15 ธ.ค. 2022 เวลา 06:05 • กีฬา
เผยที่มารหัสฟีฟ่า ของทีมชาติที่หลายคนสงสัย | Main Stand
ทุกประเทศบนโลกไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเหมือนกันหมดก็คืออักษรย่อชื่อประเทศในภาษาอังกฤษของตน ซึ่งส่วนมากมักมาในรูปแบบ 3 ตัวอักษร เช่น THA = ไทย, JPN = ญี่ปุ่น, ENG = อังกฤษ และ USA = สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
เช่นเดียวกับในโลกของฟุตบอล ประเทศหรือดินแดนใดก็ตามที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ก็ต้องเสนอชื่อรหัสของตนเพื่อนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนหรือสำหรับใช้บนสกอร์บอร์ด โดยส่วนมากก็จะเอาชื่อย่อที่ลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หรือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ไปใช้งานกับฟีฟ่าอีกต่อหนึ่ง
อย่างไรก็ดีบนโลกอันแสนกว้างใหญ่นี้ที่มีมากกว่า 196 ประเทศ (ในทางนิตินัย) ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะเอาภาษาอังกฤษมาใช้เป็นชื่อย่อทั้งหมด หนำซ้ำบางประเทศยังเอาอักษรมาเรียงกันแปลก ๆ ให้ชาวโลกงงกันอีก ซึ่งในฟุตบอลโลก 2022 นี้เราก็ได้เห็นหลายชาติที่มีอักษรย่อประเทศแปลก ๆ กันมาบ้างแล้ว และมันมีกี่ประเทศกันล่ะ คำตอบอยู่ข้างล่างนี้เลย
[ สเปน - ชื่อภาษาอังกฤษ Spain / ชื่อย่อทีมฟุตบอล ESP ]
เท้าความก่อนว่าในองค์กรฟีฟ่ามีภาษาทางการทั้งหมด 6 ภาษาได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, เยอรมัน, รัสเซีย และ อาหรับ ดั้งนั้นการที่ประเทศสเปนที่มีภาษาของตนอยู่ในสารบบภาษาทางการของฟีฟ่า จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเลือกชื่อประเทศในภาษาของตนมาตั้งเป็นชื่อย่อนั่นคือ España (อ่านว่า - เอสปา-ญา) แล้วย่อเหลือ ESP ซึ่งนอกจากฟุตบอลแล้วสเปนยังใช้รหัสย่อ ESP ในการแสดงตัวกับนานาชาติทุกครั้งทั้งกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และ องค์การมาตรฐานสากล (ISO)
[ โมร็อกโก - ชื่อภาษาอังกฤษ Morocco / ชื่อย่อทีมฟุตบอล MAR ]
ด้วยความเนียนที่มีตัวอักษร M กับ R ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตว่าตัว A ที่แทรกกลางอยู่ในชื่อย่อของทีมชาติโมร็อกโกนั้นมาจากไหน ซึ่งคำตอบคือมันมาจากชื่อประเทศโมร็อกโกในภาษาฝรั่งเศสที่สะกดว่า “Maroc” (อ่านว่า - มะ-ร็อก)
เนื่องจากประเทศโมร็อกโกเคยตกเป็นประเทศรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1912 ถึง 1956 มาก่อน โดยในเวลานั้นโมร็อกโกใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ แม้ว่าภายหลังการประกาศเอกราชจะไม่ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการแล้ว (ปัจจุบันใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ) แต่พวกเขาก็ยังเลือกใช้ชื่อย่อประเทศแบบเดิมที่มาจากภาษาฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน
1
[ ซาอุดีอาระเบีย - ชื่อภาษาอังกฤษ Saudi Arabia / ชื่อย่อทีมฟุตบอล KSA ]
ซาอุดีอาระเบีย ดินแดนต้นตำหรับแห่งศาสนาอิสลามและยังเป็นที่ตั้งของ กะอ์บะฮ์ สถานที่แสวงบุญของชาวมุสลิมทั่วโลก อีกทั้งพวกเขายังเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ หรือที่เรารู้จักกันในนามกฎหมายของศาสนาอิสลาม ดังนั้นการเรียกชื่อเต็มของบุคคลหรือสถานที่สำหรับชาวมุสลิมจึงถือเป็นการให้เกียรติและเป็นการยกย่องอย่างสูง
นั่นทำให้รหัสย่อของประเทศซาอุดีอาระเบียที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาจึงเขียนว่า KSA ซึ่งมาจากชื่อเต็มของชื่อทางการที่เรียกว่า “ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (Kingdom of Saudi Arabia)” อย่างไรก็ตามชื่อย่อในองค์การมาตรฐานสากล (ISO) กลับเขียนเป็น SAU แทน
[ เนเธอร์แลนด์ - ชื่อภาษาอังกฤษ Netherlands / ชื่อย่อทีมฟุตบอล NED ]
ตัว D มันมาจากไหน นี่อาจเป็นคำถามคาใจของแฟนบอลที่ได้เห็นชื่อย่อของทัพ “อัศวินสีส้ม” ยามลงเตะในสนาม เพราะชื่อประเทศจริง ๆ แล้วสะกดว่า Netherland ดังนั้นมันควรจะเป็น NET มากกว่าสิ
อย่างไรก็ดีเนเธอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เลือกใช้ภาษาประเทศของตนมาตั้งชื่อย่อแทนภาษาอังกฤษ ซึ่งในภาษาดัตช์ชื่อประเทศของพวกเขามาจากคำว่า “Neder-landen” ที่แปลว่า ดินแดนพื้นต่ำ ทั้งนี้ชื่อย่อ NED ถูกใช้แค่ในการแข่งขันกีฬาหรือการแข่งขันอื่น ๆ แต่ในองค์การมาตรฐานสากล (ISO) เนเธอร์แลนด์จะใช้ชื่อย่อว่า NLD แทน
[ สวิตเซอร์แลนด์ - ชื่อภาษาอังกฤษ Switzerland / ชื่อย่อทีมฟุตบอล SUI ]
และแล้วก็มาถึงพระเอกของเรา ประเทศที่ทำให้แฟนบอลสงสัยมากที่สุด เพราะชื่อประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในภาษาอังกฤษนั้นไม่มีตัว U และ I แล้วคำว่า SUI มันมาจากอะไรกันนี่
ขอเกริ่นก่อนว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมของตัวเอง เดิมทีบริเวณที่ตั้งของประเทศในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกลุ่มรัฐอิสระที่พูดภาษาเยอรมัน ก่อนจะรวมตัวเป็นสมาพันธรัฐแล้วขยายพื้นที่ประเทศออกไปจนพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการรวมตัวจากรัฐอิสระหลาย ๆ รัฐที่พูดภาษาแตกต่างกันออกไป
นั่นทำให้สวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการถึง 4 ภาษาคือ ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี และ รูมันซ์ (มีรากมาจากภาษาโรมัน) โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ในระดับนานาชาติว่า “Switzerland” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสคำว่า “Suisse” (อ่านว่า สุ-อิซซ) หมายถึงชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในรัฐชวีทซ์ทางตอนกลางค่อนไปตะวันออกของประเทศ โดยคำว่า “Suisse” ถูกใช้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16
ด้วยความผูกพันกับคำว่า “Suisse” ที่ใช้กันมาเนิ่นนาน (แม้ว่าภาษาเยอรมันจะถูกใช้มากที่สุดในประเทศ) ประกอบกับเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ที่เมืองซูริก ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เลือกชื่อประเทศภาษาฝรั่งเศสมาใช้ในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เว้นเสียแต่ในนามขององค์การมาตรฐานสากล (ISO) จะใช้ชื่อย่อว่า CHE ซึ่งมาจากชื่อประเทศในภาษาละตินว่า “Confoederatio Helvetica”
จึงสรุปได้ว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) มีชื่อย่อ 2 แบบก็คือ SUI (ใช้ในนามตัวแทนนักกีฬา) และ CHE (ใช้ในนามมาตรฐานสากล)
.
.
.
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศที่ใช้รหัสฟีฟ่าแปลก ๆ ชวนงงทั่วโลกอีกมากมาย ซึ่งเราสามารถรวบรวมมาได้ดังนี้
- บอสเนีย แอนด์ เฮอร์เซโกวีนา - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Bosnia and Herzegovina (รหัสฟีฟ่า BIH) มาจากชื่อประเทศที่ประชาชนเรียกกันหลังประกาศอิสรภาพจาก ยูโกสลาเวีย ในปี 1992 ว่า “Bosna i Hercegovina”
- กือราเชา - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Curaçao (รหัสฟีฟ่า CUW) ไม่ได้มาจากคำใด ๆ โดยเป็นการตั้งใจใช้อักษรย่อให้ออกเสียงว่า “กือ” ในภาษาดัตช์
- คองโก - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Congo (รหัสฟีฟ่า COD) มาจากชื่อเต็มของประเทศ Democratic Republic of the Congo
- เอสวาตินี - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Eswatini (รหัสฟีฟ่า SWA) มาจากชื่อเก่าของประเทศที่เรียกว่า “สวาซิแลนด์ (Swaziland)” โดยเพิ่งเปลี่ยนใหม่เมื่อปี 2018
- ไอซ์แลนด์ - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Iceland (รหัสฟีฟ่า ISL) มาจากชื่อประเทศในภาษาไอซ์แลนด์ Ísland ซึ่งคำว่า Ís กับคำว่า Ice ออกเสียงว่า “ไอซ์” เหมือนกัน
- เกาหลีเหนือ - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ North Korea (รหัสฟีฟ่า PRK) มาจากชื่อเต็มของประเทศในภาษาอังกฤษ Democratic People's Republic of Korea
- นอร์ทมาซิโดเนีย - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Macedonia (รหัสฟีฟ่า MKD) มาจากชื่อประเทศในภาษากรีกโบราณที่เรียกภูมิภาคที่ตั้งของประเทศมาซิโดเนียว่า “Μακεδονία” (Makedoníā)
1
- โรมาเนีย - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ Romania (รหัสฟีฟ่า ROU) เปลี่ยนจากของเดิม “ROM” ในปี 2002 เพื่อเลี่ยงจากการถูกนานาชาติเข้าใจผิดว่าเกี่ยวข้องกับชาวโรม่า ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในประเทศที่เคยทำสงครามเย็นกับชาวโรมาเนียในช่วงยุคคอมมิวนิสต์ โดยรหัสฟีฟ่า ROU เป็นการเล่นคำให้เข้ากับเสียง “โร” พยางค์แรกของชื่อประเทศ
- แอฟริกาใต้ - ชื่อประเทศภาษาอังกฤษ South Africa (รหัสฟีฟ่า RSA) มาจากชื่อเต็มของประเทศในภาษาอังกฤษ Republic of South Africa (แต่ถ้าชื่อย่อประเทศแบบ 2 ตัวอักษรของ ISO จะเป็น “SA” คล้ายกับซาอุดีอาระเบีย)
.
.
.
*รู้หรือไม่ : ประเทศไทยสมัยใช้ชื่อว่า “สยาม” มีรหัสฟีฟ่าว่า SIA (Siam) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น THA ในช่วงประมาณปี 1948 หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา