14 ธ.ค. 2022 เวลา 08:02 • ท่องเที่ยว
อุทยานจามจุรี .. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี เขียวขจีแผ่ปกพสกจุฬาฯ
ไพศาลตระหง่านสาขา ใต้ร่มพฤกษาจุฬาฯร่มเย็น
จามจุรีนี้เป็นฉัตรกั้น ปลอบขวัญเตือนใจเมื่อเห็น
คราทุกข์ฉุกลำเค็ญ ใครจะเว้นสู่สนามจามจุรี ...
เสียงเพลง อุทยานจามจุรี ดูเหมือนจะดังแผ่วแว่วมาอยู่ในหัว ในขณะที่สายตากวาดมองไปยังต้นไม้ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่ “จามจุรี” ที่ได้รับการดูแลฃอย่างดีปกคลุมไปทั่วบริเวณด้านหน้าของพื้นที่
นำความทรงจำดีๆของวันที่ฟ้าสดใสในรั้วจามจุรีกลับมาในห้วงคำนึง เหมือนฉากภาพยนตร์ที่ผ่านสายตาขณะที่เรานั่งชม
52 ปีผ่านไปจากการเข้ามาเป็นน้องใหม่ของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” .. การกลับมาเยือนถิ่นอันเคยเป็นที่เรียน ที่สิงสถิตเมื่อนานมาแล้วในวันนี้นับเป็นเรื่องพิเศษมาก
ฉันแวะมาสักการะอนุสาวรีย์สองรัชกาลเป็นสิ่งแรก .. เมฆสีน้ำเงินฟ้า อันเป็นฉากหลังของรูปปั้นสีเข้มที่งามสง่าของทั้งสองพระองค์บนแท่นคอนกรีตสูง
… สายพระเนตรที่ดูเหมือนจะมองออกไปข้างหน้า ซึ่งนอกจากจะ “แผ่ปกพสกจุฬาฯ” ทั้งปวงแล้ว ยังพระราชทานโอกาสให้เรามีการศึกษาที่ดี มีอาชีพการงานเลี้ยงชีพ รวมถึงได้เป็นพลเมืองไทยภายใต้ร่มพระบารมีที่ร่มเย็นมาตั้งแต่บรรพกาล มาจนถึงสมัยลูกหลานของเรา และจนถึงกาลปัจจุบัน
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์
ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร
ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง
หอประขุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดี .. สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
หอประชุมแห่งนี้ มีรูปร่างสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และคล้ายกับสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่ออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ..
เพียงแต่ดัดแปลงเล็กน้อยให้ผสมกลมกลืนเข้ากับงานฝีมือและวัฒนธรรม จนกลายเป็นอาคารที่มีความงดงามอ่อนช้อยแบบไทยๆ เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ของมหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
วันทรงดนตรี ประเพณีแห่งพระมหากรุณาธิคุณ
หอประชุมใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นมาคู่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นที่อาคารแห่งนี้หลายเหตุการณ์
.. แต่สิ่งที่อยู่ในความทรงจำตลอดมาในช่วงที่เราศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ วันทรงดนตรี ในช่วงปี 2513-2516 .. วันที่เด็กบ้านนอกอย่างฉันมีโอกาสได้เห็นและเข้าเฝ้า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ” รัชกาลที่ 9 “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ” ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์
.. บรรยากาศแห่งความปลื้มปิติ ความสุข และความรื่นรมย์ยังอยู่ในความทรงจำเสมอมา และนับเป็นวาสนาที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด
งานรับน้องใหม่ .. เป็นอีกเหตุการณ์ที่จำได้ไม่เลือนลืม ที่เกิดขึ้นในหอประชุมแห่งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นซีเนียร์ และมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีรับน้องใหม่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรฯ” (พระยศในขณะนั้น) เมื่อครั้งทรงเป็นนิสิตอักษรศาสตร์รุ่นประวัติศาสตร์ ที่ “ผองเรา ชาวจุฬาฯ” ตื่นเต้น สนใจ และรอรับเป็นพิเศษมากกว่าปีใดๆในหอประชุมแห่งนี้ .. บรรยากาศประทับใจมากมาย
เมื่อต้นปีจามจุรีงามล้น
เครื่องหมายของสิ่งมงคล ทุกคนเริ่มต้นสนใจ
เริ่มเวลารับชาวจุฬาฯ น้องใหม่
เบิกบานสำราญฤทัย น้องเรามาใหม่หลายคน
เห็นจามจุรีสีงาม ทุกยามช่างงามล้ำล้น
น้องเราเข้ามาทุกคน เบิกบานกมลเริ่มต้นด้วยดี
พร้อมกันในวันนี้เอง ร้องเพลงครื้นเครงเต็มที่
หมายเอาจามจุรี เป็นเกียรติเป็นศรีของชาวจุฬาฯ
.. ใบจามจุรี เหมือนสายฝนจากด้านบน พลิ้วหล่นมาเป็นสาย .. กระทบกับบางส่วนของร่างกายน้องใหม่ .. แม้อาจจะไม่ใช่พระองค์ท่าน แต่ความรู้สึกประทับใจของสายใยความผูกพันระหว่างพี่กับน้องนั้น ไม่อาจจะบรรยายออกมาด้วยตัวอักษรให้เท่ากับความรู้สึกในขณะนั้น
โฆษณา