13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:19 • อาหาร
📌หัวข้ออาหารกับการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกทวิตเตอร์ เมื่อมีผู้ใช้รายหนึ่งแชร์คำถามจากข้อสอบวัดสมรรถนะทั่วไป (Thai General Aptitude Test) ที่ให้ผู้ทำข้อสอบเลือกว่า “เมนูใดสร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด” โดยในคำถามมี 4 ชอยส์ให้เลือกคือ
📌ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย
📌ราดหน้าหมู
📌สเต็กปลาแซลมอน
📌สุกี้ทะเลรวมมิตร
ซึ่งเมื่อคำถามนี้ออกมา หน่วยงานที่รับหน้าที่ออกข้อสอบชุดนี้คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็เจอปัญหาทันที เพราะมีคนเข้าไปรุมวิจารณ์จำนวนมากว่าเป็นข้อสอบที่คลุมเครือและกำกวม ไม่สามารถวัดความรู้หรือการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ เพราะไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการหาคำตอบ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะขาดข้อมูลสำคัญบางส่วนที่ทางผู้ออกข้อสอบควรใส่มาในข้อสอบเพื่อป้องกันความสับสน หากดูที่ตัววัตถุดิบกันเพียวๆ ผู้ทำข้อสอบก็อาจพอคาดเดาคำตอบได้หากมีความรู้เรื่องปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่เกิดจากการผลิตวัตถุดิบแต่ละอย่างอยู่บ้าง ถึงแม้ผู้ทำข้อสอบจะยังต้องการปริมาณของวัตถุดิบในแต่ละจานเพื่อการคำนวณอย่างแม่นยำ
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนมาดูกันว่าการผลิตวัตถุดิบแต่ละอย่างปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่กันบ้าง และวัตถุดิบตัวไหนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอาหาร
📌อุตสาหกรรมผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 26% ต่อปี
อุตสาหกรรมอาหารเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ถึงปีละ 1.37 หมื่นล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2-eq) หรือ 26% ของปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในแต่ละปี
จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปริมาณที่สูงคือ การผลิตอาหารเป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือน้ำสะอาด โดยจากข้อมูลของ Our World in Data ที่ดินที่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ถึง 50% และน้ำจืดถึง 70% ของโลกถูกใช้ไปกับการทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกระหว่างการทำฟาร์ม การแปรรูปอาหาร รวมไปถึงการขนส่งที่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลถ่านหินเป็นจำนวนมาก
โดยจากข้อมูลของ Our World in Data วัตถุดิบที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก คิดจากปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ถูกปล่อยเข้าชั้นบรรยากาศต่อการผลิตวัตถุดิบ 1 กก. ได้แก่
📌เนื้อวัว (จากฟาร์มโคเนื้อ) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 99.48 กก.
📌ดาร์กช็อกโกแลต ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 46.65 กก.
📌เนื้อแกะ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 39.72 กก.
📌เนื้อวัว (จากฟาร์มโคนม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 33.3 กก.
📌กาแฟ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 28.53 กก.
📌กุ้ง (จากฟาร์ม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 26.87 กก.
📌ชีส ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 23.88 กก.
📌ปลา (จากฟาร์ม) ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 13.63 กก.
📌เนื้อหมู ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 12.31 กก.
📌เนื้อไก่ ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 9.87 กก.
เมื่อดูจากรายชื่อในอันดับนี้จะเห็นได้ว่า ‘การผลิตเนื้อ’ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดง เนื้อขาว หรืออาหารทะเล และการผลิตอาหารจากสัตว์ เช่น ชีส ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปริมาณมาก และเนื้อที่ครองอันดับหนึ่งก็คือ เนื้อวัว ที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงกว่าวัตถุดิบอย่างอื่นหลายเท่าตัว ในขณะที่เนื้อที่เป็นมิตรกับโลกที่สุดก็คือ เนื้อไก่
📌สาเหตุที่การผลิตเนื้อแดงสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง
เนื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว และแกะ เป็นอาหารจานโปรดของหลายๆ คน และเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้บริโภคทั่วโลก แต่เนื้อชนิดนี้เป็นเนื้อที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงที่สุดในโลกจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น
การเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย และแกะ ต้องใช้ที่ดินจำนวนมาก ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า หรือปรับสภาพที่ดินให้กลายเป็นทุ่งหญ้าที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ โดยเนื้อวัวสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดินมากถึง 23 กก. มากกว่าที่เนื้อไก่สร้างทั้งหมดกว่า 2 เท่า
วัว และแกะ เป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าซ ‘มีเทน’ (Methane) ออกมาทางการตด และการเรอ ซึ่งก๊าซมีเทนนี้เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ ‘มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า’
ของเสียจากตัวสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชเพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงสัตว์ผลิต ‘ก๊าซไนตรัสออกไซด์’ (Nitrous Oxide) ที่ ‘มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 256 เท่า’
ในขณะที่การผลิตอาหารทะเลอย่างกุ้ง สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงเพราะฟาร์มกุ้งมักจะตั้งอยู่บริเวณริมชายฝั่ง ทำให้มีการทำลายป่าชายเลนที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
📌อาหารที่ดีต่อโลกคือพืช แต่ก็ไม่เสมอไป
จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ อาหารที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดก็คืออาหารจำพวกพืช ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือพืชจำพวกถั่วต่างๆ เพราะการผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ใช้พื้นที่ พลังงาน น้ำ และทรัพยากรน้อยกว่าเนื้อสัตว์
โดยจากข้อมูลของ Our World in Data อาหารที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุด 5 อันดับ ก็คือ
📌ผลไม้ตระกูลส้ม ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.39 กก.
📌พืชใต้ดิน หรือพืชหัว ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
📌แอปเปิ้ล ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
📌ถั่วเปลือกแข็ง ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.43 กก.
📌มันฝรั่ง ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 0.46 กก.
โดยจากลิสต์นี้มีพืช 2 ชนิดด้วยกันคือ ผลไม้ตระกูลส้ม และถั่วเปลือกแข็ง ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดินเป็น ‘ลบ’ โดยเฉพาะต้นถั่วเปลือกแข็งที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มาไว้ภายในต้นได้ในปริมาณที่สูงมาก จนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้ที่ดิน -3.26%
อย่างไรก็ตาม จากลิสต์ด้านบน จะเห็นได้ว่า การปลูกพืชอาจไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป เพราะการปลูก ‘ต้นโกโก้’ และผลิตเมล็ดโกโก้ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ ‘ดาร์กช็อกโกแลต’ ใช้ที่ดินมากกว่าพืชอย่างอื่นเพราะเป็นพืชที่ได้รับความนิยมสูง อีกทั้งยังเป็นพืชที่เติบโตได้ดีบริเวณไหล่เขาซึ่งส่วนมากเป็นป่า และเป็นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
นี่จึงทำให้ในหลายๆ ประเทศที่ปลูกโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น เปรู กาน่า และอินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่าลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังอาจเจอปัญหาคุณภาพดินในระยะยาว เพราะหลังจากเกษตรกรใช้พื้นที่นั้นปลูกต้นโกโก้ไป 5-10 ปี สารอาหารดินบริเวณนั้นจะลดลงจนไม่เหมาะที่จะเป็นพื้นที่เพาะปลูก
📌และจากข้อมูลเหล่านี้ เมนูที่น่าจะผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดก็คือ?
แม้ว่าสุดท้ายแล้วยังไงเราจะยังต้องรอคำตอบอย่างเป็นทางการจาก ทปอ. ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ จากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ชอยส์เมนูที่น่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดก็น่าจะเป็นชอยส์แรก นั่นก็คือ ‘ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย’
เพราะนอกจากเนื้อไก่จะเป็นเนื้อที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดถ้าเทียบกับเนื้อหมู และอาหารทะเลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูอื่นแล้ว วัตถุดิบทั้งหมดยังเป็นวัตถุดิบสดที่ไม่ผ่านการแปรรูป และเป็นวัตถุดิบพื้นถิ่นของไทยทำให้ไม่ต้องมีการนำเข้า
อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นการคาดเดาจากข้อมูลที่มีเท่านั้น เพราะในขณะนี้คงยังไม่มีใครรู้ได้ว่า ทปอ. นำปัจจัยอะไรมาพิจารณาในการหาคำตอบบ้าง หรือคิดว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นผลิตจากแหล่งไหน มีคาร์บอนฟุตพริ้นจากการขนส่งเท่าไหร่
และถึงแม้คำถามของทปอ. อาจจะยังมีจุดต้องปรับปรุง การตั้งคำถามนี้ขึ้นมาในข้อสอบระดับประเทศก็มีผลดีเพราะมันทำให้ผู้คนและเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจผลกระทบของการผลิตอาหารที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในยุคที่ทุกคนต้องตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนแบบนี้ การลดรับประทานอาหารที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมก็เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้เลยทันที
อ่านบทความในเว็บไซต์ได้ที่ https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/37845
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlight_biz
โฆษณา