเป็นครู และความทุกข์เป็นครู ผู้ให้บทเรียนสูงสุด-อย่างที่สุด ของมนุษยชาติ
.
⚈ ⚈ วันเริ่มต้นทำงานกับคนไทใหญ่ ⚈⚈
.
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ ดิฉันได้ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ เพื่อพบกับน้องผึ้ง น้องสาวที่รัก คุณวันดี สันติวุฒิเมธี ซึ่งขณะนั้นเธอเพิ่งมีอายุราว ๒๖ ปี และได้เข้าไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโททางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ชุมชน การต่อสู้ของทหารไทใหญ่ ที่หมู่บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
.
น้องผึ้งเป็นนักเขียนของนิตยสารสารคดี เราทำงานอยู่สำนักงานเดียวกัน เมื่อผึ้งเข้าไปเก็บข้อมูล เขียนหนังสือในหมู่คนไทใหญ่ที่พี่ๆเพื่อนๆแทบไม่รู้จักพวกเขาเลย เราจึงห่วงใยและนับถือในจิตใจกล้าหาญ และเต็มไปด้วยความใฝ่รู้ และเมตตาจิตของผึ้งมาก ครั้นได้คุยกับผึ้งหลายครั้ง ผึ้งก็ชวนดิฉันเข้าไปดูชุมชนคนไทใหญ่บ้านเปียงหลวง ที่อ.เวียงแหง ให้เห็นซะเลย ว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร มีวิถีชีวิต ความคิด การต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลพม่ามาอย่างไร
.
นั้นเป็นเหตุเริ่มแรก ที่ทำให้ดิฉันเข้าไปทำงานกับชุมชนคนไทใหญ่ ทั้งทหาร หมอสมุนไพรพื้นบ้าน นักวิชาการ ประชาชน ครู และเด็กกำพร้าไทใหญ่มายาวนานจนบัดนี้
.
ในกลางปีพ.ศ.๒๕๔๕ ดิฉัน น้องผึ้ง และน้องสาวอีกคนหนึ่ง ได้เช่ารถจากเชียงใหม่ขับตามสันดอยขึ้นไปที่หมู่บ้านเปียงหลวง ในขณะนั้นพี่ชายที่รักและนับถือยิ่งของดิฉัน คือพี่แพะ หรือดร.วีระ สมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ขึ้นไปทำงานที่เชียงใหม่พอดี ดิฉันจึงชวนพี่แพะ แวะเข้าไปที่บ้านพักฟาร์ม ๖๓ อ.เชียงดาว ซะด้วยกัน
.
บ้านริมน้ำปิง ฟาร์ม ๖๓ นี้เป็นบ้านของพี่ปุ๋ง พี่พัชรินทร์ สุกัณศีลที่เอื้อเฟื้อให้ดิฉัน น้องผึ้ง น้องสาวอีกคน และพี่แพะได้ไปพักผ่อน บ่ายพวกเราสาวๆ ๓ คนกระโดดตูมๆเล่นน้ำปิงบันเทิงใจ พี่แพะนั่งจิบกาแฟเพลิดเพลิน อยู่ที่บ้าน รอบข้างเป็นป่าริมน้ำปิง อากาศเย็นสดชื่นมาก
.
เป็นวันดีมากๆในความทรงจำ ยามค่ำคืนตรงระเบียงบ้านที่ยื่นไปน้ำปิง พวกเรานั่งคุยกันเรื่องต่างๆ หลากหลาย จำได้ว่าดิฉันเพิ่งกลับมาจากการทำงานริมทะเลสาบสงขลาได้ไม่นาน ยังได้นั่งคุยกับพี่แพะเรื่องของนานาขุนโจรทะเลสาบอยู่จนดึกดื่น พี่แพะแนะให้เขียนสารคดีชุดนี้ออกมา ถ้ายังไม่ได้เขียนก็พูดใส่เทปไว้ก่อน แล้วค่อยมาทำเป็นบทความอีกที
.
เสียดายที่ไม่ได้ทำอย่างที่พี่แพะแนะนำไว้ บทวิเคราะห์หลายอย่างเกี่ยวกับขุนโจรทะเลสาบสงขลา จึงลืมเลือน สูญหายไปกับกาลเวลา มีแต่ข้อมูลสัมภาษณ์ในสมุดบันทึกเท่านั้น ที่ยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนบัดนี้
.
เช้ารุ่งขึ้น เราไปกินขาหมูเชียงดาวแสนอร่อย พี่แพะขึ้นรถโดยสารกลับเชียงใหม่ และจะกลับกรุงเทพฯในบ่ายวันนั้น ส่วนพวกเราก็ขับรถกันต่อ ลัดเลาะไปตามเส้นทางระหว่างภูเขา ขึ้นไปที่อ.เวียงแหง
.
เราไปถึงเวียงแหงตอนเย็นย่ำ พักที่เกสต์เฮ้าส์เล็กๆในหมู่บ้านเปียงหลวง น้องผึ้งบอกว่า เกสต์เฮ้าส์แห่งนี้หลายครั้งคือสถานที่ “ฮันนีมูน” ของหนุ่มสาวไทใหญ่ในบ้านเปียงหลวง เพราะเมื่อพวกเขาเข้าพิธีแต่งงานแล้ว ไม่มีเงินที่จะออกไปพักผ่อนฮันนีมูนนอกหมู่บ้าน ก็เลยใช้บริการเกสต์เฮ้าส์ในหมู่บ้าน ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ชมเดือนด้วยกัน
.
ช่วง ๓-๔ วันในหมู่บ้านเปียงหลวง ดิฉันสัมภาษณ์ผู้คนหลากหลาย ทั้งครู หมอ เด็ก พยาบาล คนเฒ่า ทหารหญิง พวกเขาเล่าเรื่องชีวิตของคนไทใหญ่ให้ฟังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมาก สำหรับดิฉัน ผู้ที่ทำงานหลายปีมานี้อยู่แต่เขตภาคใต้ รอบทะเลสาบสงขลา
.
ดิฉันจดบันทึกคำบอกเล่าจากคนไทใหญ่มาอย่างละเอียด ไม่กี่วันถัดมา ดิฉันนัดพบกับพี่นายทหารไทยที่รักมากๆคนหนึ่ง เราไม่เจอกันมาสิบกว่าปีแล้ว แทบไม่ได้ติดต่อกัน เพิ่งมีโอกาสดีที่ดิฉันมาเชียงใหม่ จึงได้พบปะ พี่ชายถามว่า น้องอยากสัมภาษณ์เจ้ายอดศึก ผู้นำSSA ไหม
.
ดิฉันปฏิเสธ เพราะต้องกลับกรุงเทพฯแล้ว ไม่มีเวลาเพียงพอ และเรื่องการทำข่าวสงครามชายแดนไทย-พม่า ไม่ใช่ความถนัดของดิฉัน
.
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากพบพี่ชายเพียง ๒ ปี ตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ดิฉันต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่สู้รบชายแดนไทย-พม่า ยาวนานมาจนบัดนี้
.
คงเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” ที่จัดวางตัวเรา ให้ไปอยู่ในบางแห่งหน ซึ่งเราเองไม่เคยคาดคิด หรือนึกฝัน
.
และเรื่องต่อไปนี้ ที่ดิฉันนำมาฝากผู้อ่าน คือเรื่องของอดีตทหารหญิงไทใหญ่กับการต่อสู้ในวันวานของพวกเธอ
.
ซึ่งมิใช่เพียงแค่เรื่องโชคชะตาของเธอเหล่านั้น แต่เป็นชะตากรรมอันหนักหน่วงที่คนทั้งรัฐฉานต้องเผชิญมายาวนาน หลายสิบปีแล้ว
.
และพวกเขาก็ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความหวังที่จะได้พบชีวิตปกติ สงบสุข ได้ตื่นเช้าขึ้นมาอย่างมีอิสรภาพ มีเสรีภาพบริบูรณ์ ไม่ต้องกลัวใครเข้ามากระชากคอเขาออกจากที่นอน ลากมาฆ่า ปล้นชิง หรือทำร้ายพวกเขา
.
ทหารไทใหญ่คนหนึ่งบอกดิฉันว่า เขามั่นใจ รัฐฉานต้องพบสันติธรรมแน่ ในวันหนึ่งข้างหน้า เพราะเป้าหมายอยู่ที่เดิม ขณะที่พวกเขากำลังถางเส้นทางสู่เป้าหมายทุกวัน ระยะทางจึงต้องสั้นลงทุกวัน โอกาสที่ชีวิตคนไทใหญ่ทั้งรัฐฉานจะได้มีสันติภาพ อิสรภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีกว่าทุกวันนี้ จะต้องมาถึงแน่ๆ ในวันหนึ่งข้างหน้า
.
พวกเขายังเต็มเปี่ยม... ด้วยความหวังเช่นนั้น
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย