Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Pick Ideas
•
ติดตาม
18 ธ.ค. 2022 เวลา 10:19 • การศึกษา
ยังคงเป็นประเด็นให้ถกเถียงได้ในทุกปี เมื่อกระแสสังคมมีค่านิยมที่ปลุกคนรุ่นใหม่ให้หันมาเป็นเจ้าของกิจการหรือเริ่มหันหน้าออกจากการศึกษาในระบบมากขึ้น หากวิเคราะห์ผ่านวาทะกรรมประชดประชันเสียดสีของคนในสังคม เราจะพบว่ามีหายประเด็นที่สะท้อนไปยังวิธีคิดและปัญหาของระบบในประเทศไทยมากมาย
1 . ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
อย่างที่เรารู้ๆกันว่า ช่วงเวลาในชีวิตของคนเราสูญเสียเงินและเวลาไปกับการศึกษาในระบบต่อคนเป็นจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย โดยสังคมไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างขาดแคลนและมีความยากจน อีกทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้ความสามารถในการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรในบางครอบครัวไม่ทั่วถึง จึงมีการเสียสละให้พี่หรือน้องบางคนได้เรียน บางคนต้องส่งเสียตัวเองเรียน นั้นก็เพื่อให้ได้มีโอกาสในการทำงานและมีความก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น
เพราะระบบและค่านิยมของสังคมไทยยังคงเปิดโอกาสให้ผู้มีการศึกษามากกว่าได้อยู่หัวแถวในขั้นตอนการรับสมัครพนักงาน
แต่ความเป็นจริงแล้วยังคงมีจำนวนผู้เสมือนว่างงานสูงกว่าระดับ 3 ล้านคนตลอดทั้งปี 2564
2.หรือเพราะวุฒิการศึกษาอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท?
ถึงแม้จะมีประกาศยินดีรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนมากมองหาจริงๆ คือบุคคลที่มองว่าสามารถทำงานได้จริง เป็นส่วนน้อยที่องค์กรจะมีความต้องการรับนักศึกษาจบใหม่ วุฒิการศึกษาคือโอกาสส่วนหนึ่ง แต่ผลงานที่โดดเด่นก็สามารถสร้างโอกาสได้มากกว่า
ยังไม่รวมการแข่งขันในเรื่องของสถาบันการศึกษาที่มีผลต่ออคติขององค์กรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียงของมหาลัย หรือพฤติกรรมรุ่นพี่ที่เคยสร้างประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีให้กับองค์กร เพราะผู้ประกอบการล้วนอยากได้พนักงานที่แน่ใจแล้วว่าจะมาเป็นทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและมีคุณค่าต่อองค์กร
ขอบคุณภาพจาก : jcomp / freepik
3.ระบบการศึกษาไทยมีคุณภาพแค่ไหนในการส่งออกทรัพยากรที่มีคุณค่า?
คงไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีช่องว่างด้านงบประมาณ จำนวนผู้สอน คุณภาพผู้สอน ปัญหาด้านการบริหารจัดการและปัญหาการกระจายอำนาจ
การศึกษาไทยให้ครูอาจารย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ทำให้ความสามารถในการฝึกตั้งคำถามของผู้เรียนลดลง นำมาสู่การเอื้ออำนาจในการริดรอนการแสดงความคิดเห็นและอิสรภาพในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การมีเวลาพัฒนาทักษะด้วยตนเองและสร้างผลงานที่โดดเด่นมีความจำเป็นอย่างมากในการสมัครงาน
หากสำรวจจำนวนหน่วยกิตของผู้เรียนที่เสียไปนั้น พบว่าครึ่งหนึ่งใช้จ่ายไปกับการเรียนวิชาที่ไม่จำเป็นต่อวิชาชีพซึ่งทำให้สมรรถภาพในการจัดสรรเวลาเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพและการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมลดน้อยลง เพราะโดนบังคับเก็บหน่วยกิตให้ครบตามหลักสูตร
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างโดยประชามติของผู้เรียน
แต่มาจากกลุ่มผู้สร้างระบบการศึกษาที่ยึดอำนาจในการออกแบบการเรียนของนักศึกษาไป และไม่ได้สร้างวินัยหรือความใฝ่รู้แก่ผู้เรียนแต่อย่างไร เพราะไม่ได้เกิดจากความอยากรู้โดยอุปนิสัยธรรมชาติของผู้เรียน
1
4.แรงจูงใจที่แตกต่างกันของบุคคลมีผลต่อการศึกษา?
อย่างที่กล่าวในข้างต้นกว่า เมื่อสิ่งใดที่ไม่ได้เกิดจากความอยากรู้โดยอุปนิสัยธรรมชาติของผู้เรียน ย่อมมีแรงเฉื่อยในการเรียนรู้ ในฐานะของการเป็นผู้เรียนที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรมี คือการตั้งคำถามที่ดี ผู้เรียนจะต้องถามตัวเองให้ได้ว่า เราจะเรียนไปเพื่ออะไร?
อย่าให้ใบปริญญาของเราเป็นเพียงค่านิยม
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนที่มีต้นทุนหรือโอกาสในการศึกษายังไม่มาก ในสมัยก่อนคนที่สามารถเรียนจบปริญญาได้น้ันน้อยมาก จึงเป็นค่านิยมที่ทำให้ได้รับความยอมรับจากคนในสังคม
การตั้งเป้าหมายในการเรียนจะนำไปสู่คุณค่าและความพึงพอใจสูงสุดเฉพาะบุคคล
เช่น
- เรียนเพื่อแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงสุดในวิชาชีพ
- เรียนเพื่อสร้างความภูมิใจแก่ตนเองและครอบครัว
- หรือเรียนไปเพื่อการวุฒิการศึกษาไปใช้สมัครงานแลกกับเงินเดือนพื้นฐานที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล
ขอบคุณภาพ ศิลปิน wayhomestudio / freepik
5.เงินเดือน 15,000 เพียงพอแค่ไหนต่อการดำรงชีพ?
หากเราเรียนเพื่อนำวุฒิการศึกษามาสร้างรายได้ เราควรตั้งคำถามว่า รายได้พื้นฐานของวุฒิปริญญาตรี เพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่?
อัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเติมในไทยสูงสุดคือจำนวน 354 บาท ซึ่งหากจบปริญญาตรี จะได้มากกว่า สี่พันกว่าบาท
ซึ่งจัดว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่มากหากเทียบกับรายจ่ายต่อเดือนที่จำเป็น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนที่ต้องแลกกับเงินที่มาจากการทำงานหนัก เวลาที่สูญเสียไป และความตั้งใจทุ่มเท อาจกล่าวได้ว่าผลตอบแทนด้านรายได้ของคนไทยที่เรียนจบปริญญานั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
6.ใบปริญญาในอนาคตยังจำเป็นหรือไม่?
Gen Z อยู่ในยุคที่เข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมหาศาลและรวดเร็ว
มีความชัดเจนในตัวเองสูง Gen Z ส่วนใหญ่มองการเรียนคือการแสวงหาความรู้เพื่อนำความรู้มาใช้มากกว่าความพึงพอใจแอบแฝง
เมื่อสมัยใหม่สามารถมีช่องทางการสร้างรายได้ และอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ขนาดที่ยังไม่มีสถาบันเปิดสอนหรือรองรับได้ทัน
เห็นได้จากการปิดตัวของหลายๆหลักสูตรที่เพิ่มขึ้น และการปรับตัวของสถาบัน เริ่มมีการลดระยะเวลาในการเรียนปริญญาลง ยืดหยุ่นในเวลาเรียนมากขึ้น ปรับหลักสูตรเพื่อแข่งขันกับการเรียนที่มีประสิทธิภาพนอกหลักสูตร
ผู้เรียนในยุคปัจจุบันสามารถมีอิสระในการเรียนมากขึ้น เช่น คอร์สการเปิดสอนของบุคคลที่ประสบความสำเร็จโดยตรงในวิชาชีพต่างๆ ที่สามารถรับความรู้โดยตรงจากมืออาชีพ แล้วนำไปปรับใช้ได้จริง ทำให้บทบาทของอาจารย์ลดน้อยลง แต่บทบาทของผู้เรียนมากขึ้น
บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Google และ Apple เองก็เริ่มรับพนักงานโดยดูจากทักษะและความสามารถที่ทำงานได้ ถึงแม้จะไม่มีใบปริญญาก็ตาม
หรืออย่าง เว็ปไซต์ Masterclass ที่รวมเอาบุคคลสำเร็จชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ผู้กำกับภาพยนตร์ นักธุรกิจ นักการตลาด นักขาย นักเขียน ศิลปิน โดยเป็นที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม หากอยากประกอบอาชีพ แพทย์ เภสัช วิศวกร ทนายความ หรือวิชาชีพที่ต้องได้รับการรับรองโดยสภาต่างๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ จรรยาบรรณและตามหลักกฎหมาย มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการอบรมหรือเรียนจนครบหลักสูตรเพื่อประกอบอาชีพ
ขอบคุณภาพจาพศิลปิน artursafronovvvv / freepik
- หากจะสรุปว่า "ปริญญามีความจำเป็นหรือไม่?"
ในยุคนี้คงไม่มีคำตอบตายตัว เพราะคำว่าจำเป็นของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันไป ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้เรียน ความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา
ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนสำเร็จการศึกษา แต่ไม่ได้ชี้วัดว่ามีมากกว่าผู้ที่ไม่มีใบปริญญา
กล่าวได้ว่าทุกอาชีพ จะมีใบปริญญาหรือไม่มีก็ตาม ต้องมีทักษะในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง มีความอดทน มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบเสมอ
เราทุกคนล้วนต้องเป็นผู้เรียนตลอดชีวิตเสมอ ไม่ว่าจะจบหลักสูตรสูงต่ำใดๆมาก็ตาม เพราะสิ่งนั้นจะสามารถพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้าได้
เราทำได้เพียงฝึกตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ
หาคำตอบ
นำตัวเองไปสู่กระบวนการเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันเสมอ
ขอบคุณข้อมูล
https://www.bot.or.th/.../DocLib_/Article_29Aug2022.pdf
https://www.bu.ac.th/.../executi.../july_dec_15/pdf/aw05.pdf
การศึกษา
การลงทุน
การเมือง
2 บันทึก
1
2
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย