24 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📊 จริงหรือเปล่า? ที่หลายๆ คนพูดกันว่าสตาร์ทอัพไทยกำลังเติบโตขึ้น
3
จากเดิมที่เราไม่เคยมียูนิคอร์นสัญชาติไทยเกิดขึ้นมาให้เห็นกันเลยสักราย แต่ในตอนนี้กลับเริ่มมีหลายรายที่ค่อยๆ ปรากฏออกมาสยายปีกให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่รวมถึงเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่ยังคงมีความน่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก แต่แค่นั้นคงไม่พอ เพราะสิ่งหนึ่งที่จะช่วยตอบคำถามได้ว่า สตาร์ทอัพไทยเติบโตขึ้นจริงไหม นั่นก็คือตัวเลข ‘มูลค่าการลงทุน’
3
เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการชี้วัดการเติบโตของระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย โดยเราได้ยกเอาตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี (ในช่วงปี 2017 – 2021) เพื่อให้ได้เห็นภาพรวม พร้อมกับสรุปเหตุการณ์สำคัญมาให้ทุกคนได้ศึกษากัน ดังนี้
ก่อนอื่นขอเกริ่นกลับไปยังช่วงปี 2016 กันก่อนสักนิด เพราะว่าภายในปีนั้นประเทศไทยได้มีการจัดงาน ‘Startup Thailand 2016’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยค่อยๆ เริ่มฉายแวว จนในปี 2017 เป็นปีที่อุตสาหกรรม E - Commerce, FinTech, Logistics, Payment และ Food and Restaurant มีมูลค่าการลงทุนไปกว่า 113.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
พร้อมกับได้เปิดเผยข้อมูลว่าภายในปีนี้เองได้มีการระดมทุนจากดีลของ aCommerce ในรอบ Series B ที่เพียงดีลเดียวแต่กลับได้รับเงินไปสูงถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเป็นยอดรวมการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญในปีนี้ กรุงเทพฯ ยังได้ถูกจัดอันดับให้เป็น ‘เมืองที่ดีที่สุดสำหรับชาวสตาร์ทอัพในเอเชีย’ และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก จัดอันดับโดย PeoplePerHour ซึ่งใช้เกณฑ์วัดจากค่าครองชีพ ค่าเช่า เงินเดือน และประเทศที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจ
1
ต่อมาหลังจากนั้นจักรวาลสตาร์ทอัพไทยก็ได้เริ่มค่อยๆ ขยายตัวอย่างมีสีสัน โดยในปี 2018 เราก็ได้รับข่าวดีว่าตอนนี้มีจำนวนสตาร์ทอัพสะสมตั้งแต่ปี 2016 – 2018 ทั้งหมดถึง 1,500 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่นับเฉพาะกลุ่มมีศักยภาพและเกิดการดำเนินธุรกิจขึ้นจริง แต่เมื่อกลับมาดูที่เม็ดเงินการลงทุนจะเห็นว่ามีมูลค่าลดลงจนเหลือเพียง 75.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่เงินทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่ทุนตัวเองเป็นหลัก แถมยังกระจุกตัวอยู่ที่สตาร์ทอัพในกลุ่ม Growth Stage เช่น FinTech และ Lifestyle เท่านั้น
1
แต่ทว่าความหวังของเราก็ยังไม่ถูกดับ เพราะในปี 2019 ได้เริ่มมีสัญญาณความสนใจจากนักลงทุนที่ดูร้อนแรงมากขึ้น ทำให้มูลค่าการลงทุนของปีนี้ขยับไปถึง 120.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเด็นความน่าสนใจอยู่ที่การลงทุนรอบ Series C ของ Pomelo ที่จบดีลไปอย่างสวยงามด้วยมูลค่า 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นเหมือนประกายความฝันที่ช่วยยืนยันกับเราว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยยังมีความพร้อมที่จะเติบโตไปได้อีกขั้น
จนกระทั่งปลายปี 2019 ที่อยู่ๆ ก็เกิดบททดสอบครั้งสำคัญเพื่อพิสูจน์ความเข้มแข็งของวงการสตาร์ทอัพไทย กับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ส่งผลกระทบไปยังภาพรวมของมูลค่าการลงทุนในปี 2020 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, Event และ Real Estate ที่พากันหยุดชะงัก ชะลอตัวจนบางที่ถึงกลับต้อง Layoff พนักงานเพื่อเป็นการลดต้นทุน
1
ซึ่งในสถานการณ์บีบคั้นแบบนี้ กลับกลายเป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องรีบปรับตัว โดยกุญแจดอกสำคัญที่ใครจับได้เร็วก็ยิ่งมีโอกาสรอดนั้นก็คือ ‘การใช้เทคโนโลยี’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าและบริการ
ส่งผลให้สตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทสำคัญในการหาวิธีสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล และแน่นอนว่าดาวเด่นในครั้งนี้ตกเป็นของธุรกิจ Online Service ต่างๆ ที่เริ่มกลายมาเป็นช่องทางหลักในการจับจ่ายใช้สอย ภาพรวมการลงทุนจึงถูกเทไปยังกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีส่วนผลักดัน E - Commerce, Logistic และ FinTech ทำให้มูลค่าการลงทุนภายในปีนี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปถึง 376.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2020 ก็ตกเป็นของ Flash Express ซึ่งปิดดีลไปได้ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยการลงทุนในกลุ่ม Fintech อีก 3 ราย (SYNQA, Lightnet, Finnomina) ที่สามารถระดมเงินรวมสูงถึง 121.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นสัญญาณสำคัญว่า ‘ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าใกล้การกำเนิดยูนิคอร์นแล้วนั่นเอง’
และแล้วในปี 2021 ที่เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า นี่คือปีทองของสตาร์ทอัพไทย! ที่แม้ว่ามูลค่าการลงทุนโดยรวมจะดูทรงตัวอยู่ที่ 310.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เหล่าสตาร์ทอัพไทยทั้งหลายยังคงเปี่ยมไปด้วยความหวัง เพราะว่าภายในปีนี้เพียงปีเดียว ประเทศไทยได้ให้กำเนิดยูนิคอร์นออกมาโผบินถึง 2 ตัวด้วยกัน โดยเริ่มจากรายแรก ‘Flash Express ที่ผงาดขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย’ ที่สามารถปิดดีลทุนรอบ Series D+ และ E ไปได้สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
ต่อมาไม่นานในเดือนกันยายน Ascend Money จากกลุ่ม Fintech ก็สามารถระดุมทุน Series C ด้วยมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงได้ขึ้นแท่นมาเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสร้างความหวังให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ ที่จะเติบโตเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในประเทศ
1
โดยทั้งหมดที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงแค่สรุปเหตุการณ์สำคัญซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น หากทุกคนได้ติดตามก็พอจะทราบว่าในปี 2022 นี้จักรวาลสตาร์ทอัพไทยยังคงเดินหน้าต่อ และได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ LINE MAN Wongnai ได้ก้าวขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นตัวล่าสุดของไทยหลังจากที่เป็นตัวเต็งมานาน
และยังมี Multiverse Expert ที่กำลังขึ้นแท่นจะเป็นยูนิคอร์นตัวถัดไปจากการได้รับเงินลงทุนจาก Power - All Networks บริษัทลูกของ Foxconn เตรียมขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวแรกแห่งวงการ Metaverse ที่จะช่วยสร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ในการแข่งขันให้กับประเทศ จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยนั้น ยังคงมีความตื่นเต้นและความท้าทายอีกมากมายที่ต้องคอยติดตามกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น NIA จะเกาะติดสถานการณ์และรายงานให้ทราบกันอย่างแน่นอน!
1
ดูข้อมูลสรุปเกี่ยวกับระบบนิเวศนวัตกรรมไทยเพิ่มเติมได้ที่ Startup Guide Thailand
#NIA #NIAFocalFacilitator #เชื่อมไทยสู่โลกแห่งนวัตกรรม #Startup #ThaiStartup #Investment #ลงทุน
โฆษณา