Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2022 เวลา 02:57 • ข่าวรอบโลก
หัวใจไม่เคยพ่ายแพ้ (๒)
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
.
โลกของผู้หญิงนั้นมีหลากหลายมิติ มหาตมะคานธี ผู้เป็นแนวหน้าของการใช้หลักอหิงสา หรือหลักการไม่ใช้ความรุนแรง ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศอินเดียออกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ…ได้เคยกล่าววาทะอันจับใจในครั้งหนึ่งว่า…สตรีคือเทพเจ้าแห่งความอดทนที่อวตารลงมาเป็นมนุษย์…และยังมีภาษิตเก่าแก่กล่าวไว้ด้วยว่า “สตรีคือผู้แบกโลกเอาไว้ครึ่งหนึ่ง” ทัดเทียมกับผู้ชาย
.
แต่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ภารกิจที่ผู้หญิงแบกรับเอาไว้มิใช่เพียงหน้าครัวไฟ การดูแลให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกครอบครัว หรือการรับผิดชอบงานนอกบ้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ…เท่านั้น ในประเทศพม่าซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองเต็มไปด้วยความรุนแรงและสับสน บนแผ่นดินแห่งสงครามที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจและความรุนแรงต่อประชาชนพม่า ต่อชนกลุ่มน้อยทั้งกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ คะยา คะฉิ่น ฯลฯ ผู้หญิง เด็ก คนสามัญบนแผ่นดินนั้น ต่างตกเป็น “เหยื่อ” ของ “อำนาจ”
.
ชีวิตของผู้หญิงชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่ามิได้ปกติสุขเช่นผู้หญิงในแผ่นดินอื่น ภารกิจของการแบกโลกไว้ครึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่เพียงแค่ ห้องครัว ห้องนอน การดูแลครอบครัวรักษาบ้านช่องให้เรียบร้อย หรือช่วยทำมาหากินเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงการพยายามอดทนต่อสู้ทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของกลุ่มชนของตนเอาไว้
.
เหมือนดังชีวิตของแม่สาแลงฟ้า ป่างนวล ผู้หญิงไทใหญ่ วัย ๕๒ ปีที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆในชีวิตของเธอให้เราได้รับฟัง…
.
⚈ ⚈ เส้นทางทหารหญิง ⚈ ⚈
.
แม่สาแลงฟ้า ป่างนวล เกิดที่เมืองลางเคอ ใกล้เมืองปั่น รัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๓ หลังสหภาพพม่าได้เอกราชจากอังกฤษ ๓ ปี ในครั้งที่จำความได้ แลงฟ้าเล่าว่าเมืองลางเคอเป็นเมืองเล็กๆ สงบสุข ผู้คนส่วนใหญ่ทำนาและทำสวนยาสูบ
สมัยนั้นทหารพม่าเพิ่งเริ่มเข้ามาในรัฐฉาน ยังไม่ทำร้ายชาวบ้านไทใหญ่ ความทรงจำในวัยเด็กของแลงฟ้าจึงยังพอที่จะเหลือร่องรอยของความสงบร่มเย็น ยังจดจำทุ่งข้าวสีทองอร่าม และภูเขาสูง ฟ้าสดกระจ่าง ธารน้ำไหลริน …พื้นที่รัฐฉานสวยงามอากาศสดชื่น และมีภูมิภาพคล้ายคลึงกับเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนของเมืองไทย
.
แลงฟ้าได้เรียนหนังสือชั้นป.๑– ป. ๔ ที่ลางเคอ หลักสูตรทั้งหมดเป็นภาษาพม่า แต่สำหรับคนที่อยากเรียนเขียนอ่านภาษาไทใหญ่ ยังพอหาเรียนได้ตามวัด รัฐบาลพม่ายังไม่ปิดกั้นเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆในสมัยนั้น ชนกลุ่มน้อยทั้งกะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ คะฉิ่น คะยา ฯลฯ จึงพอจะมีมุมสงบเล็กๆ สำหรับชีวิตและความฝันบนแผ่นดินของตน
.
เป็นโชคดีที่แลงฟ้าได้เรียนจนถึงระดับวิทยาลัยครูที่เมืองย่างกุ้ง หลักสูตรครูยุคนั้นมีวิชาภาษาถิ่นของชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึงภาษาไทใหญ่ให้เรียนด้วย แลงฟ้าเล่าว่า มีเด็กไทใหญ่สมัครเรียนกันมากเพราะอยากเขียนอ่านภาษาของตัวเองได้ แต่เอาเข้าจริงไม่มีเด็กชนกลุ่มน้อยกลุ่มใดได้เรียนภาษาถิ่นของตัวตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรเลย
.
ช่วงเรียนวิทยาลัยครูนี้เอง แลงฟ้าจำได้ว่า ทางวิทยาลัยประกาศจะพานักเรียนไปดูพิพิธภัณฑ์ที่ย่างกุ้ง เด็กไทใหญ่คึกคักและดีใจกันมาก แต่ก็เริ่มใจเสียกันทีละนิดเมื่อรถที่เหมามาพานักเรียนไปไกลจากตัวเมือง เดินทางห่างออกจากย่างกุ้งไปเรื่อยๆ ผ่านทุ่งนา ถนนดินแดงหลายสายและไปหยุดที่วัดเหย้าเกาะจูน เป็นวัดพม่าเล็กๆ คนเฝ้าประตูบอกว่าที่นี่คือพิพิธภัณฑ์
พวกนักเรียนไทใหญ่ตกใจกันมาก เพราะผ่านประตูเข้าไป ในห้องแคบๆของวัด มีของกองสุม ทั้งเก้าอี้ เตียงตั่ง เสื้อผ้า ซิ่น หนังสือ สมุดตัวเขียนไทใหญ่ เครื่องใช้ต่างๆของเจ้าฟ้า ฯลฯ ของเหล่านี้เคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์ย่างกุ้ง แต่ถูกจับมาทิ้งเหมือนขยะในวัดอันห่างไกล เล็ก มืด ไม่มีใครคิดจะตามมาดูอีกแล้ว
.
นักเรียนไทใหญ่พูดไม่ออก ทุกคนรับรู้ตรงกัน ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ไทใหญ่กำลังถูกลบออกจากแผ่นดินพม่า
.
ความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงเข้ามาถึงชีวิตของคนไทใหญ่ในรัฐฉานทุกคนแล้ว
.
แลงฟ้าเรียนจบกลับไปเป็นครูที่เมืองลอยแหลม อาชีพ “ครู” ที่คนไทใหญ่เรียกว่า “แม่สา” ทำให้แลงฟ้าเป็นแม่สาที่นักเรียนรักนับถือมาก หากภายหลัง “แม่สา” เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับข้าราชการพม่า จนตระหนักชัดว่าขืนอยู่ต่อไปไม่ถูกจับติดคุกก็คงถูกฆ่า ต่อสู้คนเดียวมันยาก จึงทำให้แม่สาแลงฟ้าตัดสินใจเด็ดขาดในวาระนั้น เธอระลึกย้อนเรื่องราวของวันวานให้ฟังว่า
.
“แม่สาได้ยินข่าวว่ามีกองกำลังกู้ชาติต่อสู้กับพม่า เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ แม่จึงติดต่อไปทางลูกศิษย์ ลูกศิษย์แม่สาเป็นลูกเจ้ากั้นเจ็ดนายทหารระดับสูงของกองทัพSURA (Shan United Revolutionary Army) มีนายพลโม เฮง ที่คนไทใหญ่เรียกว่า พ่อเฒ่ากอนเจิงเป็นผู้นำ
.
ลูกศิษย์เขาชวนแม่สาไปเป็นทหาร เราพากันเดินทางจากลอยแหลมไปถึงบ้านสะเน็น ใกล้ปางโหลง เจ้ากั้นเจ็ดคุมพื้นที่ตรงนั้น แม่บอกว่าอยากเป็นทหารหญิง คนไทใหญ่เรียกทหารหญิงว่า “นางหาญ” แม่อยากออกแนวหน้า ขอออกไปรบ เจ้ากั้นเจ็ดเห็นแม่เป็นครูอยากจะให้สอนหนังสือแต่แม่ไม่ยอม ใจอยากรบอย่างเดียว
แม่เข้าป่าในปีพ.ศ.๒๕๒๒ ตอนนั้นอายุได้ ๒๙ ปี มีลูกแล้ว ๑ คน สามีแม่เป็นคนปะโอ เรียนหนังสือมาด้วยกัน แต่แม่ทนคับใจไม่ไหว ยอมทิ้งครอบครัวไปกู้ชาติ ทั้งที่ห่วงลูกมาก ฝากให้ญาติพี่น้องเลี้ยงที่ลางเคอ เราอยู่ไม่ได้ เราต้องไป หน้าที่เพื่อชาติสำคัญกว่า”
.
แลงฟ้ายืนยันด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยว ถึงภารกิจกู้ชาติที่ทำให้เธอยอมละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในวันนั้น ทั้งสามี ลูก ความอบอุ่นในครอบครัว ทั้งที่รู้ดีว่า ต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน รออยู่ข้างหน้า
.
“ในกองร้อยของแม่สา… แม่เป็นทหารหญิงคนเดียวคนอื่นเป็นทหารชายหมด เราต้องฝึกระเบียบวินัย เดินซ้าย ขวา ซ้าย ฝึกสวนสนาม ฝึกยิงปืน ฝึกการต่อสู้ใช้อาวุธ ฝึกการรบ ใช้วัดเป็นสถานที่ฝึก แล้วนอนบนศาลาวัดกันทั้งหมด ตรงฟากที่แม่นอนจะมีผ้ายางกั้น ทหารชายไม่มากวน เขาเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้เรียนหนังสือ เขานับถือแม่ นับถือการศึกษาของแม่ เราเป็นครูเขาด้วย แม่ได้ไปสอนกายบริหารให้ทหารชายเพราะเราเรียนมา
.
แม่ฝึกหนักๆอยู่สามเดือน แล้วจึงถูกส่งต่อจากสะเน็นมาที่บ้านปางใหม่สูง ในเขตของพ่อเฒ่ากอนเจิง การเดินทางใช้เวลาสองสามเดือนเพราะเป็นเขตสู้รบ ขึ้นกับสถานการณ์ว่าเรียบร้อยแค่ไหน แต่พอมาเป็นนางหาญแม่ก็ต้องมีเรื่องร้องไห้อีก เพราะระหว่างฝึกทหาร ผู้ใหญ่เห็นว่าแม่เป็นโสด อยู่คนเดียว มันไม่งาม แม่ยังเป็นสาวไปรบไปกินนอนรวมกับทหารชาย บางคนมีเมียแล้ว เมียเขาจะว่าเอาได้ เวลาเราไปอาบน้ำไปคนเดียวก็ไม่งาม
ผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าแม่มีแฟนคงดีจะได้ไม่ถูกใครว่า เขาเลยหาสามีให้ แม่ถูกบังคับจนร้องไห้อยู่หลายคืน เราไม่อยากมีสามี ทิ้งครอบครัวมาเป็นนางหาญยังถูกบังคับให้มีสามีอีก เขาให้แม่เอาลูกศิษย์ที่รับใช้อยู่ทำสามี ผู้ชายคนนี้อายุน้อยกว่าแม่ ๑๐ ปี ยังเป็นเด็กหนุ่ม ผู้ใหญ่บอกว่าเอาคนนี้แหละจะได้ให้แม่สาใช้ต่อไป เวลาไปไหนจะได้เอาคนนี้ไปด้วยให้คอยดูแลแม่สา”
.
กับการถูกบังคับและความอัดอั้นใจ สิ่งเดียวที่แลงฟ้าทำได้ในขณะนั้นก็คือ “ความอดทน”
.
“สมัยนั้นปางใหม่สูงเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ แม่สามาถึงก็มาฝึกทางด้านการแพทย์ ฝึกกับแม่เฒ่าตานเท แม่เฒ่าเป็นหัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลเปียงหลวง เราฝึกทำคลอด ฝึกทำแผล ดูแลคนเจ็บป่วย
.
เวลาทหารชายออกรบ แม่สากับพวกนางหาญคนอื่นๆจะอยู่ยาม คอยตรวจตราความเรียบร้อย พวกผู้ชายออกหน้าศึก บางครั้งผู้หญิงก็ต้องออกรบด้วย ระยะหลังมีผู้หญิงมาเป็นนางหาญมากขึ้น กลุ่มผู้หญิงฝึกทหารมีอยู่ ๒ กลุ่มคือพวกไม่มีสามี กับพวกมีสามีแล้ว คนมีสามีอยู่กับสามีตัวเอง คนไม่มีสามีจะไปทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของกองทัพ ทำตู้ เตียง ตั่งนอน เป็นเครื่องไม้ฝังมุกส่งออกขายเมืองไทย
ผู้จัดการโรงงานเป็นคนไทย เขาทำเรื่องน่ารังเกียจ นางหาญเจ็บใจมากเพราะเขาให้เอาหญิงไทใหญ่มาเรียนตอนกลางคืนคืนละคน เขาคงกะจะเอาเด็กสาวๆทั้งกองทัพ หัวหน้านางหาญตอนนั้นชื่อบัวหอม เธอโกรธมาก แข็งขืนไม่ยอมเด็ดขาด ถึงต่อสู้กันจนถูกจับขังคุกหลายวัน เรารู้ๆกันอยู่ว่ากองทัพต้องเอาใจคนไทย ลงทุนไปแล้ว ไม่งั้นไม่รู้จะเอาเฟอร์นิเจอร์ไปขายใคร”
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย