25 ธ.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
สรุปแนวคิด ผู้บริหาร FORTH ทำไมถึงทำ ตู้เต่าบิน
หลายคนคงรู้จักตู้เต่าบิน ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่ช่วงพีก ๆ นั้น ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จนคิวต่อแถวหน้าตู้ยาวเหยียด
วันนี้เราจะมาดูกันว่า คุณพงษ์ชัย อมตานนท์
ผู้บริหาร FORTH ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นและพัฒนาตู้เต่าบิน เขาคิดอย่างไร ทำไมถึงทำตู้เต่าบิน
BrandCase จะสรุปเรื่องนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ หรือ คุณเต่า ปัจจุบันเป็นผู้บริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH
ซึ่ง FORTH ก็คือบริษัทที่พัฒนาตู้เต่าบินขึ้นมา
เขาบอกว่า จุดเริ่มต้นของการลงทุนในธุรกิจตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ
คือ ต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้ จากธุรกิจหลักของบริษัทคือ การผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
คุณเต่า มองว่า ด้วยความที่ธุรกิจเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแทบทุกวัน ดังนั้นธุรกิจนี้จึงต้องวิจัย พัฒนา และอัปเกรดเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
จุดนี้เองจะต่างจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่า เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่คนก็ยังจำเป็นต้องดื่มต้องกินอยู่ดี
ทำให้เขามีแนวคิดที่จะเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าว เพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
และธุรกิจ ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ก็คือคำตอบของเรื่องนี้..
1
จุดเปลี่ยนอีกครั้ง เกิดขึ้นเมื่อมีวิกฤติโรคระบาด
ทำให้คุณเต่า มองหา ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือ Vending machine จากต่างประเทศ มาทดลองตลาด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนซื้อและคนขาย
1
แต่ปัญหาของตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่นำเข้าจากต่างประเทศคือ ถ้าเสียแล้วต้องซ่อมเอง และจะค่อนข้างมีความยุ่งยาก
ทำให้เขาตัดสินใจที่จะคิดค้น และพัฒนาตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติขึ้นเอง
ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติธรรมดา ๆ แต่ต้องเป็นตู้คาเฟอัตโนมัติ ที่เคลื่อนที่เอาไปตั้งที่ไหนก็ได้ และสามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
1
จนสุดท้ายได้มาเปิดตัว ตู้เต่าบิน ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติช่วงต้นปี 2564
แล้วกลยุทธ์อะไร ที่ช่วยให้เต่าบิน เป็นกระแสขึ้นมา
- ความสม่ำเสมอในการผลิตเครื่องดื่ม
เหตุผลที่ต้องเป็นตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติภายในตู้ เพื่อตัดปัญหาความไม่สม่ำเสมอในการชงเครื่องดื่มออกไป
เขาบอกว่า สมมติว่า เราชงกาแฟครั้งแรกใส่ไป 12 กรัม ครั้งที่ 2 ใส่กาแฟไป 15 กรัม รสชาติก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ซึ่งการมีระบบเครื่องชั่งภายในตู้จะทำให้ทุกส่วนผสมทั้งกาแฟ นม น้ำแข็ง รวมทั้งเครื่องดื่มอื่น ๆ ได้สัดส่วนที่เป็นมาตรฐานนั่นเอง
1
- การบริหารต้นทุนด้านโลจิสติกส์
การผลิตเครื่องดื่มกับรอบในการเติมวัตถุดิบต้องสัมพันธ์กัน
คุณเต่ามองว่า ถ้าเป็นในอดีต เวลาที่ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติขายได้ 3,000 บาท พนักงานก็ต้องคอยไปเติมวัตถุดิบต่าง ๆ 1 ครั้ง โดยเสียค่าขนส่ง 300 บาท หรือ 10% ของยอดขาย ตรงนี้มองว่าไม่คุ้ม
และด้วยความที่ FORTH เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ รวมถึงทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมอยู่แล้ว
ทำให้เขาสามารถแก้ Pian Point นี้ ด้วยการออกแบบตู้เต่าบิน ให้สามารถชงเครื่องดื่มได้ 6,000-7,000 บาทต่อการเติมวัตถุดิบ 1 ครั้ง เพื่อทำให้ค่าขนส่งต่อยอดขายมีสัดส่วนลดลงมากกว่าเดิม
- ให้ความสำคัญกับเรื่อง คุณภาพของวัตถุดิบ
เช่น ภายในตู้เต่าบินนั้น มีเครื่องที่สามารถผลิตน้ำแข็งและโซดา เครื่องชงและปั่น โดยสามารถชงทั้งเครื่องดื่มร้อนและเย็นได้มากกว่า 200 เมนู
โดยน้ำภายในตู้ที่ใช้ทำน้ำแข็งและโซดา รวมทั้งชงเครื่องดื่มต่าง ๆ นั้น เป็นน้ำ Reverse Osmosis หรือ R.O. ที่ผ่านระบบการกรองเพื่อกรองน้ำบริสุทธิ์ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการผสมกับวัตถุดิบตามออร์เดอร์ของลูกค้า
1
ซึ่ง 3 กลยุทธ์ที่ว่ามานี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้ตู้เต่าบินแจ้งเกิด เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี เท่านั้นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน สัดส่วนเมนูของตู้เต่าบิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
- เครื่องดื่มเย็น 60%
- เครื่องดื่มสมูทที 31%
-เครื่องดื่มร้อน 9%
ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 ยอดขายรวม ของตู้เต่าบินในปัจจุบัน อยู่ที่วันละกว่า 214,000 แก้ว
ขณะที่ตู้เต่าบินมีจำนวนทั้งหมด 3,572 ตู้ โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 48% ต่างจังหวัด 52%
โดยคุณเต่าคาดว่าจะมีตู้เต่าบินครบ 5,000 ตู้ภายในสิ้นปีนี้ และจะถึง 20,000 ตู้ภายในปี 2567
และยังตั้งเป้าจะมี ยอดขายเฉลี่ย 1,000,000 แก้วต่อวัน ซึ่งจะทำให้ตู้เต่าบิน สามารถสร้างรายได้ถึง 6,000-10,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว..
1
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขาย หุ้นที่กล่าวถึง การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
โฆษณา