2 ม.ค. 2023 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
รู้จัก Red Lobster เชนร้านซีฟูด ชื่อดังจากอเมริกา ที่มีคนไทยร่วมเป็นเจ้าของ
Red Lobster คือ เชนร้านอาหารทะเล ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา
1
โดยเป็นที่เลื่องชื่อในการเสิร์ฟอาหารทะเล ที่หลากหลาย และคุณภาพดี
อย่างล็อบสเตอร์ สีแดงตัวโต เนื้อนุ่มเด้ง รสชาติหวานฉ่ำ
หนึ่งในวัตถุดิบมื้อหรู แต่มาในราคาที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้
ซึ่งปัจจุบัน Red Lobster เติบโต จนมีสาขา มากกว่า 700 แห่ง
ครอบคลุมทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก
เช่น แคนาดา, เม็กซิโก, จีน, ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
แล้วรู้ไหมคะว่า Red Lobster แม้จะเป็นแบรนด์ สัญชาติอเมริกันแท้ ๆ แต่กลับมีคนไทย ร่วมเป็นเจ้าของด้วย
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มีที่มาที่ไป อย่างไร ?
แล้ว Red Lobster จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 1935 หรือเมื่อ 87 ปีที่แล้ว
คุณ Bill Darden เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ได้เริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหาร เป็นของตนเอง ในบ้านเกิดที่เมือง Waycross รัฐจอร์เจีย
โดยร้านอาหารแห่งนี้ เน้นให้บริการเสิร์ฟอาหาร แบบเซาเทิร์นสไตล์ ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ จะใช้เนื้อหมูและเนื้อไก่ เป็นวัตถุดิบหลัก เช่น เมนูสเต๊ก
พร้อมกับจับกลุ่มลูกค้า คือ คนในพื้นที่ คนวัยทำงาน หรือคนทั่วไป ที่ต้องการหาอาหารมื้อกลางวันทาน ในราคาประหยัด อิ่มท้อง และเข้าถึงง่าย
ที่สำคัญทางร้าน ยังปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ว่าจะไม่แบ่งแยกการให้บริการลูกค้า ตามเชื้อชาติ หรือสีผิว อีกด้วย
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า Jim Crow ซึ่งเป็นระเบียบว่าด้วยการแบ่งแยกคนผิวสี และคนผิวขาว ในพื้นที่รัฐทางใต้ของประเทศ ส่งผลให้มีร้านอาหาร โรงแรม หรือระบบบริการสาธารณะหลายแห่ง ปฏิเสธที่จะให้บริการคนผิวสี
และเมื่อทั้งอาหารและรูปแบบการบริการ ตอบโจทย์ลูกค้าแบบนี้ จึงทำให้กิจการของคุณ Darden เติบโตอย่างมาก จนมีกำไรในการขยายสู่ธุรกิจอื่นต่อ
โดยคุณ Darden ได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ของ Howard Johnson ซึ่งเป็นธุรกิจบริการ ที่มีทั้งร้านอาหารและโรงแรมในตัว
ซึ่งการทำธุรกิจครั้งนี้ ก็ได้กลายเป็นจุดกำเนิดให้กับ Red Lobster เมื่อคุณ Darden เริ่มสังเกตว่า เมนูยอดฮิตที่ลูกค้า และแขกที่มาพักในโรงแรมของเขาชอบสั่งทาน คือ เมนูจำพวกอาหารทะเล
พอเห็นแบบนี้ ในปี 1968 คุณ Darden จึงตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ที่เน้นขายอาหารทะเลเป็นหลัก แยกออกมา โดยตั้งชื่อร้านว่า “Red Lobster” พร้อมสโลแกนว่า “ท่าเรือ สำหรับเหล่าคนรักซีฟูด”
1
ในไม่ช้า Red Lobster ก็เติบโตตามความนิยมของเหล่าคนรักซีฟูด
โดยภายใน 2 ปี สามารถเปิดขยายสาขาได้ 5 แห่ง
กระจายตัวในทางใต้ของสหรัฐฯ เช่น รัฐฟลอริดา รัฐเซาท์แคโรไลนา
จนในที่สุด ความสำเร็จของ Red Lobster ก็ไปเตะตา General Mills หรือ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่มาขอเข้าซื้อกิจการในปี 1970
แม้ว่าขณะนั้นกิจการของ Red Lobster กำลังไปได้สวย แต่คุณ Darden และหุ้นส่วน ก็ยอมที่จะขายกิจการ ทั้งหมดให้กับ General Mills
โดยเหตุผลที่พวกเขา ยอมขายให้ก็เพราะ คุณ Darden กังวลในเรื่องของค่าต้นทุน วัตถุดิบอาหารทะเล ที่มีแนวโน้มว่าจะยิ่งสูงขึ้น ในอนาคตข้างหน้า
เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้ ค่อนข้างควบคุมปริมาณการซื้อได้ยาก และราคาในตลาดค่อนข้างผันผวน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของผลผลิตในแต่ละปี
ดังนั้น คุณ Darden จึงมองว่า การส่งต่อธุรกิจให้กับ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมากกว่า อย่าง General Mills น่าจะทำให้ Red Lobster เติบโตได้มากกว่า และอยู่ต่อไปได้นานกว่า
ซึ่งก็เป็นไปตามที่คุณ Darden คาดการณ์ไว้
เพราะในปี 1980 Red Lobster มียอดขายต่อปีเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณหมื่นล้านบาทต่อปี
แต่สุดท้าย General Mills ก็ต้องตัดสินใจขาย Red Lobster และส่งไม้ต่อให้กับ Golden Gate Capital ในปี 2014
ด้วยเหตุผลที่คุณ Darden เคยกังวลไว้ นั่นก็คือ ราคาวัตถุดิบอาหารทะเลที่ผันผวน รวมถึงทาง General Mills ต้องการกลับไป โฟกัสธุรกิจเดิมของตนมากขึ้น
ส่วนทาง Golden Gate Capital ยังคงมองเห็นศักยภาพใน Red Lobster จึงได้ซื้อกิจการต่อมา เพราะจริง ๆ แล้วปัญหาหลักของ Red Lobster คือการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ มากกว่า
แต่โดยรวมแล้ว ทั้งชื่อเสียงของแบรนด์ ที่ติดตลาดไปแล้ว รวมถึงการบริหารจัดการส่วนอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหา
ดังนั้น Golden Gate Capital จึงแก้ไขสถานการณ์นี้ โดยหันมาจับมือกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “Thai Union” เจ้าตลาดธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย
ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกก่อนว่า ทาง Thai Union เองก็เคยเป็นหนึ่งในผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับ Red Lobster มาก่อนอยู่แล้วกว่า 20 ปี
1
ดังนั้น การจับมือร่วมกันครั้งนี้ หากมองในมุมธุรกิจ คือ Red Lobster ก็จะมีศักยภาพมากขึ้น สำหรับเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอาหารทะเล
2
เพราะทาง Thai Union ถือเป็นผู้จำหน่ายอาหารทะเลชั้นนำ ที่มีฐานการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ และเครือข่ายการจัดการทั่วโลกอยู่แล้ว
ส่วนทาง Thai Union เอง ก็จะได้ประโยชน์ ในการเพิ่มโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของตน ได้เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงมากขึ้น ผ่านธุรกิจในรูปแบบของฟูดเซอร์วิส
เนื่องจากสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง ของ Thai Union ส่วนใหญ่ อยู่ในรูปของ Private label หรือพูดง่าย ๆ คือ ไม่ได้มีแบรนด์ในตลาดเป็นของตนเองที่ชัดเจน
เรียกได้ว่า เป็นเกมธุรกิจ ที่ต่างคนต่างนำจุดเด่นของตนเอง มาช่วยเสริมเพื่อปิดช่องโหว่ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กัน
เหมือนกับสำนวนสุภาษิต ที่ว่า “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ที่ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน นั่นเอง..
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
2
โฆษณา