Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2022 เวลา 06:00 • ท่องเที่ยว
"วังค้างคาว" ตึกเก่าแก่แห่งคลองสาน
กรุงเทพฯเมืองเก่า … หลายแห่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่มีความงดงามของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม มีความวิจิตรงดงาม ละเอียดประณีตที่สำเร็จลงได้เพราะความสามารถของคนกลุ่มหนึ่งเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
.. อันเป็นหลักหมุดของกาลเวลาที่ประเทศไทยประกาศตัวเข้าร่วมในสมาคมประชาชาติระหว่างประเทศด้วยความภาคภูมิใจ ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระราชวงศ์จักรี
ในรัชกาลนี้ กรุงเทพฯซึ่งมีอายุดำเนินมาเป็นเวลาราว 120 ปี นับตั้งแต่องค์ปฐมกษัตริย์ได้สถาปนากรุงเทพฯให้เป็นราชธานีแห่งพระราชอาณาจักรสยาม เมื่อ พ.ศ. 2325 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าเข้าสู่ความเป็น “สมัยใหม่” ยุคแรกของไทย
ความงดงามในรูปแบบใหม่ของกรุงเทพฯตั้งแต่ยุคนั้น ซึ่งได้แปลงรูปธรรมเข้าสู่ความเป็นสากล หลายแห่งสำเร็จลงด้วยฝีมือ ความคิด และการสร้างโดยช่างศิลป์ชาวไทยและชาวต่างประเทศมากมายหลาบคน ซึ่งได้สร้างสรรค์คฤหาสน์องขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีบรรดาศักดิ์มากมายที่ผ่านการออกแบบก่อสร้างและตกแต่งภายในโดยสถาปนิกชาวไทยและชาวต่างชาติ
ย่านคลองสาน ท่าดินแดง เป็นชุมชนเก่าแก่ของคนกรุงเทพมายาวนาน มีอาคารเก่าแก่หลายแห่งที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใกล้เคียงกัน อาทิ "โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ" อยู่ใกล้กับศาลเจ้ากวนอู ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารส่วนบุคคล สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ ๒ มีความเก่าแก่กว่ากว่า 200 ปี อาคารเป็นแบบสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ โดยสกุลช่างชาวฮกเกี้ยน ลักษณะเป็นบ้านล้อมลาน หากหันหน้าเข้าอาคารบ้านจะมีอาคารหลักตั้งเด่นอยู่ตรงกลางสูง 2 ชั้น และมีอาคารชั้นเดียวขนาบข้างทั้งด้านซ้ายและขวา โดยมีลานโล่งอยู่ตรงกลาง
สถานที่อีกแห่งหนึ่ง คือ "บ้านหวั่งหลี" อาคารที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีน ก่ออิฐถือปูนและใช้โครงสร้างไม้สร้างอาคาร ที่นี่เคยเป็นท่าเรือกลไฟของตระกูลหวั่งหลี สร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือปัจจุบันคือ ล้ง 1919
“วังค้างคาว” .. เป็นหนึ่งในอาคารไสตล์จีนโบราณ ที่เราจะพาไปชม และเรียนรู้ถึงความเป็นมาในวันนี้
.. เนื่องจากไม่สามารถสืบค้นจากเอกสารเก่าหรือจากคำบอกเล่าของคนรุ่นใหม่ได้ครบจำนวนช่างศิลป์เหล่านี้ว่า ผู้ใดออกแบบและลงมือคุมงานก่อสร้าง หรือปั้น หรือสร้างสรรค์ “วังค้างคาว” ที่สวยงามแห่งนี้จึงมีเพียงข้อมูลบางส่วนมาเล่าสรุปให้ทราบว่า “วังค้างคาว” ที่เราเห็นในวันนี้ มีหยาดเหงื่อและความอุตสาหะของผู้ใดอยู่เบื้องหลังบ้าง
อาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านช่วงที่ผ่านคลองสานแห่งนี้ ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ .. เดิมอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ของพระประเสริฐวานิช หรือเจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ บุตรของจีนเตี๋ยมกับ อำแดงเพ็ง ..
สำหรับพระประเสริฐวานิช (เขียว) มีบ้านอยู่บริเวณปากคลองวัดทองธรรมชาติ ภรรยาคือนางสาคร ประเสริฐวานิช .. พระประเสริฐวานิช เป็นขุนนางเชื้อสายจีน ได้เข้ารับราชการอยู่กรมท่าซ้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ดูแลการค้าขายในส่วนของคนจีน
1
คลองสานเป็นย่านที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา .. ในสมัยก่อนยังมีสถานีรถไฟปากคลองสาน จึงทำให้มีการขนส่งสินค้าทั้งทางเรือและทางรถไฟในย่านนี้ และมีโกดังมากมายไว้เก็บสินค้า
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2450-2460 “บริษัท หลักสุงเฮง” ของ “นายเหียกวงเอี่ยม” อดีตประธานหอการค้าไทย-จีน เช่าอาคารและพื้นที่เป็นสำนักงานและท่าเรือซึ่งดำเนินกิจการรับส่งสินค้าทางเรือ จากนั้น “ห้างฮั่วจั่วจั่น” ได้มาขอเช่าต่อ โดยใช้พื้นที่ใต้ตึกเป็นที่เก็บสินค้า เมื่อเลิกเช่าตัวอาคารจึงถูกปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี
.. ต่อมา บ้านและที่ดินตกเป็นของนายเว้น (บุตร) และได้บริจาคให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2464
เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่คลองสานเริ่มเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ .. โกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าแบบเก่าแก่ ถูกพัฒนากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือถูกทิ้งร้างไป
“วังค้างคาว” ซึ่งเดิมเป็นที่พักสินค้าและโรงเก็บอากร .. ก็ตกอยู่ในชตากรรมเดียวกัน
สถาปัตยกรรมของอาคาร
อาคารหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 .. เป็นสถาปัตยกรรมจีนที่เก่าแก่มีอายุกว่าร้อยปี และตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสามารถบ่งบอกเรื่องราวในอดีตของไทย รวมถึงเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของสังคมไทย ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ในสมัยนั้น ถือได้ว่าเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
เราเริ่มการชม “วังค้างคาว ด้วยการมายืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปยังตัวอาคารของ” .. อาคารที่ปรากฏในสายตา แม้จะทรุดโทรมไปมาก แต่โครงสร้างหลักยังสามารถคงรูปแบบเดิมไว้ได้
ตัวอาคารมีลักษณะและรูปแบบเป็นกลุ่มอาคารเก๋งจีน 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าจั่วปูนปั้น .. ประกอบด้วย อาคาร 2 หลังตั้งขนานกัน หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา .. มีระเบียงเชื่อมถึงกัน ล้อมลานโล่งตรงกลางขนาดใหญ่เอาไว้
.. เข้าใจว่า ในช่วงเวลาขณะนั้น สยามมีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกับจีน ทำให้มีคนจีนที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานและช่างฝีมือในไทยจำนวนมาก อันส่งผลให้เกิดอิทธิพล ที่ทำให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกิดขึ้น รวมถึงการสร้างงานศิลปะไทยผสมกับจีนแบบประยุกต์ในสถาปัตยกรรมของอาคารของคหบดีในสมัยนั้น
บริเวณด้านหน้าของอาคาร .. มีบันไดอิฐฉาบปูน ขนาดไม่เล็ก เพื่อนำผู้มาเยือนขึ้นไปยังชั้นบนของอาคาร ที่โคนบันไดทั้งสองข้างอาจจะเคยประดับด้วยจำหลักหินสิงโต หรือสัตว์ตามความเชื่อของจีนอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม
ด้านหน้าของอาคารหลังแรก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา .. ความเก่าแก่เห็นได้ชัดจากการที่มีต้นไม้หลายพันธุ์ที่มีรากเกาะยึด ชอนไชไปกับผนัง และหลังคาของอาคาร .. อาจจะมองดูเก่าคลาสสิก แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นความเศร้าที่กาลเวลาได้กัดกร่อน ค่อยๆกลืนกินอาคารที่สวยงามนี้ไปเรื่อยๆทุกวัน
ระเบียงชั้นบนของอาคารหลังแรก .. มีการสร้างช่องหน้าต่างโค้ง (รับกับช่องโค้งประตูทางเข้าของชั้นล่าง) อาจจะเคยมีลวดลายดุนนูนประดับ ..
นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ช่องหน้าต่างโค้ง ยังอาจจะเพื่อรับลมจากแม่น้ำให้เข้ามาในอาคาร
.. ด้านล่างของซุ้มหน้าต่างประดับด้วยลูกกรงแก้วเป็นช่องๆ ดูสวยงาม
.. ห้องโถงกลางเรือน พื้นปูด้วยไม้ เช่นเดียวกับเพดาน .. มีการประดับเชิงชายด้วยไม้ฉลุแบบไทย ปัจจุบันสามารถมองตรงออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านซุ้มปูนโค้งที่ผุพังบางส่วน และบางส่วนมีรากไม้เข้าไปยึดเกาะ .. เดิมระหว่างระเบียงกับห้องโถงภายในบ้านคงจะมีประตูไม้ประดับด้วยงานแกะสลักภาพเขียนตามคติแบบจีนที่งดงาม ที่แฝงคติมงคลต่างๆกั้นอยู่ ซึ่งในปัจจุบัน ประตูไม่มีแล้ว
ขนาบสองข้างของห้องโถงกลางเรือน .. อาจจะเป็นห้องพักของเจ้าของบ้าน
ด้านล่าง หรือพื้นที่บริเวณใต้ถุนอาคารถูกแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งสองฝั่ง .. มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในสมัยก่อนกล่าวว่าเป็นส่วนของพื้นที่ในการเก็บสินค้า หรือพักสินค้าเพื่อรอส่งต่อ
เราทะลุออกมาด้านหลังของอาคารริมน้ำ .. พื้นที่ตรงกลาง เป็นลานโล่งขนาดใหญ่
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้จะเหมือนกับหลังริมน้ำ คือ เป็นอารก่ออิฐ ถือปูน 2 ชั้น .. ชั้นล่างเป็นห้องสี่เหลี่ยม เพื่อให้ในเก็บสินค้ำเช่นกัน
บริเวณชั้นบนด้านหลัง .. มีลักษณะคล้ายกับเรือนริมแม่น้ำ แต่เรียบง่ายกว่า ไม่ได้ตกแต่งมาก ตรงกลางของห้องโถงบนผนัง ยังมีแท่นบูชา เหมือนศาลเจ้าแบบจีนตั้งอยู่
ศิลปกรรมในการสร้าง สวยงามมาก
ในปี พ.ศ.2561 กรมศิลปากรได้ประกาศให้ บ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) หรือ “วังค้างคาว” โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครตามนัยราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561
ที่มาของชื่อ “วังค้างคาว” .. เนื่องมาจากพื้นที่และอาคารถูกปิดร้างไปนาน ทำให้มีค้างคาวเข้ามาทำรังและอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมาก ตอนเย็นฝูงค้างคาวก็จะบินออกไป จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้มีคนเรียกอาคารเก่าหลังนี้ว่า “วังค้างคาว”
ปัจจุบันอาคารและที่ดินอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีโครงที่จะให้เอกชนเข้ามาพลิกฟื้นบ้านที่มีความสวยงามของศิลปะสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนาน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
1 บันทึก
5
1
6
1
5
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย