Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Enter to Start
•
ติดตาม
14 ธ.ค. 2022 เวลา 10:02 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Avatar: The Way of Water การลงทุนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้ทุนสร้างมหาศาล
13 ปีแห่งการรอคอยของคอหนัง ในที่สุดภาคต่อสุดยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ Avatar ก็กำลังจะเข้าฉาย
ไม่เพียงเวลาเท่านั้นที่ใช้นานเหลือเกิน ทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เอาเรื่องพอกัน ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขทุนสร้างที่แท้จริง แต่ผู้กำกับอย่าง James Cameron เผยสั้นๆ แค่ว่า “แพงฉิ-หายเลยโว้ย (Very F-cking (expensive))”
เขายังบอกอีกว่าหากจะให้หนังเรื่องนี้คุ้มทุน ต้องสามารถทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล
ตอนนี้อันดับ 1 ของหนังทำเงินสูงสุดคือเรื่อง Avatar (2009) ทำเงินไป 2.9 พันล้านดอลลาร์ ที่แซงหน้าอันดับ 2 อย่าง Avengers: Endgame (รายได้ 2.78 พันล้านดอลลาร์) จากการนำมาฉายซ้ำอีกรอบ
เพราะฉะนั้นจุดคุ้มทุนของ Avatar 2 คือต้องทำเงินแซงหน้าอันดับ 3 อย่าง Titanic (2.20 พันล้านดอลลาร์) และอันดับ 4 Star Wars: Episode VII - The Force Awakens (2.07 พันล้านดอลลาร์)
ซึ่งหากถึงจุดคุ้มทุนดังกล่าวจริง นั่นแปลว่า Avatar 2 จะเป็นหนังเรื่องที่ 6 ที่สามารถทำรายได้ทะลุหลัก 2 พันล้านดอลลาร์ (4 เรื่องข้างต้น และอีกเรื่องคือ Avengers: Infinity War (2.05 พันล้านดอลลาร์))
แม้จะไม่มีการเปิดเผยทุนสร้างจริงๆ แต่ The Hollywood Reporter ก็มีการประมาณว่าอาจใช้ทุนสร้างมากถึง 350 - 400 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นหนึ่งในหนังที่ทุนสร้างสูงสุด
Cameron เองเคยบอกกับผู้บริหารของ Disney และ 20th Century Studios ว่า “นี่เป็นเคสการลงทุนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์”
อะไรที่ทำให้ ‘Avatar 2’ ใช้ทุนสร้างมากมายขนาดนี้ และทำไมต้องทำเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์จึงจะคุ้มทุน เรามาดูกัน
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ภาคต่อของ Avatar กินเวลายาวนานถึง 13 ปีจากภาคแรก รวมถึงใช้งบประมาณไปเยอะมากคือการพัฒนาเทคโนโลยีในการถ่ายทำ ซึ่งอันที่จริงการสร้างหนังใหม่ๆ ของ Cameron ก็มักจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ
อย่างใน Avatar ภาคแรกก็มีการพัฒนาเทคนิค CGI ให้มีความสมจริงมากขึ้น รวมถึงพัฒนากล้องที่สามารถเพิ่มมิติและความลึกของภาพ เรียกว่า stereoscopic filming techniques ซึ่งสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกดึงเข้าไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ได้
และที่สำคัญคือการต่อยอด motion graphic ที่เรียกว่า Performance Capture ทำให้ได้การแสดงของตัวละครสมจริงมากขึ้น ความสามารถของนักแสดงมีมากแค่ไหน สีหน้า แววตา เป็นอย่างไร ก็สามารถถ่ายทอดใส่ตัวละคร CGI ได้อย่างสมบูรณ์
แต่ปัญหาคือการถ่ายทำฉากใต้น้ำ อย่างเช่นฉากที่พระเอก Jake Sully วิ่งหนีสัตว์ต่างดาวที่เรียกว่า Thanator ก่อนกระโดดลงจากหน้าผาตกลงไปในน้ำ ปกติจะใช้เทคนิคการถ่ายทำที่เรียกว่า Dry for Wet ซึ่งนักแสดงถ่ายทำในสตูดิโอ มีสายห้อยระโยงระยาง ทำท่าทางเหมือนตกน้ำ ก่อนจะใช้ CGI ช่วย ซึ่งก็เป็นเทคนิคที่หนังหลายๆ เรื่องใช้กันเช่น Aquaman
แต่สำหรับ Cameron เทคนิค Dry for Wet ให้ความสมจริงได้ไม่พอ อย่างที่ Cameron บอกว่า “หนังเรื่องนี้ชื่อ The Way of Water ไม่ใช่ The Way of Dry for Wet”
ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเทคนิคการถ่ายทำใต้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากล้องที่สามารถจับภาพบนบกและใต้น้ำแยกกัน ก่อนจะเอามารวมกัน การพัฒนาอัลกอริธึมและ AI ใหม่ที่สามารถประมวลผลได้สมจริงที่สุด
การสร้างแทงค์น้ำขนาด 9 แสนแกลลอนเพื่อถ่ายทำใต้น้ำ การสร้างคลื่นเพื่อจำลองกระแสน้ำในมหาสมุทร
รวมถึงการห้ามให้แสงส่องลงไปโดยตรงเพราะจะทำให้จับภาพได้ไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถวางผ้าใบคลุมไว้เพราะจะเป็นอันตรายต่อนักแสดง ต้องวางลูกบอลโพลิเมอร์สีขาวเล็กๆ หลายร้อยลูกบนผิวน้ำเพื่อช่วยกระจายแสง และนักแสดงก็สามารถขึ้นมาหายใจได้
เทคโนโลยีการถ่ายใต้น้ำให้สมกับชื่อ ‘Way of Water’ หรือ ‘วิถีแห่งสายน้ำ’ นี้แหล่ะที่กินเงินทุนจนทำให้ Avatar 2 มีต้นทุนการผลิตแพงหูฉี่ แล้วนอกเหนือจากต้นทุนการผลิตก็ยังต้องมีค่าการจัดจำหน่ายและการตลาดด้วย เพราะต่อให้ทุ่มเงินสร้างหนังกี่ร้อยล้าน ถ้าคนดูไม่รู้ว่ามีหนังเรื่องนี้อยู่ก็จบเห่
Avatar 2 เอง ทาง Disney ก็โปรโมทในหลายรูปแบบ ทั้งทางช่องทีวีแบบปกติ ป้ายโฆษณา โปสเตอร์ ช่องทางออนไลน์ ฯลฯ เพื่อให้คนดูรู้ว่าหนังที่ยิ่งใหญ่เรื่องนี้กำลังจะมาแล้ว
ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตหนังของสตูดิโอรายใหญ่ของ Hollywood โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์ต่อเรื่อง ซึ่งก็จะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องบทหนัง ลิขสิทธิ์ต่างๆ ค่าตัวนักแสดง เงินเดือนทีมงาน รวมถึงค่าโปรดักชั่น ซึ่งส่วนนี้จะกินต้นทุนประมาณ 25 - 30% หลังจากนั้นก็จะเป็นค่า Special Effect ค่าแต่งเพลง และอื่นๆ จนกว่าหนังจะพร้อมฉาย
นอกจากนี้ยังต้องมีค่าจัดจำหน่ายและการตลาดซึ่งเฉลี่ยจะบวกเพิ่มไปประมาณ 35 ล้านดอลลาร์
อย่าง Avatar ภาคแรกเองใช้ทุนสร้างหนังไป 237 ล้านดอลลาร์ แล้วก็มีค่าการตลาดเพิ่มไปอีก 130 ล้านดอลลาร์
สำหรับ Avatar: The Way of Water ต้นทุนการผลิตเป็นเพียงตัวเลขประมาณเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าต้นทุนจริงๆ มันมหาศาลขนาดไหน จนต้องทำเงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์จึงจะคุ้มทุน
2
ฟังดูก็เป็นเรื่องยาก ด้วยสถิติที่ว่าหลายสิบปีแห่งวงการภาพยนตร์ มีหนังเพียง 5 เรื่องเท่านั้นที่สามารถทำรายได้พุ่งทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์ แต่หากดูให้ลึกไปกว่านั้น 2 ใน 5 เรื่องเป็นผลงานกำกับของ James Cameron เอง ดังนั้นมันก็ฟังดูเป็นเรื่องที่มีโอกาสเป็นไปได้มากอยู่
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายของ Avatar: The Way of Water จะเป็นอย่างไร กำไรย่อมตกอยู่ที่คนดูอย่างเราๆ แน่อยู่แล้ว
และต่อให้สุดท้ายมันจะไม่คุ้มทุนจริงๆ แต่ความทุ่มเทตลอดสิบปีของทีมงานเบื้องหลังก็ได้สรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นอีกขั้นของวิวัฒนาการ ให้กับภาพยนตร์เรื่องถัดใช้กรุยทางไปยังเส้นทางที่หลากหลายมากขึ้นในวงการภาพยนตร์โลกอย่างแน่นอน
___
ติดตามข่าวอื่นๆ และบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่
Website -
https://entertostart.co
Facebook -
facebook.com/entertostart
Twitter -
twitter.com/EntertoStart
Telegram -
t.me/entertostart
___
อ่านบทความนี้ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่
https://entertostart.co/avatar-the-way-of-water-the-worst-business-case-in-movie-history/
เทคโนโลยี
การลงทุน
ภาพยนตร์
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย