23 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
เพราะความรู้สึกตัวเองนั้นสำคัญ 4 ขั้นตอนฟื้นฟูจิตใจ เมื่อถูกละเลยความรู้สึก
มีใครที่กำลังคิดว่าความรู้สึกของตัวเราเองเป็นเรื่อง “ไม่สำคัญ” บ้าง?
เมื่อคุณมีความคิดหรือความรู้สึกต่อเรื่องบางเรื่องในชีวิต แต่ก็เลือกที่จะเก็บเอาไว้ แสดงออกอย่างเกรงใจ หรือเลือกที่จะโกหกว่าคุณไม่เป็นอะไรไปเสียทุกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนอ่อนไหว
การที่เราละเลยความรู้สึกของตัวเองแบบนี้ อาจมีสาเหตุมาจาก “การถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็ก” หรือ Childhood Emotional Neglect ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดทางความคิดและความรู้สึกเมื่อเราเติบโตขึ้น แต่อย่าเพิ่งกังวลไป มาทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และวิธีฟื้นฟูให้กลับมาเห็นคุณค่าของความรู้สึกที่แท้จริงได้อีกครั้ง
1
การถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็กคืออะไร?
1
การถูกทอดทิ้งทางอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ละเลยความรู้สึกและขาดการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของเด็ก หรือแย่กว่านั้นคือ ‘เลือก’ ที่จะไม่ตอบสนองต่อความต้องการนั้น เช่น ไม่สอบถามหรือแสดงความใส่ใจต่อความรู้สึกของลูก
เมื่อถูกเพิกเฉยจากครอบครัวแล้ว เด็กจะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และเข้าใจว่าความต้องการของพวกเขานั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ หรือไม่ควรร้องขอความช่วยเหลืออีก เพราะความต้องการหรืออารมณ์ที่อ่อนไหวนั้นแสดงถึง ‘ความอ่อนแอ’
เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ความเชื่อที่เกิดจากการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์เหล่านี้อาจติดอยู่ในรูปแบบของ ‘ความรู้สึกผิด’ ทำให้บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะโกรธ ไม่ไว้ใจตัวเอง หรือรู้สึกขาดความมั่นใจอยู่ภายในจิตใจ จนอาจส่งผลให้เกิดเรื่องผิดพลาดในชีวิตได้
‘ความผิดพลาด’ ระหว่างชีวิตการเติบโต
ความผิดพลาดในที่นี้ ไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดกับใคร แต่เป็นตัวของเราเอง หากคุณดำเนินชีวิตต่อด้วยความรู้สึกไม่สำคัญโดยไม่รู้ตัวแล้ว มันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวคิดที่คุณมีต่อตัวเอง รวมถึงการตัดสินใจและการกระทำของคุณด้วย
6 ความผิดพลาดทางความคิดที่เกิดจากการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์
[ ] คุณตีตราตัวเองว่าเป็นผู้มีข้อบกพร่อง
คุณรู้สึกว่าคนรอบตัวมีอะไรบางอย่างที่คุณไม่มีอยู่เสมอ หรือรู้สึกไม่เข้าใจความรู้สึกหลงใหล สนุกสนาน หรือมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งนี้จะทำให้คุณวางตัวห่างเหินกับคนอื่น เพราะไม่ต้องการให้ใครเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง
[ ] คุณไม่กล้าเผชิญความเสี่ยง
เมื่อคุณขาดการเชื่อมต่อกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองแล้ว คุณอาจไม่รับรู้ถึงความชอบ ความสนใจ หรืองานอดิเรกที่มีความหมายต่อตัวเอง และรู้สึกว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั้นน่ากลัวมากกว่าน่าตื่นเต้น ส่งผลให้ขาดทักษะการตัดสินใจ และเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจในสัญชาตญาณตัวเอง
1
[ ] คุณคอยรองรับอารมณ์ของผู้อื่น
การปฏิเสธที่จะฟังความรู้สึกของตัวเองทำให้คุณเลือกที่จะใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่นแทน และคอยปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไปตามความต้องการนั้น จนทำให้ไม่มีเวลาสังเกตตัวเองว่าคุณรู้สึกอย่างไร หรือต้องการอะไรจริงๆ
[ ] คุณบังคับให้ตัวเองไม่มีความต้องการ
เมื่อคุณเรียนรู้ว่าการร้องขอเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ คุณจึงบังคับให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ต้องการสิ่งใด และถึงต้องการ ก็ควรทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้คุณเก็บกดความรู้สึก แม้ในเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือก็ตาม
[ ] คุณคิดว่าอารมณ์ของตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น
เพราะคุณมองว่าความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ จึงคิดว่าคนอื่นก็คงเห็นว่ามันเป็นภาระด้วยเช่นกัน ทำให้คุณแน่ใจว่าคนอื่นจะปฏิเสธและไม่สามารถช่วยจัดการกับอารมณ์ของคุณได้ เลยเลือกที่จะไม่แสดงอารมณ์และความต้องการ จนจมอยู่กับความรู้สึกโดดเดี่ยวในท้ายที่สุด
[ ] คุณไม่พูดความจริง
ไม่ว่าชีวิตจะต้องพบเจอกับช่วงเวลาที่น่าอึดอัดเพียงใด การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ถูกละเลยทางอารมณ์ส่งผลให้คุณเลือกที่จะโกหกว่าตัวเองสบายดี ไม่ได้รู้สึกโกรธ เจ็บปวด หรือเสียใจ ทำให้คุณปิดโอกาสให้คนอื่นได้รู้จัก และเรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของคุณมากขึ้น
แม้ว่าความผิดพลาดทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ แต่อย่าลืมว่าการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็กไม่ใช่ความผิดของคุณ และคุณสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างพื้นฐานทางอารมณ์ และวิธีการแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองได้เสมอ แค่คุณกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างจริงจัง
4 ขั้นตอน ฟื้นฟูตัวเองจากการถูกทอดทิ้งทางอารมณ์
1. ทำความรู้จักและยอมรับตัวเอง
ก่อนอื่น ให้คุณลองทำความรู้จักว่าตัวตนที่แท้จริงของคุณคือใคร มีอารมณ์และความรู้สึกในรูปแบบใดบ้าง เพื่อที่จะเข้าใจว่าการเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด และความต้องการของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้เช่นกัน
2. ยอมรับว่าความรู้สึกของเราสำคัญเท่ากับผู้อื่น
การไม่ด้อยค่าความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง จะส่งผลให้คุณเห็นความสำคัญของตัวเองเหมือนอย่างที่คุณคอยใส่ใจคนรอบตัวอยู่เสมอ ลองบอกความต้องการกับคนที่ไว้ใจ หรือลองเป็นฝ่ายแชร์ความรู้สึกของคุณออกมาบ้าง
3. แสดงความต้องการของคุณ
คุณต้องเรียนรู้ว่าการแสดงความต้องการเป็นเรื่องปกติ และเป็นการโต้ตอบระหว่างมนุษย์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หากคุณแสดงความต้องการของตัวเองอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา คนรอบตัวของคุณก็จะสามารถรับรู้ถึงบุคลิกของคุณ และเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้อย่างเหมาะสม
4. ฝึกการผ่อนคลายตัวเอง
หากคุณเคยผ่านสภาพแวดล้อมที่ถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ในวัยเด็กมาแล้ว คุณอาจไม่เคยรู้จักการปลอบประโลมตัวเอง แต่การผ่อนคลายจากความรู้สึกผิดจากการถูกละเลยทางอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ เพราะบางครั้งตัวเราก็อาจมีช่วงเวลาที่ยากจะยอมรับได้ แต่ถ้าคุณฝึกให้จิตใจผ่อนคลายลง ก็จะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน
ความรู้สึกของเรา สำคัญสำหรับตัวเราเองเสมอ
ความรู้สึกภายในจิตใจจะนำทางคุณไปตลอดชีวิต มันสามารถปกป้อง กระตุ้น และเชื่อมโยงกับตัวตนของคุณอยู่เสมอ เมื่อคุณรับรู้ถึงความผิดพลาดระหว่างการเติบโตนั้น แล้วเลือกที่จะยอมรับและเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ก็จะทำให้คุณมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง
- Childhood Emotional Neglect Causes These 6 Lifelong Mistakes : Jonice Webb Ph.D., Psychology Today : https://bit.ly/3P72VVO
- 4 Ways to Begin to Recover from Childhood Emotional Neglect : Andre Sólo, Psychology Today : https://bit.ly/3HyrOrV
#inspiration
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา