Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2022 เวลา 10:29 • ประวัติศาสตร์
เล่าเรื่อง “ม่าเหมี่ยว”
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
มีคนถามมาทางหน้าเพจ ว่าคนป่าม่าเหมี่ยวคืออะไร เขาไม่รู้จัก
ดิฉันเคยเขียนเรื่องม่าเหมี่ยวมาบ้างแล้วในนิตยสารสารคดี , อนุสาร อสท.ก็ด้วย เขียนไว้ยืดยาว มาวันนี้จะเล่าเรื่องคนป่าม่าเหมี่ยว ให้พอได้รู้จักกันบ้างทางหน้าเพจ เอาชนิดหอมปากหอมคอไม่ต้องละเอียด จะได้อ่านสบายๆ ไม่ทันเบื่อ
จิตรกรรมม่าเหมี่ยวในสมุดข่อยสมัยธนบุรี ภาพจากหนังสือ “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒” จัดพิมพ์โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒
เรื่องของม่าเหมี่ยว คนป่าโบราณนี้ ดิฉันรู้จักมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จำไม่ได้แล้ว เพราะเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ของครอบครัวเรา ที่มีพ่อเป็นคนพื้นบ้านเมืองพัทลุง
พ่อดิฉัน อ.ล้อม เพ็งแก้ว เป็นลูกชาวนาและเป็นครูสอนภาษาไทย ตอนดิฉันเด็กๆ คราวใดที่พ่อเก็บชมพู่ม่าเหมี่ยวต้นที่บ้านมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆให้ลูกๆกิน พ่อมักเล่าเรื่องของ “ม่าเหมี่ยว” ให้ฟังเสมอ จนจำเข้าหัว ดังที่ว่า
“สำหรับชมพู่ม่าเหมี่ยว คนใต้เรียกชมพู่ย่าหวัน ตอนเด็กพ่อเคยกินใบอ่อน ใบเพสลาด เอาจิ้มเกลือกิน รสชาติใช้ได้ แต่กินเปล่า-รสเปรี้ยว ที่เรียกชมพู่ม่าเหมี่ยว อาจเพราะตัวม่าเหมี่ยวน่าจะเอาใบชมพู่ชนิดนี้มากินได้ นุ่งได้ คนใต้โบราณรู้จักม่าเหมี่ยวในฐานะคนป่า ไม่มีลูกสะบ้าหัวเข่า ม่าเหมี่ยวจะเที่ยวเดินอยู่ตามป่าลึก”
คำอธิบายจากพ่อเป็นความคิดเห็นหนึ่ง ว่าคนกลุ่มนี้คงจะเอาใบชมพู่ม่าเหมี่ยวมานุ่งแทนผ้ากระมัง พวกเขาจึงได้ชื่อว่า คนป่าม่าเหมี่ยว
ม่าเหมี่ยวปูนปั้น ท่องป่าอยู่ที่หน้าบันวิหารวัดไทร เขตบางขุนเทียน จ.กรุงเทพมหานคร ถ่ายภาพไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๑
ดิฉันได้ถามพ่อรู้จักคนป่าม่าเหมี่ยวมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พ่อเลยย้อนความหลังให้ฟังถึงสมัยยังเป็นเด็กอายุ ๑๐ กว่าขวบ เรียนชั้นม.๔ (คือม.๑ ในยุคปัจจุบัน) พ่อได้อ่าน นิราศอิเหนา ของท่านสุนทรภู่ จากหนังสือในห้องสมุด รร.ช่วยมิตร อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้พบคำกลอนแปลกประหลาดที่สุนทรภู่แต่งไว้ดังนี้
“อรหันนั้นหน้าเหมือนมนุษย์ ปีกเหมือนครุฑครีบเท้ามีเผ้าผม พวกม่าเหมี่ยวเที่ยวเดินเนินพนมลูกเล็กล้มลากจูงเหมือนฝูงคน เหล่าเลมาะเงาะป่าคุลาอยู่ เที่ยวกินปูเปี้ยวป่าผลาผล ”
อ่านเจอตัวม่าเหมี่ยวในนิราศอิเหนาของสุนทรภู่แล้ว ทำให้เด็กชายล้อม เพ็งแก้ว สงสัยมาก ม่าเหมี่ยวคือตัวอะไร? จึงได้กลับมาถามแม่(ย่านวล เพ็งแก้วของดิฉัน) ผู้เป็นชาวนาบ้านควนขนุน ย่านวลบอกลูกว่า ม่าเหมี่ยวคือคนป่าตัวดำ หัวเข้าไม่มีลูกสะบ้า ถ้ามันล้มลงไป จะลุกลำบาก ต้องตะกายพื้นคืบไปหาต้นไม้ หรือโขดหิน ใช้มือโหนค้ำตัว ถึงจะยืนขึ้นมาได้
เรื่องเล่าของพ่อล้อม เพ็งแก้วทำให้ดิฉันได้รู้ว่า ชาวบ้านภาคใต้ รู้จักม่าเหมี่ยวมาแล้วตั้งแต่โบราณ
ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในพจนานุกรมฉบับไทย-ไทย ของอ.เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของม่าเหมี่ยวในฐานะของคนป่าผู้มีลักษณะเฉพาะไว้ว่า
“ชื่อคนป่าดงพวกหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นพวกไม่มีสะบ้าหัวเข่า”
คนใต้คงจะจำกันมาแม่นๆว่า ม่าเหมี่ยวไม่มีกระดูกสะบ้าหัวเข่า เป็นความจำถ่ายทอดสืบต่อมาดังนี้แน่ เพราะเมื่อดิฉันอ่านจากนิยามที่ อ.เปลื้อง ณ นครกล่าวไว้ ดูจะตรงกับที่ย่านวล เพ็งแก้ว บอกพ่อล้อม เพ็งแก้วไว้ตั้งแต่ ๗๐ กว่าปีก่อน ไม่ต่างกันเลย
ม่าเหมี่ยวปูนปั้นกลางพรรณพฤกษา หน้าบันโบสถ์เก่า วัดหนองควง จ.เพชรบุรี อายุเวลาก่อนสมัยร.๕
มิเพียงแต่คนใต้ที่รู้จักม่าเหมี่ยวเท่านั้น คนไทยทั่วทุกภาค รู้จักม่าเหมี่ยวมาหลายร้อยปีแล้ว วรรณคดีไทยเป็นหลักฐานปรากฏชัด เพราะนอกจากในนิราศอิเหนาแล้ว สุนทรภู่ยังเขียนถึงม่าเหมี่ยวไว้ในผลงานของท่านอีกหลายเรื่องดังเช่น
บทละคร พระอภัยมณี ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา สุนทรภู่กล่าวไว้ว่า
“เหล่าคนป่าม่าเหมี่ยวเที่ยวเป็นฝูง บ้างอุ้มจูงลูกเต้าเลียบเขาเขิน”
และใน บทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ เรื่องกากี สุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึงม่าเหมี่ยวไว้อีกว่า
“คนป่าทั้งม่าเหมี่ยว ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน ลอยลมชมเพลิน พนมเนินแนวธาร”
เรื่องของคนป่าม่าเหมี่ยวมิได้พบแต่ในผลงานของสุนทรภู่เท่านั้น หากในบทพระราชนิพนธ์ สังข์ทอง ของในหลวงรัชกาลที่ ๒ ตอน ท้าวสามนต์ให้ลูกเขยหาปลาหาเนื้อ มีกล่าวถึงลูกเขยทั้ง ๖ คร่ำครวญถึงการตรากตรำลำบากของตนเทียบกับม่าเหมี่ยว ในชนิดที่
“เมื่อนั้น เขยใหญ่ทั้งหกตกประหม่า แกล้งทูลเลี้ยวลดปดพ่อตา แต่เช้าข้าก็ไปไม่เชือนแช ลงตีอวนฉุดลากที่ปากลัด ปากเป้ากัดจมูกลูกเป็นแผล ในแม่น้ำลำคลองทั้งสองแคว ไม่มีปลาเลยแต่สักตัวเดียว สู้ทนแดดแผดร้อนไปยังค่ำ จนตัวลอกออกดำเหมือนม่าเหมี่ยว ”
และในสังข์ทอง ตอนพระสังข์ตีคลี ท้าวสามนต์หัวเราะยิ้มเยาะพระสังข์ ด้วยอารมณ์ประมาณ
ม่าเหมี่ยวพ่อ แม่ลูก กินแตงโมอร่อยเหาะ จิตรกรรมวัดนายโรง ธนบุรี กรุงเทพฯ
“เมื่อนั้น ท้าวสามนต์หัวเราะเยาะยิ้มอยู่ เออราวกับใครเขาไม่รู้ รำคาญหูจู้จี้ไปทีเดียว ขืนจะให้ไปดูลูกเขยเงาะ มันสิเหมาะหนักหนาเหมือนม่าเหมี่ยว ”
“ม่าเหมี่ยว” ที่ร.๒ ทรงเอ่ยเปรียบไว้ แน่ๆคือตัวดำ และดู “บ้าน”ๆ เร่อร่าเป็นที่สุด
ข้างต้นนี้ เป็นผลงานของกวีชายที่กล่าวถึงคนป่า ไว้ให้เราได้เห็นความคุ้นเคยของคนไทยกับม่าเหมี่ยว ที่น่าสนใจก็คือ ยังมีกวีหญิงฝีปากคนกริบคมกล้าอีกท่านหนึ่ง กล่าวถึงม่าเหมี่ยวไว้ด้วยเช่นกัน เธอคือ “คุณพุ่ม” กวีหญิงชื่อดังต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เล่าเรื่องม่าเหมี่ยวไว้ใน ประชุมเพลงยาวภาคพิเศษ เพลงยาวชาววัง วรรณนิพนธ์สมัยรัชกาลที่ ๔ ดังนี้
“สุดแสนงอนค้อนขิ่งจริงจริงเจียว เหมือนม่าเหมี่ยวแต่ว่ามีซึ่งฝีมือ”
กวีไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์จึงได้เขียนถึง กล่าวถึงม่าเหมี่ยวมาสองร้อยกว่าปีแล้วทั้งในผลงานบทพระราชนิพนธ์สังข์ทองของรัชกาลที่ ๒ , พระอภัยมณี นิราศอิเหนา บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี ของสุนทรภู่ และเพลงยาวชาววัง ที่คุณพุ่มเขียนไว้
ประมวลความหมายที่สรุปมาได้จากวรรณคดีของกวีทั้ง ๓ ท่าน พบว่า ม่าเหมี่ยวหมายถึงคนเถื่อนคนป่า ตัวดำ เดินอุ้มลูกจูงหลานอยู่ตามป่าลึก หน้าตาก็คงบ้านนอกทะเล่อทะล่า ไม่ต่างจากรูปเจ้าเงาะสามีสุดรักของนางรจนา ที่ถูกท้าวสามนต์ถีบกระเด็นให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กับลูกสาวแถวชายป่านั้นกระมัง
ม่าเหมี่ยวล้านนาท่องป่าอยู่กับนกอรหัน จิตรกรรมวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
ข้างต้นนี้คือการปรากฏโฉมของม่าเหมี่ยวในวรรณคดี เล่าเรื่องม่าเหมี่ยวอยู่ในป่าลึก ป่าเดียวกับนกอรหัน สัตว์ปีกที่ตัวเป็นนก หัวเป็นคน ที่หากินตามโขดเขินป่าหิมพานต์ และเราได้เห็นหน้าค่าตาตัวม่าเหมี่ยวที่จิตรกรวาดไว้มาแต่โบราณหลายร้อยปี ชนิดเป็นสัญลักษณ์บอกได้ว่า เห็นตัวม่าเหมี่ยวปรากฏโฉมเมื่อใด พื้นที่ในภาพนั้นคือเขตป่าลึก ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว อย่างแน่นอน
ดิฉันถ่ายภาพคนป่าม่าเหมี่ยวไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งภาพจิตรกรรม ประติมากรรม วันนี้จึงขอแบ่งมาให้ได้ชมกันนะ ดูตามสะดวกละกัน ว่าชอบรูปไหนบ้าง
แล้วทีนี้เวลาไปวัด ก็ลองสอดส่องหาชม คนป่าม่าเหมี่ยว ในจิตรกรรมฝาผนังกันบ้างนะ
หนุ่มสาวม่าเหมี่ยวหลบทำเรื่องชอบๆ ให้คนตาผีไปแอบดู จิตรกรรมวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี
หนุ่มม่าเหมี่ยวถือช่อดอกไม้ไปจีบสาวม่าเหมี่ยว จิตรกรรมวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี
3 บันทึก
2
2
3
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย