22 ธ.ค. 2022 เวลา 04:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ตามรอยบทเพลง ”ฤดูร้อน” ตอนที่5
สมัยที่ทำอัลบั้ม Summer อยู่นั้น เป็นการเก็บรวบรวม Demo มานานแล้ว ไม่ได้ตั้งเป็น Concept แล้วเริ่มแต่งเพลงแต่อย่างใด จริง ๆ วิธีการแบบนี้ก็เป็นเทคนิคส่วนตัวของผมนะครับ คือ ”เก็บตุนเพลงเอาไว้เรื่อย ๆ “
4
ไปซ้อมวงกัน แล้วก็อัดเทปใส่ตลับ จะพกซาวด์อะเบาท์อันเล็ก ๆ ไปด้วย (วัยรุ่นยุคนั้นพกกันติดกระเป๋าแทบทุกคน) เวลาจะซ้อมก็จะอัดไว้ฟังเล่น ไม่ก็อัด Demo เพลงใหม่แต่งกันมั่ว ๆ กลางอากาศ เผื่อมีเพลงที่น่าสนใจเอาไปพัฒนาต่อ
แต่ส่วนใหญ่หลัก ๆ ก็คือ การอัดไว้ เผื่อเอามาฟังเล่น ๆ กลับบ้านไปก็ทำการ Copy ใส่ตลับเทป ทำปกเขียนชื่อเพลงรายละเอียดต่าง ๆ แล้วก็แจกจ่ายให้เพื่อน ๆคนละม้วน เอาเทปที่ใช้แล้วมาอัดทับ สมัยก่อนเทปผีเพลงฝรั่งจะม้วนละ 50 บาท , 3 ม้วน 100 บาท ก็ซื้อมาทดลองฟัง ไม่เพราะก็เอามาอัดทับแจกเพื่อนนี่แหละ
:)
ที่จะเล่าก็คือ วิธีการทำเพลงสมัยนั้น ใช้การเก็บตุนเพลงไปเรื่อย ๆ มากกว่า แล้วพอถึงเวลา ค่ายมีแผนจะให้ออกอัลบั้ม ก็ค่อยโกยเพลงที่มีอยู่ทั้งหมดในช่วงนั้น เอามาใส่ในอัลบั้ม ซึ่งส่วนใหญ่เพลงมักจะขาด จึงมีการแต่งเพลงเพิ่ม เพลงแปลก ๆ จะมาเพิ่มเอาในช่วงอัดเสียงนี่แหละ ประมาณ 2 - 3 เพลง (แต่เพลงวงผม ใส่เพลงค่อนข้างเยอะ อัลบั้มละเกิน 10 ) สรุปก็คือ เพลงในแต่ละอัลบั้ม เป็นเพลงที่แต่งในช่วงชีวิตตอนนั้น
2
สถานที่ที่ใช้ในการเก็บตัวแต่งเพลงของผมสมัยนั้น คือ บ้านที่สัตหีบ เหมือนเคยเล่าไปแล้วในบทความเก่า ๆ ช่วงเวลาบ่าย ๆ บ่าย 2 บ่าย 3 จะเป็นช่วงที่มีสมาธิ เอากีตาร์โปร่งมาดีดแล้วก็ทบทวนเพลงที่อัด อัดไว้ในห้องซ้อมเอามาเปิดฟังนอนเกากีตาร์ไปเรื่อยเปื่อย เดี๋ยวจะมีไอเดียบางอย่างจุติขึ้นมา
เคล็ดลับส่วนตัวของผม ถ้าเมื่อไหร่เกิดไอเดียคิดเรื่องราวที่จะพูดในเพลงได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปครึ่งทางแล้ว ผมเรียกอาการนี้ว่า”เจอหัวใจเพลง” แต่การจะเจอนั้นค่อนข้างยาก ไม่มีสูตรตายตัว เหมือนคนทรงเฝ้ารอให้ผีเข้า รู้แค่ว่า พยายามวนเวียนอยู่กับเพลงนั้นเรื่อย ๆ
2
จริง ๆ แล้วระหว่างทางกลับบ้าน ระหว่างที่นั่งรถทัวร์กลับสัตหีบ ผมก็จะเปิดซาวด์อะเบ้าท์ มองวิวไปนอกหน้าต่างไกล ๆ แล้วจินตนาการคิดเนื้อเพลงและเรื่องราวไปด้วย แต่เหมือนฟังแบบเพลิดเพลินมากกว่า ไม่ได้เอาจริง ถ้าจะเอาจริง แบบจริง ๆ นั้น จะตั้งสติ ปรบมือหนึ่งที นึกในใจว่า “เอาล่ะ เอาจริงแล้วนะ”
แล้วก็หมกมุ่นกับเพลงนั้นแบบจริงจัง อะไรประมาณนี้ แล้วพอคลำทางได้ มีติ่งของไอเดียผุดขึ้นมานิด ๆ ก็จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งถ้าเพลงไหนเกิดไอเดียปิ๊งขึ้นมาแบบ ”ว้าววว~ คิดได้ไงเนี่ย!!!” หัวใจมันจะพองโต คึกคัก ไฟลุกพรึบขึ้นมาทันที รู้สึกสนุกก็ช่วงนี้แหละ
แต่ช่วงที่ยากที่สุดและไม่สนุกเลย ก็คือ ช่วงหาไอเดีย ย้อนกลับไปเข้าเรื่องเดิมนะครับ การค้นหาหนังสือการ์ตูนในช่วงนั้น เน้นที่การ์ตูนผู้หญิง เป็นอีกวิธีที่พยายามเอาไว้จุดไฟให้กับตัวเอง
เท่าที่นึกออก เอาเข้าจริงแล้ว ประโยชน์ของการหาบทกวีในหนังสือการ์ตูนนั้นน้อยมาก ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไรได้เลย ดีอยู่อย่างเดียว คือกระตุ้นไฟความอยากแต่งเพลงมากขึ้น(อารมณ์คล้าย ๆ ซื้อรองเท้าวิ่งมาใหม่ ก็เลยอยากออกไปวิ่ง ประมาณนั้น) ส่วนไอเดียนั้นเอาไปใช้ไม่ค่อยได้ เพราะเนื้อเพลงในการ์ตูนญี่ปุ่นมักจับต้องไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เรียบ ๆ จืด ๆ
.
.
กำลังจะเข้าเรื่องอยู่แล้วเชียว เกิดปวดตาอีกแล้วครับ
.
.
ขอพักก่อน โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ …
3
โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม
ของพี่ต้า Paradox และ วง Paradox ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา