Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไพโรจน์ จิวตระกูลวงศ์
•
ติดตาม
16 ธ.ค. 2022 เวลา 08:58 • สุขภาพ
ตำนานที่ คนเจียงใหม่มองข้าม เอาไว้ให้ลูกหลานดู เล่าให้ลูกหลานฟัง
ประวัติประตูเมือง และแจ่งเมืองเชียงใหม่ ที่คนเจียงใหม่แต๊ๆบางคนยังบ่ฮู้เลย😊
ประตูเมืองเชียงใหม่ มี ๕ ประตู ได้แก่
๑.ประตูช้างเผือก
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเป็นจุดรวมไพร่พลเพื่อเตรียมสู้รบยามเกิดศึกสงคราม
๒. ประตูท่าแพ ด้านซ้าย เปรียบเสมือนประตูแขน ขา เป็นประตูทางผ่านของเจ้าในสมัยนั้น และเป็นจุดค้าขายแลกเปลี่ยนข้าวของ
๓.ประตูสวนดอก
ด้านขวา ที่ได้ชื่อว่าสวนดอกนั้นก็เพราะชายาของพระยากือนาชื่นชอบในการทำสวนดอกไม้ จึงมีสวนดอกไม้บริเวณนั้นมากมาย
๔.ประตูเชียงใหม่ อยู่ทิศใต้ เป็นประตูมงคลของบ้านเมือง
๕.ประตูแสนปรุง (สวนปรุง) เป็นประตูที่ใช้เป็นทางผ่านของศพ
เกิดเป็นคนล้านนา ควรรู้เรื่องเกี่ยวกับรากเหง้าของตัวเอง วันนี้มารู้เรื่องเกี่ยวกับ
กำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือ กำแพงเวียงเชียงใหม่ เป็นกำแพงเมืองชั้นในของเวียงเชียงใหม่ สร้างขึ้นพร้อมๆกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง
กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวมากที่สุด วัดได้ประมาณ 1.67 กิโลเมตร
รองลงมาเป็นกำแพงด้านทิศใต้ วัดได้ 1.63 กิโลเมตร
ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกมีความยาวเท่ากับทิศตะวันตก คือ 1.62 กิโลเมตร
หลังจากที่เชียงใหม่ได้รับอิสรภาพจากพม่า เจ้ากาวิละ ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 โปรดให้บูรณะกำแพงเมืองเป็นครั้งใหญ่ เป็นกำแพงอิฐที่มีความมั่นคงทนทาน และบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2
ในปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากกำแพงเมืองเชียงใหม่มีสภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก และบางแห่งก็พังเป็นซากปรักหักพัง ทั้งยังมีวัชพืชขึ้นเป็นการรกอย่างมาก อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพของคนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงได้เริ่มรื้อกำแพงออก เพื่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในตัวเมืองเชียงใหม่
ประตูเมืองเชียงใหม่
เดิมกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นมีสองชั้น เรียกว่ากำแพงชั้นนอก สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 22 และ กำแพงชั้นในซึ่งเป็นกำแพงแต่เดิมสมัยสร้างเวียง
ประตูเมืองชั้นใน
โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู ได้แก่
ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง
เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
ประตูเชียงใหม่
เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้
ประตูท่าแพ
เดิมมีชื่อว่า
ประตูเชียงเรือก
เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่
ประตูสวนดอก
เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญาเม็งราย
ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง
เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคาร(เจดีย์หลวง)ขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักสวนแร(ทิพย์เนตร)นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ใช้ประหารนักโทษ
ใช้หอกหลาวทิ่มแทงปุง (พุง) ชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือ ประตูแสนปุง นับแต่อดีต เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ประตูเมืองชั้นนอก
เป็นประตูของกำแพงเมืองชั้นนอก มีทั้งหมด 7 ประตู เป็นประตูเดิมที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 22 อยู่ 4 ประตู ได้แก่
ประตูเชียงเรือก (เชียงเลือก) หรือประตูท่าแพ (ชั้นนอก) อยู่ทางทิศตะวันออก
ประตูหล่ายแกง(ระแกง)
ประตูขัวก้อม
ประตูไร่ยาหรือไหยา (ประตูหายยา)
และเป็นประตูที่สร้างในรัชสมัย พระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 ซึ่งสร้างเพิ่มอีก 3 ประตูได้แก่
ประตูศรีภูมิ
ประตูช้างม่อย
ประตูกะโหล้ง
แจ่งเมืองเชียงใหม่
กำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต ได้แก่
แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ แจ่งสะหลีภูมิ
เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนที่พญามังรายสร้างเมืองโปรดให้ขุดคูเมืองและสร้างกำแพงจากจุดนี้ไปยังแจ่งขะต้ำแล้ววกผ่านไปยังแจ่งกู่เฮืองแล้วต่อไปยังแจ่งหัวลินแล้ววกไปสี้นสุดที่แจ่งศรีภูมิ ตอนที่เริ่มขุดมีเรื่องเล่าว่าจุดนี้จะลึกมากๆขนาดเอาบันไดไม้ไผ่(เกิ๋น)ที่มีช่องเหยียบมากเกินพันขั้น(พันตาเกิน)มาปีนขึ้นลง จึงเป็นที่มาของวัด พันตาเกิน หรือวัดชัยศรีภูมิในปัจจุบัน
แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ
คำว่า ขะต๊ำ เป็นเครื่องมือจับปลาของชาวล้านนาโบราณ ที่มีลักษณะคล้ายๆลอบดักปลา ในคูเมืองคงจะมีปลาและสัตว์น้ำชุกชุมในบริเวณนี้ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
แจ่งกู่เฮือง
เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของ อ้ายเฮือง ที่ได้เป็นผู้คุมของพญาคำฟู ซึ่งได้ถูกนำมาคุมขังที่นี่ภายหลังถูกจับกุม เนื่องจากก่อนหน้าได้ชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู ซึ่งพญาไชยสงคราม พระบรมเชษฐาของพญาแสนภูปกครองเชียงรายอยู่รับสั่งให้มาปราบ
แจ่งหัวริน
เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ แจ่งนี้เป็นแจ่งที่รับน้ำที่ไหลมาจากดอยสุเทพ
น้ำที่ไหลมาจะหล่อเลี้ยงไปทั่วเมือง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย