19 ธ.ค. 2022 เวลา 05:04 • ไลฟ์สไตล์
สมุนไพรที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ตามโฆษณา หน้าตาเค้าเป็นยังไงกันบ้าง ?
เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนที่ดูการแข่งขันฟุตบอลผ่านทางทีวี เช่นพวก ละคร มวยหรือรายการวาไรตี้ต่าง ๆ ก็มักจะต้องได้ยินโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังหรือสมุนไพรต่าง ๆ จนติดชินหู
ว่าแต่… เจ้าสมุนไพรที่ได้ยินติดหูเหล่านี้ มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร ? แล้วมีสรรพคุณอะไรที่เด่นกันบ้างนะ ?
วันนี้พวกเรา InfoStory จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกันสักหน่อย 🤓🌿
[ แก่นฝาง (Sappan) ]
แก่นฝาง คือ ฝักของต้นฝาง
ซึ่งต้นฝางเป็นไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน สูง 5-8 เมตร ลำต้นมีหนามโค้งสั้น ๆ ตัวใบเขาจะมีลักษณะเป็นขนนก 2 ชั้น เรียงสลับกัน
เพื่อน ๆ อาจจะเคยเห็นแก่นฝางสีแดงกันผ่าน ๆ ตา กันบ้างเนอะ
แก่นฝาง เขาจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- แก่นไม้จะเป็นสีแดงเข้มเรียกว่า “ฝางเสน”
- แก่นไม้จะเป็นสีเหลืองเรียกว่า “ฝางส้ม”
แต่ที่เรามักจะเห็นแก่นฝางเป็นสีแดง นั่นก็เพราะแก่นฝาง มีส่วนประกอบของวัตถุผลึกที่ไม่มีสี (ชื่อของเขาคือ HAEMATOXYLIN ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10%) ซึ่งไอเจ้าชื่อยาว ๆ นี้ เมื่อมันถูกอากาศจะเริ่มทำให้มีสีแดง (และมีความแทนนินเพิ่มขึ้น) นั่นเอง
สรรพคุณเด่น
- บำรุงโลหิต ช่วยขับประจำเดือน บรรเทาอาการท้องร่วง ขับเสมหะ แก้ร้อนใน
💡 เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
นอกจากใช้ในทางอาหารและเครื่องดื่ม(น้ำฝาง)แล้วเนี่ย แก่นฝางเองยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมผ้าอีกด้วยนะ (สกัดสีและน้ำมันหอมระเหยออกมา)
[ แปะก๊วย (Ginkgo) ]
แปะก๊วย ที่เรามักจะคุ้นตากันก็จะเป็นลูกสีเหลือง ๆ หรือ ลูกแปะก๊วย นั่นเองเนอะ
แต่จริง ๆ แล้วแปะก๊วย เค้าไม่ได้โด่งดังแค่ตัวเมล็ดนะ
เพราะแต่เดิมทีแล้ว ส่วนของใบแปะก๊วย เป็นหนึ่งในยาต้นตำรับสมุนไพรของแพทย์แผนจีนมาตั้งแต่โบราณ
ซึ่งว่ากันว่าต้นแปะก๊วยมีต้นกำเนิดจากทางตะวันออกของประเทศจีน (แถบภูเขาด้านตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้) เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่ผ่านมาโน้นนเลยละนะ ⚕🇨🇳
ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่พระในนิกายเซนของญี่ปุ่นจะนำไปเผยแพร่ไปทั่วทวีปเอเชียในเวลาต่อมาอีกด้วยนะ
สรรพคุณเด่นที่ได้จากใบแปะก๊วย
- บำรุงสมอง ป้องกันอาการอัลไซเมอร์ บำรุงสายตา บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะและหูอื้อ บรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
แต่เม็ดหรือเมล็ดแปะก๊วยเนี่ย ก็จะต้องรับประทานกันให้ดีดีนะคร้าบ
เพราะถึงแม้ว่าว่ามีสรรพคุณเยอะ..แต่ก็อาจมีข้อเสียด้วยเหมือนกัน ถ้าทานมากไปก็อาจเป็นพิษทำให้ปวดศีรษะ ตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ 🤒 (ตัวเมล็ดอย่าลืมนำไปต้มก่อนด้วยละ)
ต้นแปะก๊วย
[ กระชายดำ (Black Galingale) ]
กระชายดำเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นพืชสมุนไพรในวงศ์เดียวกับขิง ข่าและขมิ้น แต่ว่ามีขนาดเล็กกว่า และเติบโตได้ดีในใต้ดิน
ที่เขาเรียกว่า “ดำ” ก็เพราะว่าตัวเนื้อของมันที่มีสีม่วงเข้มออกไปทางดำ (แต่กระชายสีขาวก็มีนะคร้าบ)
 
สรรพคุณเด่น
- กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต, บำรุงกำลัง, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ, ช่วยลดอาการจุกเสียด
(แต่ส่วนใหญ่เราก็จะได้ยินตามโฆษณาก็จะไปทางของช่วยบำรุงกำลังวังชาของคุณผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่เนอะ)
เราเห็นผ่านตาส่วนใหญ่ก็มีการนำกระชายดำไปอัดเม็ดแคปซูลเป็นอาหารเสริมกันบ้าง
แล้วก็นำไปทำเป็นน้ำสมุนไพร(น้ำกระชายดํา) กระชายดําดองน้ำผึ้ง หรือ กระชายดําดองเหล้า ก็มีนะ (แต่พวกเราก็ยังไม่เคยลองเลยเหมือนกัน) 💊
[ คำฝอย (Safflower)🪷 ]
คำฝอยเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เดียวกับทานตะวัน มีความสูง 40-130 เซนติเมตร เท่านั้น
ตัวดอกคำฝอยก็จะมีสีน้ำตาลแดงจนไปถึงแดง
ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ยังพบการบันทึกถึงการนำดอกคำฝอยมาใช้งานเป็นสีผสมอาหารและทำสีย้อมผ้า ซึ่งถูกไว้ในกระดาษปาปิรัสของชาวอียิปต์ในสมัยโบราณเลยละ 📜🇪🇬
ส่วนของตัวดอกเองยังนิยมนำมาต้มเป็นชาร้อนดื่มก็ยังได้ มีรสหวานชื่นใจ 🫖🪷
และนอกจากตัวดอกจะนำมาทำเป็นชาดื่มได้แล้ว
เขาก็ยังนิยมนำทำมาสกัดทำเป็น "น้ำมันดอกคำฝอย" ในกลุ่มของเครื่องสำอางด้วยเหมือนกันนะ
เพราะน้ำมันดอกคำฝอยที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว มีวิตามินซีและอีสูง ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิวที่แห้งดูนุ่มลื่นขึ้น (เห็นว่ามีช่วยลดสิวด้วย แต่อันนี้เราเองก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงเชิงลึกนะคร้าบ)
สรรพคุณเด่น
- ลดไขมันในเส้นเลือด, ช่วยให้หลับสบาย, ขับระดู, บำรุงผิวหนัง
[ กัวรานา (Guarana) ]
สารภาพเลยว่า เราเพิ่งจะเคยรู้จัก(และได้ยิน) ชื่อของสมุนไพรตัวนี้
หาไปหามาก็พบว่า โอโห ! มันก็ป๊อปปูล่าเอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะ
ตอนเสิร์ชดูภาพก็ประหลาดใจ เพราะมันมีลักษณะคล้ายกับดวงตามาก
ด้วยรุปลักษณ์ของมันก็เลยได้มีฉายาว่า “ดวงตากินได้” 👀
เหมือนไหมคร้าบบบ ?
กัวรานา เป็นไม้เลื้อยพันธุ์พื้นเมือง มีต้นกำเนิดในป่าอะแมซอน ประเทศบราซิล 🇧🇷
อาจเรียกได้ว่า เจ้าสมุนไพรตัวนี้เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีสาร “คาเฟอีน”
(ดูจากลักษณะของผลและการที่มีเมล็ดอยู่ในผลเบอร์รี ก็คล้ายกับกาแฟอยู่นะ)
ซึ่งบทความจากเว็ปไซต์ของ healthline ก็ได้ระบุว่า
- เกือบ 70% ของผลกัวรานาได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มชูกำลัง
- ในขณะที่อีก 30% ที่เหลือนำไปทำเป็นผง (คล้าย ๆ กับโปรตีน)
สรรพคุณ
- แก้อาการอ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น, บรรเทาการอักเสบและอาการไมเกรน, ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, กระตุ้นระบบขับถ่าย
(เราว่าคล้าย ๆ กับการดึงผลพลอยได้จากสารคาเฟอีน แต่ว่าเจ้าสมุนไพรตัวนี้มีวิตามินต่าง ๆ ที่เพิ่มมากกว่ากาแฟ)
*ข้อควรระวังกับการกินเจ้าสมุนไพรตัวนี้ คือ กลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์และคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับการนอน โรคความดันสูง 🤰🙅‍♀️
น่ากลัวหรือน่ากินดีนะ ?
[ มะขามป้อม (Indian gooseberry) ]
เราอาจจะเรียกเค้าว่าเป็นทั้งผลไม้และสมุนไพรในเวลาเดียวกัน
มะขามป้อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-12 เมตร มีต้นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
แต่ถ้าเสิร์ชอ่านเรื่องราวของมะขามป้อมเนี่ย ก็จะมีการบันทึกไปในแถบของประเทศอินเดียเสียมากกว่า ซึ่งชาวอินเดียเรียกสมุนไพรหรือผลไม้ชนิดนี้ว่า “Amalaki” หรือ Amla และเปรียบเสมือนกับยาอายุวัฒนะในทางการแพทย์ทางเลือกอายุรเวท (Ayurveda) 🇮🇳
ชาวอินเดียเขาไม่ได้นำแค่ผลมะข้ามป้อมมาใช้งานเพียงอย่างเดียวนะ แต่เค้านำแทบจะทั้งต้นมาเลย ไม่ว่าจะเป็นผล ใบ เปลือกลำต้นและเมล็ด
นอกจากเรื่องราวของชาวอินเดียแล้ว
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า มะขามป้อม ยังเป็นหนึ่งในต้นไม้และไม้มงคลประจำจังหวัดสระแก้วอีกด้วยนะ !
สรรพคุณเด่น
- ดับกระหาย, แก้ไอ, ลดเสมหะ, บำรุงผิวพรรณ, แก้ท้องผูก (มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ)
มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่สุด ในบรรดาผลไม้ทั้งหมด (ว่ากันว่าสูงกว่าส้มอีกนะ!)
พอหอมปากหอมคอกันกับเรื่องราวสั้น ๆ ของสมุนไพรยอดฮิตที่เห็นตามโฆษณาในทีวี
จริง ๆ ต้องสารภาพว่ามีสมุนไพรหลายตัวมาก ที่พวกเราเพิ่งได้ทำความรู้จัก (ไปพร้อม ๆ กับทำภาพและเขียนบทความ) 😊🙏
ถ้าอย่างนั้นพวกเราขอตัวไปชงชาดอกคำฝอยดื่มก่อนดีกว่า ! 🪷🫖
 
(เนื่องจากข้อจำกัดการเขียนในเรื่องของสุขภาพและความงาม พวกเราขออนุญาตไม่พูดถึงคุณสมบัติที่เกี่ยวกับเรื่องของการต่อต้านสารอนุมูลอิสระหรือเขียนไปในเชิงชักจูงเรื่องของความงามโดยเฉพาะเจาะจงนะคร้าบ แต่สมุนไพรหลาย ๆ ตัวที่เลือกหยิบมาให้ชมก็มีคุณสมบัติแบบนี้อยู่หลายตัวเลยละนะ 😉)
ปล. ยินดีกับแฟน ๆ เมสซี่และอาร์เจนตินาด้วยนะคร้าบบ 🇦🇷
ดูจบปั้บก็ต้องรีบเข้าไปดูไลฟ์พี่ฟานต่อเลย 😆
(แต่ท่านประธานเป้เขาก็สุดจริง ๆ นะครับ สนุกมากก)
โฆษณา