14 ธ.ค. 2022 เวลา 14:39 • สิ่งแวดล้อม
ก่อนดึงกระดาษทิชชู่อย่างเพลินมือในครั้งต่อไป โปรดนึกในใจ นี่มันคือการทำลายสิ่งแวดล้อมนะ
จริงอะ
บ้าหรือเปล่า
ทิชชู่เนี่ยนะ
ใช่ค่ะ ทิชชู่เนี่ยแหละค่ะ ที่ในทุกครั้งของการใช้คือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่รู้ตัว
ปฏิเสธไม่ได้แหละว่า พวกเราเคยชินกับการใช้ทิชชู่กันมาแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่เช็ดสิ่งสกปรกยันเช็ดน้ำตา แล้วมิหนำซ้ำ พฤติกรรมการใช้เพลินนี้ ยังเป็นกันทั่วโลกอีกตะหาก อาจด้วยเพราะความอเนกประสงค์ของมันเอง แต่ความจริงข้อนึงที่คนมักลีมหรือมองข้ามกันไป คือกระบวนการก่อนจะได้มาซึ่งทิชชู่นั้น ประกอบด้วยเส้นทางของการทำร้ายโลกอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อาจไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า ทิชชู่นั้นเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นมา เพราะในทุก ๆ การผลิตทิชชู่นั้น จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ที่ในแต่ละส่วนล้วนส่งผลโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
-ส่วนที่ 1- “การตัดต้นไม้”
เพราะกระดาษทิชชู่ทุกแผ่นนั้นทำมาจาก “เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก “เนื้อไม้” ซึ่งก็หมายถึงการต้องตัดต้นไม้กว่าจะได้เนื้อไม้พวกนี้มา
-ส่วนที่ 2- “การทำให้น้ำปนเปื้อน”
ในระหว่างขั้นตอนการผลิตนั้น น้ำซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของขั้นตอนการผลิต จะเกิดการปนเปื้อนขึ้น และนั่นอาจบานปลายเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อกระทั่งมนุษย์เอง ในบริเวณที่เกี่ยวข้อง
-ส่วนที่ 3- “สารเคมี”
แน่นอนว่าในขั้นตอนสำคัญเพื่อให้มันมีความน่าใช้ตามจริตผู้บริโภค อย่างกระบวนการฟอกสีนั้น ย่อมไม่พ้นต้องมีการใช้สารเคมีอย่างแน่นอน
ถ้าเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น นี่คือตัวเลขของสิ่งที่เกี่ยวข้อง
ต้นไม้ 17 ต้นที่ต้องถูกตัด
และน้ำ 20,000 แกลลอน ที่ต้องปนเปื้อน
เพื่อให้ได้ทิชชู่จำนวน 1 ตัน
ในขณะที่ปริมาณการใช้งานทิชชู่ต่อวัน ยกตัวอย่างในฮ่องกง ย้อนกลับไปในปี 2014 ตกเฉลี่ยวันละ ย้ำว่า “วันละ” 668 ตัน
โอ้ยยยย ใช้อะไรกันนักกันหนาเนี่ยยยย
เพราะนี่หมายถึงการตัดต้นไม้ไป 11,300 ต้น และมีน้ำที่ถูกปนเปื้อนเป็นปริมาณถึง 13 ล้านแกลลอน เพียงเพื่อจะใช้ตอบสนองความสะดวกสบายของผู้คน..และนี่เป็นตัวเลขจากเพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวบนโลกด้วยซ้ำ
ถ้าอย่างนั้นเราทำยังไงได้บ้าง?
ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่า ขอให้ลดปริมาณการใช้ทิชชู่ลงให้น้อยที่สุด โดยลองพิจารณาเคล็ดลับต่อไปนี้ดูบ้าง
1. มีสติทุกครั้งในการดึงทิชชู่ เช็ดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ได้เปื้อนมาก 1 แผ่นก็พอแล้ว แต่ถ้าหวัด น้ำม่งน้ำมูกเยอะ อะ สัก 2-3 แผ่นยังพอไหว อนุญาตให้ดึงเยอะกว่านี้ได้ เฉพาะเวลาซับน้ำตาเวลาโดนทิ้ง
2. พิจารณาซื้อกระดาษทิชชู่ชนิดที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลบ้างก็ดีนะ
3. เลือกใช้ผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าเช็ดบ้าน ผ้าเช็ดหน้า แทนการใช้ทิชชู่ เอะอะอะไร ขอให้เอาผ้าซับเข้าไว้ก่อน เพราะนอกจากจะไม่ต้องใช้ทิชชู่มากแล้ว การใช้ซ้ำของบรรดาผ้า ๆ ยังช่วยเราประหยัดเงินจากกระดาษทิชชู่ได้อีกด้วย
4. กิจธุระในห้องน้ำ ลองพิจารณาการล้างมือ แล้วเป่าแห้ง แทนการดึงทิชชู่มาซับทุกครั้ง หรือพกผ้าเช็ดหน้าติดตัว จะได้เอาไว้ใช้ซับได้
5. ถ้าเป็นไปได้ พิจารณาเลือกซื้อจากบริษัทผู้ผลิตที่ชัดเจนในการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก่อน
ครั้งต่อไป ก่อนที่จะดึงทิชชู่ปรื๊ด ๆ ก็ขอให้นึกถึงหน้าของต้นไม้ทั้ง 17 ต้น น้ำปนเปื้อนอีก 20,000 แกลลอน สารเคมีอีกจำนวนหนึ่ง กันไว้หน่อยนะคะ
ติดตามทุกความเป็นไปสิ่งแวดล้อม ได้ที่
โฆษณา