18 ธ.ค. 2022 เวลา 07:10 • การศึกษา
โครงสร้างของระบบประสาท
ระบบประสาท (nervous system) เป็นระบบหนึ่งในร่างกายที่มีความซับซ้อนมาก ประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neuron) เป็นจำนวนมากมายึดโยงกันเป็นโครงข่ายเซลล์ประสาททั่วร่างกาย ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างกระแสประสาท (nerve impulse) และการหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitter secretion) นอกจากนี้ ระบบประสาทยังมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของร่างกาย การแสดงออกทางพฤติกรรม และความจำต่าง ๆ อีกด้วย
ระบบประสาทสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบใหญ่ คือ ระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทรอบนอก
ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system, CNS) เป็นศูนย์กลางในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกาย มีการวางตัวของเส้นประสาททางด้านหลัง (dorsal nerve cord) ของร่างกาย มีหน้าที่หลักในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากอวัยวะรับความรู้สึก ประกอบด้วยสมอง (brain) และไขสันหลัง (spinal cord) โดยสมอง จะเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ในขณะที่ไขสันหลังจะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อจากสมองไปทางด้านหลังของร่างกายอยู่ภายในกระดูกสันหลัง
ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral nervous system, PNS) ประกอบด้วยตัวรับความรู้สึก (sensory receptor) และเส้นประสาท (nerve) ทั้งหมดที่อยู่นอกระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ เส้นประสาทสมอง (cranial nerve) แยกออกมาจากสมองจำนวน 12 คู่ และเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) แยกออกมาจากไขสันหลังจำนวน 31 คู่
หากเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหาย จะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งร่างกาย และเซลล์ประสาทส่วนใหญ่ไม่สามารถซ่อมแซมและงอกใยประสาทที่เสียหายออกมาใหม่ได้ ในขณะที่ หากระบบประสาทรอบนอกได้รับความเสียหายที่ไม่รุนแรงมาก จะมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองและงอกใยประสาทส่วนที่เสียหายออกมาใหม่ได้ เรียกว่า กระบวนการสร้างใหม่ของเซลล์ประสาท (neuroregeration) อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดจากความเสียหายของระบบประสาทรอบนอก จะส่งผลกระทบต่อร่างกายเฉพาะที่ (local effect) บริเวณที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น
#Biostation
#ชีววิทยา
โฆษณา