27 ธ.ค. 2022 เวลา 12:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บันทึกการลงทุนล่าสุดของ Howard Marks ที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ยังอ่าน
Howard Marks ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Oaktree Capital Management ซึ่งถือเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาได้เขียนบันทึกการลงทุนล่าสุดออกมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมขอสรุปให้อ่านกันดังนี้
1
1. เขาตั้งชื่อบันทึกการลงทุนฉบับนี้ว่าทะเลที่เปลี่ยนไป (Sea Change) โดยให้คำนิยามของทะเลที่เปลี่ยนไปการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เปลี่ยนแนวคิดและมุมมองไปคนละด้าน ในชีวิตการลงทุน 53 ปีของเขา เขาผ่านวัฎจักรขึ้นลงของเศรษฐกิจมาหลายครั้ง ทั้งในช่วงของตลาดกระทิงและในช่วงที่ตลาดเกิดวิกฤติ เขามองว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพียงแค่สองครั้งในช่วงที่ผ่านมาและตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สาม
1
2.ตัวเขาเองเข้ามาในโลกการลงทุนตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งในตอนนั้นนักลงทุนต่างให้ความสนใจกับหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า Nifty Fifty ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นเติบโตเร็ว เป็นหุ้นกลุ่มที่ไม่มีข้อด้อยเลยทีเดียว ทุกคนต่างเชื่อว่าไม่มีราคาแพงเกินไป ยอมเข้าซื้อทุกราคา จนทำให้เมื่อฟองสบู่แตก หุ้นราคาลงไปถึง 90% ทั้งที่มันเป็นหุ้นสุดยอดของอเมริกาในช่วงนั้น บทเรียนก็คือการซื้อหุ้นคุณภาพดีแต่ราคาสูงเกินไปมาก อาจจะเป็นการลงทุนที่แย่ก็ได้
2
3.คลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกแรกเกิดในช่วงปี 1975 เมื่อนาย Michael Milken ได้เกิดไอเดียหาโอกาสในการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่ใช่อันดับในการลงทุนหรือ Non-investment grade bonds โดยหาผลตอบแทนที่สูงและยอมรับได้กับความเสี่ยงที่บริษัทจะล้มละลาย ทำให้เกิดกระแสการยอมรับความเสี่ยงนี้มากขึ้น ตอนที่เขาได้เลือกลงทุนในตราสารหนี้แบบนี้ในปี 1978 มูลค่าตลาดอยู่เพียงแค่ $2,000 ล้าน แต่ทุกวันนี้ตลาดมันใหญ่มากถึง$1.2 ล้านล้าน
เขาจึงสรุปว่ามันไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหมือนในอดีตอีกต่อไปแต่เราต้องบริหารจัดการผลตอบแทนที่เราคาดหวังให้เหมาะสม เขามองว่านักลงทุนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนคงจะรู้สึกตกใจมากเมื่อมองย้อนหลังกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน นักลงทุนยังไม่ยอมรับแนวคิดนี้เลย ดังนั้นทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปในข้อแรกของเขาคือ ทุกวันนี้นักลงทุนมีแนวคิดการลงทุนที่เปลี่ยนไปจากเดิม ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นตามผลตอบแทนอยู่ในระดับที่พอใจ
1
4. การเปลี่ยนแปลงของทะเลครั้งที่สองเกิดขึ้นจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 1972 ที่ 3.2% กระโดดเป็น 11% ภายในปี1974 และมันก็ได้ลดลงมาอยู่ในช่วง 6-9% หลังจากนั้นสี่ปีมันก็กระโดดขึ้นไป 11.4% ในปี 1979 และ 13.5% ในปี 1980 ทุกคนต่างท้อแท้กับการจัดการเงินเฟ้อ จนประธานเฟดนาย Paul Volcker เข้ามาในปี 1979 และได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางไปถึง 20% ในปี 1980 สามารถกดเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ในระดับ 3.2% ในช่วงปลายปี 1983
1
ความสำเร็จของนาย Volcker ที่ปราบเงินเฟ้อได้อย่างอยู่หมัด เฟดสามารถลดดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 8-9% ตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1980 ก่อนลดลงมาอยู่ในช่วง 3-4% ในทศวรรษ 1990 ผลจากการกระทำครั้งนั้นทำให้สภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำตลอดมาในช่วง 40 ปี เขาสรุปว่ามันคือทะเลที่เปลี่ยนไปในครั้งที่สองของเขา
1
5.การลดลงของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่เริ่มต้น 2-3 ปีหลังจากนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่คาดหวัง เขามองว่าทั้งสองปัจจัยทำให้เกิด 1)การมองในแง่บวกของนักลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 2)การแสวงหาโอกาสทำกำไรจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น 3)ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ในช่วง 40 ปีย้อนหลังของตลาดหุ้น
โดยดัชนี S&P 500 ได้เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุด 102 จุดในเดือนสิงหาคมปี 1982 เป็น 4,796 จุดในช่วงต้นปี 2022 โดยคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นที่ 10.3% ต่อปี มันเป็นอะไรที่ไม่น่าเชื่อมากๆเลยทีเดียว ใครที่ได้มีโอกาสลงทุนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาถือว่าโชคดีมาก
1
6.ผลกระทบของดอกเบี้ยต่ำมีอยู่หลายข้อทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น บริษัทก็มีการกู้เงินที่มีดอกเบี้ยต่ำ สามารถทำกำไรได้มากขึ้น สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น ก็คือเมื่อดอกเบี้ยต่ำทำให้ความคาดหวังของผลตอบแทนก็จะต่ำลง เมื่อคิดย้อนกลับกระแสเงินสดในอนาคตกลับมาเพื่อหาราคาที่เหมาะสมในปัจจุบัน ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็จะสูงขึ้น นอกจากนี้สำหรับสินทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมต่ำลง ทำให้นักลงทุนจำนวนมากได้ประโยชน์อย่ามหาศาลจากการทำ Leverage หรือกู้เงินมาลงทุน
7.เขาเชื่อว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทำกำไรได้มหาศาลในตลาดหุ้น
8.ในทางกลับกันช่วงตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลง
🔹 ดอกเบี้ยสูงขึ้นจึงทำให้ความคาดหวังของนักลงทุนสูงขึ้นตามไปด้วย มีผลทำให้มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมปรับตัวลดลง
🔹 อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลให้ราคาของพันธบัตรลดลง ในทางตรงกันข้ามดอกเบี้ยของพันธบัตรก็จะสูงขึ้น
🔹 ทำให้นักลงทุนที่กลัวว่าจะตกรถ พลาดการลงทุน หายไปจากตลาด กลายเป็นกลัวว่าจะเสียเงินมากกว่า หมดยุคของการไล่ราคาแบบไม่ลืมหูลืมตา (Fear Of Missing Out - FOMO)
🔹 การเข้มงวดทางด้านนโยบายของเฟดเพื่อที่จะชะลอเศรษฐกิจจึงทำให้นักลงทุนต่างคาดการณ์ว่ามันเป็นไปได้ยากมากที่เฟดจะจัดการเงินเฟ้อให้ปรับตัวลดลงในขณะที่เศรษฐกิจไม่พัง นักลงทุนส่วนมากจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจทดถอยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปีหน้า
9.มองจากนี้ไปข้างหน้า เขาเชื่อว่า
🔹 เงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงเนื่องจากเงินที่รัฐบาลเคยแจกช่วงโควิด จะมีการใช้จ่ายและหมดไปเร็วๆนี้ และอุปทานของสินค้าและบริการจะสามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ได้เท่าเทียมกัน
🔹 ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงจากรายงานล่าสุด แต่เขากังวลว่าตลาดแรงงานยังคงตรึงตัว ค่าจ้างยังเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่
🔹 นโยบายการกระจายการผลิตสินค้าไปทั่วโลกกำลังชะลอตัวลง เช่นชิปคอมพิวเตอร์ที่กำลังย้ายฐานกลับมาผลิตที่อเมริกา สิ่งเหล่านี้จะทำให้สูญเสียแรงหนุนที่ช่วยลดเงินเฟ้อ ต้องไม่ลืมว่าการผลิตสินค้าในต่างประเทศช่วยลดราคาสินค้านำเข้าได้มาก เขาเชื่อว่าสามารถลดเงินเฟ้อลงได้ประมาณปีละ 0.6%
🔹 ก่อนที่พวกเราจะประกาศชัยชนะต่อเงินเฟ้อ เฟดต้องมั่นใจก่อนว่าว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับประมาณ 2% ตามเป้าหมายและต้องมีแนวโน้มไม่ขยับขึ้นไปอีก โดยเฟดจะยึดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่แท้จริงซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ -2.2% (Core Inflation - Fed Fund Rate)
🔹แม้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวอัตราการขึ้นดอกเบี้ย แต่มันก็ยากที่เฟดจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ยังกังวลต่อความน่าเชื่อถือหลังจากเฟดปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเร็วและเรียกมันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว ครั้งนี้คงไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรรวดเร็วถ้ายังไม่มั่นใจ
🔹เฟดน่าจะโดนตั้งคำถามจากนักลงทุนว่าจะทำอย่างไรในการลดงบดุลที่เพิ่มขึ้นมาจาก $4 ล้านล้านเป็น $9 ล้านล้านจากการซื้อพันธบัตรรัฐบาล การปล่อยให้พันธบัตรหมดอายุจะเป็นการดึงสภาพคล่องจำนวนมากออกจากระบบเศรษฐกิจและจะชะลออัตราการเติบโตของธุรกิจอีกด้วย
🔹 แม้ว่าตลาดเสรีจะเป็นแหล่งเงินทุนที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ แต่จริงๆแล้วพวกเราก็ไม่ได้มีตลาดเสรีมามากกว่า 10 ปีแล้ว เฟดคงจะลดบทบาทของตัวเองในการเข้ามาแทรกแซงด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยและการถือพันธบัตร
1
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกที่สาม ซึ่งก็คือการที่เฟดจะไม่ได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เขาเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2-4% นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าโลกของดอกเบี้ยต่ำกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปโลกที่อยู่ในระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสม
นักลงทุนสามารถที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากระบบเครดิตเช่นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอย่างหนักกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าเพื่อที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าครับ
#หากเพื่อนที่สนใจอยากเริ่มลงทุนหุ้นต่างประเทศหรือฟิวเจอร์สต่างประเทศด้วยตนเอง แต่ยังกังวลกรณีเกิดปัญหาระบบเทรดช่วงกลางคืนหรือต้องการคุยกับผู้แนะนำการลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว บริการ Phillip Global Markets ของหลักทรัพย์ฟิลลิป มีจุดเด่นคือบริการ support 24 ช.ม. โดยเจ้าหน้าที่คนไทย สนใจโทร. 02-635-3055 หรือ Line: @phillipglobal (หรือคลิก: https://lin.ee/q0bIxVg )
โฆษณา