22 ธ.ค. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา ปลากระป๋องไฮคิว เกิดเพราะ โรซ่า ล้มละลาย
หลายคนน่าจะชอบกินซอสมะเขือเทศ หรือปลากระป๋องตรา โรซ่า
แต่รู้ไหมว่า โรซ่า เคยล้มละลาย และตระกูลเจ้าของก็มาทำแบรนด์ใหม่ ซึ่งก็คือ ไฮคิว
โดยในเวลาต่อมา ไฮคิว ก็ไปซื้อแบรนด์ โรซ่า กลับมาใหม่..
2
เรื่องราวตอนนั้น เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเคสนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
1
ในตอนแรก แบรนด์ที่กำเนิดก่อน คือ โรซ่า เริ่มต้นธุรกิจโดยพี่น้องตระกูลวังพัฒนมงคล ในช่วงปี 2516
โดยดำเนินการภายใต้ บริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด
โรซ่า เริ่มจากธุรกิจซอสมะเขือเทศ
แต่เนื่องจากมะเขือเทศนั้น จะออกผลมากในฤดูหนาว ทำให้บริษัทต้องซื้อเครื่องคั้นน้ำมะเขือเทศแบบพิเศษมา เพื่อคั้นน้ำมะเขือเทศเข้มข้น เก็บไว้ใช้ในการผลิตตลอดปี
ทำให้ในบางครั้งบริษัทสามารถผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้น ได้เกินปริมาณความต้องการ
และเมื่อบริษัทต้องการนำน้ำมะเขือเทศเข้มข้น ที่ผลิตเกินมาได้ไปขายต่อ ก็ไม่มีคนซื้อ
พอเป็นแบบนี้ บริษัทเลยเปิดโรงงานทำปลาประป๋องเป็นของตัวเองไปเลย
เพื่อรับซื้อซอสมะเขือเทศที่ผลิตเกิน นำมาแปรรูปทำปลากระป๋อง ภายใต้แบรนด์ปลากระป๋อง โรซ่า
2
ธุรกิจของ โรซ่า กำลังไปได้สวย แต่ดันมาสะดุด เพราะประสบปัญหาการบริหารสภาพคล่องผิดพลาด ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามกำหนด
จนถึงขั้นต้องยื่นล้มละลาย ในปี 2529
โดยช่วงที่ โรซ่า ล้มละลาย ทรัพย์สินจำพวกเครื่องจักร และโรงงาน ถูกสถาบันการเงินยึดไปขายทอดตลาด
1
ส่วนตัวแบรนด์ โรซ่า ถูกนำไปให้ พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง (เจ้าของปลาเส้น ตราทาโร) เช่าไปทำตลาด ในระหว่างที่กระบวนการฟ้องร้องล้มละลายยังอยู่ในชั้นศาล
1
และเรื่องราวตรงนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ปลากระป๋อง ไฮคิว”
เมื่อคุณประมิตร วังพัฒนมงคล ลูกชายคนโตของตระกูล ไม่อยากทิ้งความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มีเกี่ยวกับการทำซอส และปลากระป๋อง
1
เขาจึงตัดสินใจชวนเพื่อน ๆ และน้องคนเล็ก มาเปิดแบรนด์ปลากระป๋องใหม่ ชื่อ ไฮคิว
1
ไฮคิว มีชื่อเสียงขึ้นมา จากการเปลี่ยนกระป๋องแบบต้องใช้มีดเปิดฝา มาเป็นฝาแบบมีหูเปิด และทำให้แบรนด์ปลากระป๋องไฮคิว กลายเป็นที่ยอมรับในเวลาต่อมา
2
10 ปี หลังจาก โรซ่า ล้มละลาย ในปี 2539 คดีฟ้องล้มละลายก็สิ้นสุดลง
1
โดยศาลมีคำสั่งให้เอาแบรนด์ โรซ่า ขายทอดตลาด
ประจวบเหมาะกับในตอนนั้น ตระกูลวังพัฒนมงคล ที่มาทำปลากระป๋องไฮคิวจนมีเงินมากพอ ก็ไปประมูลซื้อ แบรนด์โรซ่า กลับมาอยู่ในมือได้อีกครั้ง
1
ซึ่งมันก็เลยทำให้ในวันนี้ บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
มีแบรนด์หลัก ๆ ในเครือด้วยกันสองแบรนด์ คือ โรซ่า และ ไฮคิว นั่นเอง..
โดยในปี 2564 บริษัท ไฮ คิว ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
มีรายได้ 4,306 ล้านบาท
กำไร 472 ล้านบาท
เป็นอันสรุปสั้น ๆ ว่า ไฮคิว เกิดเพราะ เจ้าของเคยทำ โรซ่า มาก่อน แล้วล้มละลาย
1
แต่เรื่องนี้ ก็จบแบบแฮปปี
เพราะสุดท้าย โรซ่า ก็กลับมาอยู่ในมือของคนที่สร้างมันขึ้นมา เหมือนเดิม..
โฆษณา