20 ธ.ค. 2022 เวลา 03:44 • กีฬา
#explainer ประเทศไทย เป็นชาติเดียวที่ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ทั้งๆ ที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (20 ธันวาคม 2565) อาจทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนหาทางเถื่อนดูด้วยตัวเอง สำนักข่าว TODAY จะอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 14 ข้อ
1) ศึก AFF Suzuki Cup ที่ไทยเป็นแชมป์สูงสุด 6 สมัย และเป็นแชมป์เก่าเมื่อครั้งที่แล้ว ในปีนี้เปลี่ยนชื่อเป็น AFF Mitsubishi Electric Cup ตามสปอนเซอร์แบรนด์ใหม่ โดยตามกำหนดการ จะเริ่มแข่งนัดแรกวันอังคารที่ 20 ธันวาคมนี้ โดยทีมชาติไทยจะเจอกับบรูไน
ปรากฏว่า 10 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากไทยแล้ว ต่างซื้อลิขสิทธิ์ครบถ้วนตั้งแต่ 1 เดือนก่อนแข่ง มีแต่ไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่ถึงวันนี้บอลจะเริ่มอยู่แล้วก็ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์เสียที
2) ขั้นตอนการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลรายการนี้ ทาง AFF (สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน) ได้จ้างบริษัทเอาต์ซอร์ส ชื่อ สปอร์ตไฟว์ จากประเทศเยอรมนีเป็นคนกลางในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ ปรากฏว่า บริษัท สปอร์ตไฟว์แปลกใจมาก ที่ในไทย ไม่มีคนสนใจซื้อลิขสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ฟุตบอล AFF ได้รับความนิยมสูงมากในไทยมาทุกปี
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2564 สามรายการเรตติ้งสูงสุดในไทย เป็นการแข่งขันฟุตบอล AFF ทั้งสิ้น อันดับ 1 2 3 เรตติ้งเหนือกว่าละครฮิตตอนอวสานเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่า การแข่งขันฟุตบอลอาเซียน ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็การันตียอดคนดูอยู่แล้ว
3) บริษัท สปอร์ตไฟว์ ตั้งราคาไว้ที่ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 76 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อแบบฟูลแพ็คเกจ คนซื้อจะได้สิทธิ์ถ่ายทั้งทัวร์นาเมนต์ 26 นัด
4
โดยคนที่ซื้อลิขสิทธิ์จะเอาไปทำอะไรก็ได้ จะเอาไปฉายทางฟรีทีวี จะเก็บเงินผ่านเคเบิ้ลทีวี หรือ จะเอาไปถ่ายทางระบบ OTT ก็ได้ ขอแค่จ่ายเงินก้อน 76 ล้านบาทมา ก็จะได้รับสิทธิ์ทั้งหมด
4) ตามปกติแล้ว ฟุตบอล AFF มีเอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์เป็นประจำคือ ช่อง 7HD พวกเขาซื้อมาตลอดทุกครั้ง แต่คราวนี้ช่อง 7HD ตัดสินใจไม่เอาด้วย ทำให้ทางบริษัท สปอร์ตไฟว์ ได้ติดต่อหาช่องฟรีทีวีอื่นๆ ที่น่าจะสนใจ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครซื้ออีก เวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ จนไทยกลายเป็นชาติเดียวในอาเซียน ที่ไม่มีคนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด
5) ไม่เพียงแต่ฟรีทีวีเท่านั้น แต่กลุ่มเคเบิ้ลทีวีอย่างทรูวิชั่นส์ และ OTT อย่าง AIS Play ก็ไม่มีใครสนใจเช่นกัน ทั้งๆ ที่ฟุตบอลรายการนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎ Must Have และ Must Carry ดังนั้นเคเบิ้ลทีวี หรือ OTT ก็สามารถซื้อไป แล้วเอาไปทำกำไรได้อย่างอิสระ แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่มีใครคิดจะซื้อ
1
6) สำหรับปัญหาหลัก ที่ทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ไม่เกิดขึ้น ข้อแรกคือ เงื่อนไขของสปอร์ตไฟว์ ที่ต้องการขายแบบครบแพ็คเกจ 26 นัดเท่านั้น ภาคเอกชนจึงมองว่า ไม่คุ้ม เพราะถ้าเป็นเกมอื่นที่ไทย ไม่ได้ลงแข่ง เช่น บรูไน เจอ กัมพูชา ก็คงไม่สามารถขายโฆษณาได้ แต่เมื่อยื่นข้อเสนอขอซื้อแค่ 8 นัด ที่ไทยแข่งอย่างเดียว บริษัท สปอร์ตไฟว์ก็ไม่ขายอีก
1
ในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ถ้าสถานีโทรทัศน์ซื้อลิขสิทธิ์ไป ต้องหาเงินค่าโฆษณาถึง 76 ล้านบาท เพื่อให้คุ้มทุน ซึ่งเมื่อหักลบแล้วโอกาสขาดทุนมีมากกว่ากำไร
1
7) ข้อสอง คือ ฟุตบอลทีมชาติไทยในช่วงหลังไม่ได้นิยมเหมือนก่อน ความนิยมนั้น แปรผันตามฟอร์มการเล่นในสนาม ทีมชาติชุดใหญ่แพ้ไชนีสไทเป ทีมชาติชุดเล็กแพ้ลาว บอลไทยไม่ได้ฟีเวอร์เหมือนเมื่อ 6 ปีก่อนอีกแล้ว
1
ยิ่งบอล AFF ครั้งนี้ ไม่มีซูเปอร์สตาร์หลายคน ทั้งชนาธิป สรงกระสิทธิ์, สุภโชค สารชาติ, ศุภณัฐฏ์ เหมือนตา รวมถึงแทบไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่ไปติดทีมชาติเลยด้วย ทำให้สถานีช่องต่างๆ เกิดความไม่มั่นใจว่า ถ้าซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้วจะเรียกเรตติ้งได้ดีแค่ไหน
8 ) ข้อสาม คือการที่โปรแกรม AFF ครั้งนี้ มาอยู่ใกล้กับฟุตบอลโลก ทำให้งบประมาณการโฆษณาของสินค้าแบรนด์ต่างๆ ลงไปกับฟุตบอลโลกเป็นจำนวนมากแล้ว งบประมาณที่เหลือให้กับฟุตบอล AFF จึงลดลงอีก ทำให้โอกาสได้โฆษณาคุ้มทุนจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
9) จากเหตุผลทั้งหมด ทำให้การซื้อขายจึงยังไม่เกิดขึ้น โดย ณ เวลานี้ ทางสปอร์ตไฟว์ ลดราคาลงมาเหลือ 1.95 ล้านดอลลาร์ หรือ 67 ล้านบาท ถูกลงกว่าเดิม แต่เอกชนก็ยังเงียบอยู่
10) สำหรับทางออกของเรื่องนี้ ถ้าหากคนไทยจะได้ดูฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขันในรายการ AFF ก็ต้องภาวนาให้สถานีโทรทัศน์สักแห่งยอมควักเงินลงทุน ซึ่งล่าสุดก็ยังไม่มี หรือมีสินค้าใจดี ยอมควักเงินตัวเอง แบบที่แอโร่ซอฟท์ จ่ายเงิน 300 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรให้คนไทยเมื่อปีที่แล้ว เป็นต้น
แต่ถ้าสองกรณีดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ก็ต้องมีคนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมาคอยประสานให้ เหมือนกับที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ช่วยเป็นคนกลาง หางบ 1,180 ล้านบาท มาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ที่เพิ่งจบลงไป
11) ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. เคยให้สัมภาษณ์กับ FM 99 ว่าในศึกชิงแชมป์อาเซียนนั้น อาจมีแผน ที่จะซื้อทั้งหมดแค่ 8 เกมที่ไทยลงเตะ โดยคาดว่าราคาจะลดลงเหลือแค่ 20 ล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัท สปอร์ตไฟว์ยังไม่รับข้อเสนอนี้ แต่ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระบุว่า "เรื่องของธุรกิจอะไรก็เกิดขึ้นได้"
12) สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ของฟุตบอลทีมชาติไทย เป็นประเด็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์ว่า ภาคเอกชนจะซื้อหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรม เพราะเขาต้องดูความคุ้มค่ากับการลงทุน
ขณะที่ภาครัฐ เช่นกกท. ก็ควรจะตอบคำถามว่า ทำไมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ไม่มีทีมชาติไทยลงแข่งขันด้วย ถึงผลักดันอย่างเต็มที่ ถึงขั้นไปของบประมาณจากกสทช. ให้มาช่วยซื้อ ในขณะที่ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน แม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าฟุตบอลโลก แต่ก็เป็นรายการที่นักกีฬาไทยลงแข่งขันโดยตรง ดูจะสมเหตุสมผลกว่าในการของบประมาณ
1
13) อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์ ก็มีบางกระแสที่เห็นว่า กกท. ไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาอะไรอีกแล้ว และควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ถ้าหากการแข่งขันนั้น มีแนวโน้มว่าจะทำกำไรได้ เดี๋ยวก็มีภาคเอกชนมาซื้อเอง คล้ายๆ กับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่มีสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ต่อคิวซื้อลิขสิทธิ์ทุกรายการที่ลงเล่น
14) บทสรุปของเรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าประเทศไทย จะเป็นชาติเดียวในอาเซียนหรือไม่ ที่ไม่มีถ่ายฟุตบอลรายการ AFF หรือว่าจะมีภาครัฐ หรือเอกชน เข้ามาซื้อบอลไทย ให้คนไทยได้ดูในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งถ้าไม่มีอาจเกิดปรากฏการณ์ดูบอลเถื่อนตามช่องทางต่างๆ ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์
รวมถึงคำถามที่น่าสนใจก็คือ ขนาดฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ที่ปกติเรตติ้งดีมาตลอด ปีที่แล้วก็เรตติ้งอันดับหนึ่งของประเทศ แต่คราวนี้ถึงขนาดไม่มีคนคิดจะซื้อลิขสิทธิ์ หรือมันสะท้อนให้เห็นว่าฟุตบอลไทยเสื่อมความนิยมลงจากเดิมแล้วจริงๆ
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา