Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
14 ธ.ค. 2022 เวลา 06:49 • ท่องเที่ยว
จุฬาฯ เทวาลัย .. แดนดินถิ่นชงโคบานในนิวาสสถานแห่งนางฟ้าอักษรา
เทวาลัยแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .. โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และเปรียบเสมือนกับแลนมาร์กของมหาวิทยาลัยที่ “พสกจุฬาฯ” ทุกคนต้องเข้ามาเยี่ยมเยียนสักครั้งแม้จะไม่ใช่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ก็ตาม
เพียงแค่ได้ก้าวเท้าเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศอันร่มรื่นรายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมอันเปี่ยมเอกลักษณ์งดงามของแดนเทวาลัย ก็ราวกับหลงเข้ามาอยู่ในอีกมิติหนึ่งแห่งกาลเวลา ..
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ได้สร้างขึ้นเป็นอาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .. ออกแบบโดย ดร. คาร์ล โดริง นายช่างชาวเยอรมันผู้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย และนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลี นายช่างชาวอังกฤษ รับราชการในกระทรวงธรรมการ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเมื่อ พ. ศ. ๒๔๕๖ เพื่อเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ของอาคารเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๘
.. สภากรรมการจัดการโรงเรียนได้ปรึกษาตกลงกันว่าจะให้สร้างอาคารเป็นแบบไทย ย้อนกลับไปสู่ความสงบในอดีตด้วยการสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ที่ถอดอารมณ์ยุคก่อน ผสมกับรูปแบบวิถีชีวิตสมัยใหม่ ด้วยความปรารถนาที่จะรักษาไว้ซึ่งงานสถาปัตย์และวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ให้ตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลังสืบไป
.. จึงให้นายช่างทั้งสองไปตรวจแบบไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลก แล้วมาคิดปรุงขึ้นเป็นแบบตึกของโรงเรียน ต่อมาเมื่อโรงเรียนได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙ จึงกลายมาเป็นอาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
โรงเรียนสวย … จึงไม่ต่างอะไรกับการแต่งตัวให้ใครสักคนสวยขึ้นมา อาคารเรียนแห่งนี้จึงมากกว่าผนังหรือพื้นที่ฉาบด้วยปูน
.. กลิ่นอายแห่งบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยภูมิสถาปัตถ์ที่โดดเด่น เคลือบแฝงไว้ด้วยความสงบและเป็นเอกลักษณ์ คือเสน่ห์อันโดดเด่นของ “เทวาลัยแห่งนี้” และเป็นอาคารที่สวยอันดับต้น ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เทวาลัย แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ” .. เดิมเป็นอาคารเรียนแห่งเดียวที่สามารถมองเห็นจากนอกรั้วของมหาวิทยาลัย หลายคนเดินผ่านไปมา พอเห็นสถาปัตยกรรมของอาคารเลยนึกว่าเป็นวัด พาลยกมือไหว้จากนอกรั้วตามแบบของคนไทยที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธ
.. ตึกนี้เลยขลัง และได้ชื่อว่าเป็น “เทวาลัย” .. สาวหนุ่มที่อยู่คณะนี้เลยพลอยได้เป็นเทวดาและนางฟ้าในสวรรค์วิมานแห่งเทวาลัยนี้กันถ้วนหน้า
นาคยิ้ม .. เมื่อมองครั้งแรกทำให้นึกถึงประติมากรรมนาคศิลปะนครวัด แต่ยิ่งพิศ ก็ยิ่งเห็นว่า นาคที่ทำหน้าที่เสมือนทวารบาล ด่านหน้า รอรับผู้มาเยือนนั้น ส่งยิ้มทักทายกับเรา ..
ชงโคบานบนลานอักษร .. สายลมโชยให้ดอกชงโคสีม่วงอ่อนพลิ้วไหว ให้ความรู้สึกรื่นรมย์มากมายขณะก้าวเท้าเข้าสู่ “ดินแดนของนางฟ้าถิ่นเทวาลัย” ที่เป็นตำนานเล่าขานเลื่องลือ อื้ออึงไปทั้งบางจุฬาฯ
ทางเดินเชื่อมโถงอาคาร ..
จากอดีตถึงปัจจุบัน มีรอยเท้ามากมายที่เดินผ่านทางเชื่อม ไปยังหมู่อาคารอีกหลายหลัง … รอยเท้าเลือนราง มองไม่เห็นในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด อาคารเหล่านี้ก็ยังคงเอกลักษณ์แห่งมนต์เสน่ห์ไว้อย่างไม่เสื่อมคลาย
ลวดลายแบบไทย ที่ใช้ประดับเพเานและส่วนบนของอาคารทางเชื่อมตึก
โถงด้านหน้าของเทวาลัยที่ใหญ่โต ดูโอ่อ่า เหมือนโถงพระราชวังสวยๆของหลายๆประเทศในโลกตะวันตก
บันไดโค้งหักมุมสไตล์ยุโรป .. ทอดยาวขึ้นไปสู่พื้นที่ชาลาพักชั้นสองของบันไดที่นำสู่ด้านบนที่โดดเด่น อันเป็นที่ตั้งของพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ..
สายพระเนตรที่เหมือนจะทอดต่ำลงมายังผู้มาเยือน แม้เราจะตระหนักดีว่า เปี่ยมด้วยพระเมตตา .. แต่ก็ยังทำให้เรารู้สึกว่า ตัวเราเล็กมาก ต้องสำรวม และหยุดถวายบังคม ถวายสักการะอย่างนอบน้อมด้วยการพนมมือไหว้
.. ว่ากันว่า .. เหล่านางฟ้าและเทวดา ต้องเรียนอยู่ปีสองก่อน จึงจะได้สิทธิ์เดินขึ้นบันไดโค้งนี้ เพื่อผ่านไปยังห้องเรียนต่างๆ
บรรยากาศที่ชั้นสองของเทวาลัย .. ความรู้สึกเหมือนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
.. อันเกิดจากการรับรู้ด้วยความรู้สึก เมื่อมองเห็นภาพถ่าย และสิ่งของที่ตั้งอยู่และใช้ประดับ ..
.. แสงเงาที่ตกต้องมายังพื้นที่นี้ ยิ่งเน้นย้ำให้ความรู้สึกหนักแน่นมากยิ่งขึ้น
คันทวยรูปพญานาคที่ประดับตามมุมชายคาของอาคารงดงามมาก เหมือนคันทวยของสิมโบราณที่บ้านฉัน จะต่างกันเพียงแต่คันทวยของสิมไม้เก่าแก่ของวัดโบราณใกล้บ้านสลักเสลาด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน ..
คันทวยที่อ่อนช้อยจนดูเผินๆเหมือนนาคจะมีชีวิตของเทวาลัยแห่งนี้ ทำให้นึกถึงบทความที่ รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดีถียนต์ เคยเขียนเอาไว้ว่า ..
.. จำได้แต่ว่าเมื่อนั่งเรียนวิชาวรรณคดีไทยอยู่ในห้องใหญ่ มองออกไปเห็นพญานาคที่ปั้นเป็นคันทวยค้ำยันชายคาตึก แลเรื่อเหลืองอยู่ในเงาแดดยามบ่าย ใต้ฟ้าโปร่งที่ไม่มีอาคารอื่นใดแถวนั้นมาบดบัง พญานาคนั้นก็ดูเหมือนจะหยัดกายขึ้นมาได้ด้วยชีวิต เคลื่อนออกมาจากกาพย์เห่เรื่องกากีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง
ทัศนียภาพอันสวยงามของสระบัว ภายในบนิเวณตึกคณะอักษรศาสตร์..
ความงดงามของอาคาร รวมถึงภาพสะท้อนน้ำ ... ที่ปรากฏและมองเห็นในวันอากาศแจ่มใส ของวันที่ฉันไปเยือน
.. ล้วนทำให้เห็นภาพความสวยงาม และกลิ่นอายของ “ถิ่นเทวาลัย” ที่ “นางฟ้าอักษรา” ชาวสวรรค์ทุกรุ่นได้ใช้เป็นแหล่งศึกษามาจนถึงทุกวันนี้
บันทึก
3
1
5
3
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย