24 ธ.ค. 2022 เวลา 00:22 • ประวัติศาสตร์
พระธาตุวัดช้างค้ำ น่าน
อันที่จริงพระธาตุก็คือเจดีย์ของภาคกลาง เพียงแต่ล้านนาหรือภูมิภาคทางเหนือเรียกว่าพระธาตุตามการใช้งาน เนื่องจากแต่เดิมเจดีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุไว้ภายใน และเมื่ออยู่คนละภูมิภาคจึงมักมีศิลปะที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
โดยเจดีย์วัดช้างค้ำนี้เป็นส่วนผสมของศิลปะที่ได้รับอิทธิพลลังกา และส่วนตัวเจดีย์ที่เป็นศิลปะแบบล้านนา โดยถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สุโขทัย อยุธยารวมถึงล้านนาได้ส่งพระสงฆ์กลุ่มนึง ไปบวชเรียนศึกษาพระธรรมวินัยจากลังกา เมื่อกลับมาจึงได้นำคติแบบเถรวาทจากลังกามาเผยแพร่ในบ้านเมืองของตน รวมไปถึงศิลปะและสถาปัตยกรรมด้วย
ส่วนฐานเริ่มจากฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยม คาดลวดบัวลูกแก้วอกไก่เดินขอบสองเส้น ทองไม้กว้าง ตรงบริเวณมุมมีการตกแต่งประดับเป็นเสาหลอก ตามด้วยชั้นช้าง ซึ่งเป็นฐานเขียงประดับบัวหัวเสาบนสองเส้น บริเวณท้องไม้แทรกด้วยประติมากรรมรูปช้าง มองเห็นฝั่งละเจ็ดตัว โดยตัวที่อยู่ตรงกลางและมุมจะประดับลวดลายด้วยสีทอง เหนือจากชั้นช้างขึ้นไปเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมเตี้ยๆ จำนวนสามชั้น
ส่วนองค์ระฆังเริ่มจากฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังสี่เหลี่ยม ท้องไม้กว้างขนาดลวดบัวลูกแก้วอกไก่เดินขอบข้างตรงบริเวณกลางท้องไม้ 1 เส้น ซึ่งเป็นที่นิยมในศรีสัชนาลัย คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากทางศรีสัชฯ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงในผังลมหนึ่งชั้น แล้วจึงเป็นบัวถลาในท้องไม้กว้างแบบที่นิยมในล้านนา
องค์ระฆังประกอบด้วยบัวปากระฆัง เป็นบัวกลีบประดับสองชั้น องค์ระฆังขนาดเล็กมีบัวคอเสื้อและรัดอกกลางองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยม ตามด้วยบัวฝาละมี ปล้องไฉน บัวยอด ปลียอดและฉัตร โดยส่วนองค์ระฆังตกแต่งเป็นสีทองสวยงาม
ถือว่าเป็นเจดีย์พระธาตุองค์หนึ่งที่สวยงามแปลกตา เนื่องจากมีส่วนผสมของศิลปะจากหลายแหล่งรวมกันไว้เป็นหนึ่งเดียว ถ้าหากท่านใดได้เดินทางมาเที่ยวจังหวัดน่าน แนะนำว่าอย่าชมแต่เพียงภาพวาดฝาผนังปู่ม่านย่าม่านที่วัดภูมินทร์ ควรเดินข้ามมาเที่ยวในบริเวณวัดช้างค้ำ ซึ่งอยู่เยี้ยงกันไม่ไกล มี.จุดถ่ายรูปเช่นซุ้มร่ม เจดีย์พระธาตุหรือแม้แต่พระพุทธรูปลีลาและพระพุทธรูปปางประทานอภัยสมัยสุโขทัยภายในวิหารของวัดให้เยี่ยมชมและเก็บภาพเป็นที่ระลึก
โฆษณา