19 ธ.ค. 2022 เวลา 07:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
IPOInsight: MOSHI จากสำเพ็งสู่ SET ร้านเบ็ดเตล็ด Top Of Mind
บมจ.โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น (MOSHI) เสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 21 บาท โดยมีระยะเวลาจองซื้อระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค. 65 และพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 22 ธ.ค.65
MOSHI คือใคร ?
MOSHI ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค (สินค้า Lifestyle) ที่มีความหลากหลาย ทันสมัย เน้นคุณภาพ ในราคาที่ย่อมเยาเป็นหลัก ภายใต้ชื่อทางการค้า "Moshi Moshi" โดยเปิดสาขาแรกที่สำเพ็งในปี 59 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันจำหน่ายสินค้าผ่านหลายช่องทาง คือ
1) สาขาของบริษัท ปัจจุบันมีสาขา 101 สาขา ครอบคลุม 41 จังหวัดทั่วประเทศไทย
2) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยม เช่น Shopee ,Lazada
และ 3) ร้าน Pop-up Store ที่จัดขึ้นชั่วคราวบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
*MOSHI กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ
นายสง่า บุญสงเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MOSHI เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า MOSHI เป็นร้านสินค้ากิ๊ฟช้อปที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้า (Let?s us be Part of Everyday Life) โดยชูจุดเด่นในเรื่องคุณภาพ ราคาที่เหมาะสม และการออกแบบทันสมัย
ขณะที่ภาพรวมตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ปัจจุบันมีมูลค่า 3-5 พันล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ยในปี 59-64 ที่ 11.2% ต่อปี สูงกว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกที่โต 1.4% ต่อปี และคาดว่าปี 64-69 ตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์จะโตสูงถึง 20.4% ต่อปี แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกโตเพียง 7.5% ต่อปี
MOSHI กับแผนระดมทุน
-ใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับการขยายสาขา และการลงทุนโครงการในอนาคต 400-450 ล้านบาท
-ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน 55.99-105.99 ล้านบาท
-ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงิน 754.01 ล้านบาท
*MOSHI กับทิศทางในอนาคต
นายสง่า กล่าวถึงแผนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยชู 5 กลยุทธ์รองรับการเติบโตในอนาคตได้แก่
1) การขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยวางแผนเปิดสาขาใหม่ 20 สาขา/ปี และวางเป้าหมายในปี 68 จะมีสาขาเพิ่มเป็น 165 สาขา โดยการขยายสาขาจะยังมีโอกาสเปิดในห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตได้อีกมาก เพราะปัจจุบันโมชิ โมชิ ยังมีสัดส่วนในห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ต เพียง 15.8%
2) การเพิ่มยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) จากการที่มีสินค้าใหม่ ๆ ออกมากว่า 8,000 SKU ต่อปี สินค้าซีซั่น ในช่วงปีใหม่ วาเลนไทน์ Back to School และฮาโลวีน เพื่อให้ลูกค้าหมุนเวียนกลับมา และตื่นตาตื่นใจ รวมถึงการทำสินค้า Collaboration กับศิลปิน ทำให้แฟนคลับศิลปินเข้ามาช้อปปิ้งสินค้าจากศิสปินและสินค้าอื่น ๆ ในร้าน และยังมีการทำกิจกรรมการตลาดต่อเนื่อง
3) การเพิ่มผลกำไรต่อเนื่อง จากกลุ่มสินค้าที่ขายดี บริษัทจะทำมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพ็คเกจเพิ่มมูลค่าสินค้า และออกแบบสินค้า ซึ่งใช้เทคนิคในการการลดต้นทุน ทำให้ราคาสินค้าเท่าเดิม หรือถูกลง เพื่อเพิ่มผลกำไรมากขึ้น
4) การพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้น โดยปี 66 บริษัทวางระบบ Supply Chain และ Membership Program เพื่อให้บริษัทสามารถวิเคราะห์เจาะลึกลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
และ 5) การขยายช่องทางการขายใหม่ ในรูปแบบร้าน Standalone 2 สาขาในปี 66 ในหัวเมืองใหญ่ และหัวเมืองรอง ที่เน้นไปที่ชุมชน โรงเรียน ศูนย์ราชการต่าง ๆ โดยการเปิดร้าน Standalone เป็นการต่อยอดไปถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งบริษัทจะต้องเตรียมความพร้อมให้เหมาะสมในการรับรู้รายได้ กำไร และผลตอบแทนแฟรนไชส์ เพื่อให้มีผลตอบแทนที่ดีกว่าการทำแฟรนไชส์ของร้านอื่น ๆ
"เรามุ่งหวังให้ร้านสแตนด์อโลนของเราต่อยอดไปสู่แฟรนไชส์ เพื่อทำให้ Moshi Moshi ขยายร้านได้รวดเร็ว และลูกค้าเข้าถึงสินค้าเราได้ง่ายดีที่สุด เราต้องการเป็น Top of mind ของลูกค้า เมื่อลูกค้านึกถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ก็ต้องนึกถึงเรา เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้าน ก็จะเป็น One Stop Shopping ของสินค้าไลฟ์สไตล์" นายสง่า กล่าว
โฆษณา