22 ธ.ค. 2022 เวลา 07:00 • ธุรกิจ
เฮ! เติมน้ำมันได้ลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน 2566” ยาว 46 วัน
“ช้อปดีมีคืน 2566” กระตุ้นท่องเที่ยว พิเศษปีนี้กรมสรรพากร ยอมรับเปิดให้นำค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย เช็ครายละเอียดเงื่อนไขทั้งหมด รวมไว้ครบที่นี่
“ช้อปดีมีคืน 2566” หนึ่งในมาตรการของขวัญปีใหม่ จากกระทรวงการคลัง ซึ่งล่าสุดมาตรการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา
มาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2566” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
รายละเอียดของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ได้กำหนดสินค้าและบริการที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้พิเศษกว่าทุกปี โดยในรอบนี้ได้เปิดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายใน "เติมน้ำมัน" มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วย
2
โดย นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า การเปิดให้นำค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันมาลดหย่อนภาษีได้นั้น เพราะต้องการบรรเทาภาระของประชาชนเรื่องของภาวะราคาน้ำมันแพง และยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว
สินค้าที่มีส่วนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือสินค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมาตรการนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษี 6,288 ล้านบาท
1
สำหรับเงื่อนไขของการนำค่าใช้จ่าย "เติมน้ำมัน" มาลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” มีดังนี้
* เป็นค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
* สถานีบริการน้ำมัน ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และออกใบกำกับภาษีได้
เงื่อนไขของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กำหนดไว้ดังนี้
* ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
* ค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
* ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ระยะเวลา
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 46 วัน
วงเงินการใช้จ่าย
ซื้อสินค้าและบริการสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย แบ่งเป็น
1. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
2. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน (1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ มีดังนี้
ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
ค่าซื้อยาสูบ
ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
ค่าบริการจัดนำเที่ยว
ค่าที่พักในโรงแรม
ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว (ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 แม้จะจ่ายค่าบริการในช่วงระยะเวลามาตรการ)
ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
1
โฆษณา