27 ธ.ค. 2022 เวลา 07:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การค้นหาและช่วยชีวิต - บริการกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่เสมอในเรื่องความพร้อมของสนามบินพาณิชย์ ในการจัดให้มีบริการกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง กรณีที่สนามบินตั้งอยู่ใกล้สภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในการเข้าถึง (เช่น ใกล้กับแหล่งน้ำหนอง ภูเขา ป่าทึบ ทะเลสาบ คลอง บึง ทะเล - ข้อกำหนด กพท. ฉบับที่ 37 ข้อ 969)
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ถ้าจะให้เข้าใจประเด็นดังกล่าว จนสามารถประเมินได้ว่า ‘ความสมควรที่พอเหมาะพอดีที่สนามบิน’ ควรจะต้องเตรียมทรัพยากรเพื่อภารกิจนี้มากน้อยเพียงใดนั้น จะต้องเข้าใจบริบททั้งมวลในเรื่องนี้
ในประเด็นแรก ข้อ 969 ถูกจัดอยู่ในอยู่ในส่วนที่ 1 การวางแผนฉุกเฉิน ของหมวด 6 บริการของสนามบิน นั่นหมายถึงถ้าจะให้เข้าใจก็สมควรที่จะต้องทำความเข้าใจกับทุกข้อในเรื่องนี้ ตั้งแต่ข้อ 955 “เพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมของสนามบินในการเผชิญเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในสนามบินหรือบริเวณใกล้เคียง สนามบินต้องจัดให้มีแผนฉุกเฉินของสนามบิน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการช่วยชีวิตและการรักษาการปฏิบัติการของอากาศยาน โดยในแผนฉุกเฉินของสนามบินต้องระบุถึงกระบวนการสำหรับการประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานภายนอกสนามบินที่อาจให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน”
หากอ่านข้อ 955 ไล่เรียงไปตลอดจน 969 และไปจบที่ 970 ที่ต้องมีการฝึกซ้อมฯ แล้วนั้น คงไม่เกินเลยที่จะสามารถตีความเข้าข้างสนามบิน ว่าบริการกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางฯ นั้นอาจจะเป็นไปได้ที่สนามบินจะจัดให้มีโดยใช้บริการจากหน่วยงานภายนอกได้
ประเด็นต่อมา คือ ขบวนการเตรียมทรัพยากรใดใดก็ตาม หากไม่ได้มีระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อบังคับหรือมาตรฐานความปลอดภัยแล้วนั้น สมควรที่สนามบินจะต้องเริ่มด้วยการบริหารความเสี่ยง และในหลักการประเมินความเสี่ยงที่ดี ควรจะเริ่มจากการประเมินด้วย Quantitative risk assessment สถิติอุบัติเหตุของอากาศยานพาณิชย์จะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจ
ย้อนหลังไปสิบปีจนถึงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 (2009-2018) ในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์ตี ราว 30-40 ล้านเที่ยวบิน อย่าไรก็ตามจากฐานข้อมูล IATA GDAM Accident Database พบมีสถิติอากาศยานพาณิชย์อุบัติเหตุ 777 ครั้ง และเมื่อนำมาจัดเป็นหมวดหมู่จะยิ่งน่าสนใจมากครับ
ประเภทอุบัติเหตุของอากาศยาน ที่จะเป็นที่มาของ ‘บริการกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง’ ของสนามบิน นั้น น่าจะเป็นไปได้ 2 กลุ่มครับ คือ Undershoot และ Off Airport Landing/Ditching ซึ่งสถิติย้อนหลัง 10 ปี ของทั้ง 2 กลุ่มรวมกันราว 6% หรือ 47 ครั้ง ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนต่อปริมาณเที่ยวบินรวมจะตกราว 0.00000016%
อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ ต่อคำถามที่ว่า “แม้ความน่าจะเป็นต่ำแค่ไหน สนามบินจะไม่ต้องตระเตรียมทรัพยากรเพื่อภารกิจนี้หรือ” คำตอบ คือ ต้องตระเตรียมครับ แต่ถ้าจะให้สมเหตุสมผลมากกว่านั้น หลังจากมีทรัพยากรมากพอหรือเหลือจากภารกิจหลัก คือ การดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่ทางวิ่ง ทางขับ พื้นที่เคลื่อนไหวอากาศยาน และเขตสนามบิน ตามลำดับครับ ซึ่งถ้ารวมสถิติ 4 แท่งซ้าย จะมากถึง 61 % หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีโอกาสเกิดมากกว่า เคสแรก 10 เท่าครับ
โฆษณา