14 ธ.ค. 2022 เวลา 03:34 • ท่องเที่ยว
คอลัมน์ เรื่องเล่าของสาวอินดี้
เรื่อง #เพิ่มรอยหยักในสมอง ep.1
โดย มะเมี๊ยะ 2022
กิจกรรมดีๆ
กิจกรรม Free Walking Tour >>>> เส้นทางท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์ 3 วัฒนธรรม ไทย-จีน-อิสลาม เป็นอีก 1 กิจกรรม ของ Chiang Mai Design Week สนุกสนาน ได้สาระความรู้มากมาย และเดินออกกำลังไปในตัว แล้วยังเป็นกิจกรรมสีเขียวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะเป็นการเดินเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดเส้นทาง และได้พบเจออะไรใหม่ๆ ซึ่งคณะผู้จัดฯ (คณาจารย์จากสาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา) เรียกว่า Hidden Gems
จากที่ได้เรียนรู้วันนี้ ก็อยากจะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เท่าที่พอจะจำได้ เพราะระหว่างเดินเที่ยวได้แต่รับฟัง และถ่ายรูปบางส่วน ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับจดบันทึกไป ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ครบถ้วน และถ้าข้อมูลไหนไม่แน่ใจก็จะไม่บันทึกไว้ในโพสต์นี้
ตอนที่ 1 วัดบุพพาราม
กิจกรรมนี้เริ่มต้นที่วัดบุพพาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าหลายร้อยปีตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดนี้อยู่ทางฝั่งตะวันออก นอกเขตเมืองเก่า ที่ได้ชื่อว่า วัดบุพพาราม เพราะคำว่า บุพพา มาจากภาษาบาลี มีความหมายว่า ทิศตะวันออก วัดนี้มีความสวยงามวัดหนึ่ง ทั้งตัวเจดีย์ วิหาร ซุ้มประตูโขง และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานด้านใน
ซุ้มประตูโขงกับวิหารหลวง
ชอบมุมนี้ สวยมาก ประตูโขงกับเจดีย์
ในส่วนของเจดีย์นั้น เชื่อว่ามีการบูรณะมาหลายรอบ จึงมีการผสมผสานของศิลปะพุกาม และล้านนาเข้าด้วยกัน เนื่องจากล้านนาเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าราวๆ 200 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นเจดีย์ที่มีสิงห์อยู่บริเวณมุมของเจดีย์นี้
อาจารย์กำลังบรรยายอยู่หน้าเจดีย์ จะสังเกตเห็นเจดีย์รายองค์เล็กๆ แต่มุมนี้อาจารย์ยืนบังสิงห์ ศิลปะพม่าไปหน่อย ตัวเจดีย์ย่อมุมศิลปะแบบอยุธยา แต่องค์ระฆังเป็นศิลปะพุกาม (หวังว่าจะจำไม่ผิด)
ลักษณะการวางผังของวัดในล้านนา ส่วนใหญ่จะยึดเอาคติจักรวาลเป็นหลักในการสร้างวัด ซึ่งคติจักรวาลเป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยมีเจดีย์เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ บริเวณรอบๆ เจดีย์ใหญ่บางแห่ง จะประกอบไปด้วยเจดีย์เล็กๆ โดยรอบ ทางล้านนาเรียกว่า เจดีย์ราย เป็นตัวแทนของทิศทั้ง 8 นอกจากนี้ลานทรายรอบๆ บริเวณวัด เปรียบกับ ทะเลมหานทีสีทันดร และซุ้มประตูโขง ก็คือ ป่าหิมพานต์ ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างโลกมนุษย์ และสวรรค์
ดังนั้นที่ซุ้มประตูโขง ลายปูนปั้นต่างๆ จะเป็นสัตว์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เช่น นาค กินนร กินรี เป็นต้น ภายในวิหารทางล้านนาส่วนใหญ่ จะมีสัตตภัณฑ์เป็นเชิงเทียน มีทั้งหมด 7 คู่ ลดหลั่นกันไป และมียอดตรงกลางที่สูงที่สุด นั่นก็คือ เขาพระสุเมรุ ในขณะที่ยอดอื่นๆ ก็เปรียบเสมือนกับ สัตตบรรพต ซึ่งก็คือ เขาทั้ง 7 ที่อยู่รายรอบเขาพระสุเมรุนั่นเอง
สัตตภัณฑ์จะมีอยู่ 2 ลวดลาย แบบแรกจะเป็นลายพันธ์พฤกษา และแบบที่สองจะเป็นนาค นาคถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในพุทธศาสนา กล่าวคือ มีพญามุจลินทร์ที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาอยากที่จะบวช แต่ไม่สามารถบวชได้
เพราะผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุสงฆ์นั้นต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เมื่อพญามุจลินทร์ไม่สามารถบวชได้ดังใจปรารถนา จึงขอให้นาคได้เป็นตัวแทนของที่สำคัญในพุทธศาสนา เช่น นาค เป็นการเรียกแทนผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวโกนหัวแล้วพร้อมจะบวชเป็นพระ หรือ นาค ได้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ปกป้องมารต่างๆ ที่จะเข้ามาในเขตวัด ดังเห็นได้จากซุ้มประตูโขง หรือ บันไดนาค และที่สำคัญ นาคก็กลายมาเป็น 1 ในลวดลายที่อยู่บนสัตตภัณฑ์นั่นเอง
หมายเหตุ วัดนี้ไม่มีสัตตภัณฑ์ให้เห็น แต่สามารถพบเห็นได้จากวัดอื่นๆ ในแถบล้านนา
ภายในวิหารหลังเล็กของวัดบุพพาราม ก็จะเป็นโครงสร้างวิหารแบบล้านนาชัดเจน นั่นคือ วิหารในล้านนา จะเป็นวิหารแบบโล่ง แต่ปัจจุบันมีการทำลูกระนาด กั้นเป็นซี่ๆ เชื่อมต่อกับผนังปูนที่ก่อขึ้นมา
บริเวณหลังคาก็จะมีโครงไม้ที่เรียกว่า ม้าต่างไหม เป็นตัวรับน้ำหนักของหลังคาได้ดี (ที่เรียกว่า ม้าต่างไหม หรือ ม้าตั่งไหม เพราะสมัยก่อนขบวนคารวานค้าขายที่เข้ามาในล้านนา จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มาจากจีน ก็จะขนสินค้าพวกผ้าไหมเข้ามาขาย และจะใช้ม้าบรรทุกเข้ามา ในขณะที่กลุ่มพ่อค้าพม่าและอินเดีย ก็จะใช้วัวต่างของเข้ามาขาย) ลักษณะการวางไม้เรียงกัน จึงคล้ายกับม้าต่างไหมนั่นเอง
โครงสร้างอาคารที่เรียกว่าม้าต่างไหม
ในวิหารหลังเล็กนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เรียกว่า พระสิงห์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบล้านนา (ที่เรียกว่า พระสิงห์ เพราะช่วงบนขององค์พระอวบอ้วน กำยำ สง่างาม ลักษณะคล้ายสิงโต) สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะรูปร่างของผู้คนในสมัยล้านนา กล่าวคือ มีร่างกายที่อวบกำยำ และยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะสังเกตได้จากพระพักตร์ของพระพุทธรูป สะท้อนให้เห็นว่า บ้านเมืองในยุคนั้น (ราชวงศมังราย) ผู้คนมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
พระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบพม่า คือ พระนลาฎกว้าง ปากแดง หูยาว
ในส่วนที่เป็นเศียรพระก็จะมีรัศมีเป็นดอกบัวตูม ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวาราวดี ซึ่งต่างจากศิลปะสุโขทัยที่มีรัศมีเป็นเปลวเทียน ส่วนปลายผ้าสังฆาฏิก็จะอยู่เหนือราวนม ในขณะที่ศิลปะสมัยอื่นๆ ปลายผ้าก็จะยาวมากกว่านี้
ในส่วนของวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระประธานซึ่งได้รับพระราชทานจากในหลวง ร.๙ และยังมีพระพุทธรูปไม้สักของพม่าซึ่งเป็นการแกะสลักพระพุทธรูปจากไม้ชิ้นเดียว ปัจจุบันมีการทาสีทับลงบนตัวไม้ แต่ยังพอมองเห็นรอยแตกและริ้วไม้ได้อยู่ แต่ต้องสังเกตดีๆ นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเจดีย์ของวัดต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณตัวเมืองเก่าของเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น 38 แห่งด้วย (ลืมถ่ายรูป)
ภายในวิหารหลวง มลังเมลืองมาก
วัดในล้านนาบางแห่งจะมีรูปปั้นตัวมอมอยู่ด้านหน้าวิหาร วัดนี้ก็มีเช่นกัน หน้าวิหารเก่า บริเวณราวบันได (ลืมถ่ายรูป) ส่วนวิหารหลวง จะมีรูปปั้นตัวมกร ลักษณะจะคล้ายกับตัวมอม แต่ตัวมอมจะหัวล้านและอวบอ้วน ตัวมกรจะมีรูปร่างที่ผอมยาวและหัวไม่ล้าน ตัวมกรนอกจากจะพบเห็นในลักษณะรูปปั้นแล้ว วัดในล้านนาส่วนใหญ่บริเวณราวบันไดนาค ถ้าสังเกตดีๆ จะเป็นตัวมกรคายนาคออกมา ไม่ใช่บันไดนาคแบบโล้นๆ
พระพุทธรูปแกะสลักไม้จากไม้ชิ้นเดียว
สำหรับบันไดนาคนั้นแรกเริ่มเดิมทีเป็นศิลปะแบบขอม ซึ่งมีแต่นาคเท่านั้น พม่าก็รับเอาศิลปะแบบขอมเข้ามา และล้านนาก็รับเอามาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง และในสมัยของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ท่านเห็นว่า ล้านนาไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของพม่า ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรับเอารูปแบบของพม่ามาทั้งหมด จึงได้มีการสร้างบันไดนาคที่เป็นลักษณะ มกรคายนาค และได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน แต่บริเวณหน้าวิหารหลวงก็มีรูปปั้นเศียรนาคศิลปะขอมอยู่ด้วย
วิหารหลวงมีบันไดนาคยาวมาก ด้านหน้าบรรณมีตราสัญลักษณ์ของในหลวง ร.9 เพราะวิหารแห่งนี้สร้างโดยพระองค์ท่าน
ตัวมกรยิ้มสู้กล้องมาก
บันไดนาค มีตัวมกรคายนาคออกเป็นช่วงๆ จากมุมนี้จะเห็นทั้งหมด 3 ช่วง
นาคศิลปะขอม กับพระพุทธรูปปางลีลาหน้าวิหารหลวง มีเจดีย์อยู่ด้านหลัง
ด้านซ้ายมือสุดเป็นหน้าบรรณเก่าทำจากไม้แกะสลัก อาจารย์บรรยายเก่งมาก
แต่ละคนยืนฟังอย่างตั้งใจ ที่มาที่ไปของโครงการนี้ เป็น Pilot Project ถ้าประสบความสำเร็จน่าจะมีอีก แต่หลายๆ เส้นทางเพราะเชียงใหม่เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้
หลังจากนั้น ก็เป็นการเริ่มต้นเดินเท้าเพื่อไปเรียนรู้และค้นหา Hidden Gems ลำดับต่อไป ในขณะที่เดินออกจะพ้นบริเวณวัด อาจารย์ก็ชี้ให้ดูสิงห์ที่อยู่ตรงปากประตูวัด ซึ่งเป็นสิงห์ในรูปแบบของเสาอโศก นั่นก็แสดงให้เห็นถึงการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนล้านนาจากการที่พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย ได้ส่งพระภิกษุสงฆ์เดินทางเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ และนั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสังคยนาพระไตรปิฎกในล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ สมัยอยุธยานั่นเอง
ติดตามตอนที่ 2 ได้ในโพสต์ต่อไป
โฆษณา