29 ธ.ค. 2022 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “มูจิ” เป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น แต่ขโมยหัวใจหลายๆคน กลายเป็นแฟนตัวยงไปทั่วโลก
แน่นอนว่าพวกเรา Creative Monnday เองก็เป็นแฟนคลับมูจิอย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าเท่านั้น แต่แนวคิดทางธุรกิจน่าสนใจมากๆ จากจิตวิญญาณและสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น 🇯🇵
ขอส่งท้ายปีด้วยบทสรุปสไตล์เรา ที่ได้กลั่นกรอง 23
แนวคิดดีๆ ของมิสเตอร์ ทาดามิตสึ มิตสึอิ ผู้เขียนหนังสือ “เพราะไม่มีอะไร จึง “มีอะไร” | MUJI” ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของแบรนด์มูจิ เป็นผู้ปฏิวัติระบบการทำงานในยุคขาดทุน จนทำกำไรสูงสุด และขยายไป 29 ประเทศทั่วโลก 😊
ทำให้ความธรรมดา กลายเป็นสิ่งไม่ธรรมดาและอยู่ในใจใครหลายๆคนทั่วโลก
MUJI
เอาละนะ เริ่มจาก….
มูจิ ไม่รีบร้อนในการขยายสาขาไปต่างประเทศ หากแต่ขยายกิจการอย่างมั่นคง
1. การนำเสนอตัวตนของแบรนด์ เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้สินค้าขายได้ในต่างประเทศ ดังนั้นทุกคนจะรู้สึกเหมือนกันว่า มูจิเป็น “แบรนด์ระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น” อย่างชัดเจน
2. เราไม่อาจมองเห็นรูปแบบแห่งชัยชนะได้ หากไม่สั่งสมรูปแบบการพ่ายแพ้ไว้จนถึงระดับหนึ่ง ดังนั้นความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง จะทำให้ค้นพบวิธีที่จะประสบความสำเร็จ(ซึ่งมูจิเองก็ล้มเหลวในการดำเนินกิจการในต่างประเทศติดต่อกันถึง 11 ปีทีเดียว)
ความนิยมชื่นชมในแบรนด์ ในแต่ละพื้นที่ไม่ได้บ่งบอกถึงกำไรในทุกๆที่เสมอไป ค่านิยม รายได้ อัตราผู้สูงอายุ การว่างงาน สภาพเศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันจะส่งผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น…
3. บางที “ของดี” ไม่ใช่ของที่ต้องล้ำอะไรมากมาย อาจจะเป็นแค่เพียงของที่ตอบสนองความต้องการ การใช้งานพื้นฐานดั้งเดิมและมีประโยชน์ที่คิดมาอย่างดีและใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้ ซึ่งจะก้าวข้ามผ่านจากของใช้ชีวิตประจำวันสู่งานดีไซน์มากขึ้น
4. ถึงแม้ไม่เน้นความหรูหรา แต่ต้องคงคอนเซ็ปต์ให้ชัดเจนเและสร้างสินค้าภายใต้คอนเซ็บต์นั้นให้ได้ แม้จะเป็นสินค้าต่างแดนหรือหน้าใหม่ก็จะมีคนชื่นชม
มูจิ “ทำจนกว่าจะสำเร็จ” ด้วยความรวดเร็วและแน่นอน และต้องกลับมาวิเคราะห์ข้อผิดพลาด โดยไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว ดังนั้น…
5. เลือกตลาดที่เอื้อต่อการชนะ ถึงแม้ว่าต้นทุนตลาดจะสูงกว่าไปบ้างก็ตาม
6. ก้าวแรกสำคัญเสมอ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ถ้าเสียไปแล้วกลับมาเหมือนเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ยากกว่า
7. หนทางเดียวที่จะอยู่รอด ถึงแม้ความจริงเราควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความล้มเหลว ก็คือ “พยายามไปจนกว่าประสบความสำเร็จ”
กฏหลักของการเป็นผู้เริ่ม จะบุกตลาดที่ไหน เมื่อไหร่ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพียงแต่ว่ามีกฏอยู่ข้อหนึ่งคือ
8. รุกตลาดก่อนคู่แข่ง (Early Entry) เข้าไปในช่วงที่กำลังเติบโตจะมีโอกาสสำเร็จสูงกว่ารอให้โตไปแล้ว การยึดหัวหาดได้ก่อนจะนำมาซึ่งชัยชนะและส่วนแบ่งตลาดที่มาก
9. เคล็ดลับ 7 ข้อ ที่จะเอาชนะตลาดได้ คือ
1️⃣ “เอกลักษณ์และความเป็นต้นแบบ ต้นตำรับ” Originality อะไรที่คู่แข่งไม่มี การเป็น Only one ที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจ สินค้าและบริการ จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ความเป็นต้นแบบที่ไม่มีใครเหมือน บางครั้งจะช่วยในการสร้างความร่วมมือกับคู่แข่งที่ต่างคนก็มีของดีที่ต่างกัน จนสำเร็จกันทั้งสองฝ่าย การไปแข่งในสิ่งที่แข่งได้ยาก อาจจะสูญเปล่าก็ได้
2️⃣ “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ให้มองว่าโลกเราไม่มีตลาดสากล (Global Market) มีแต่ตลาดท้องถิ่น (Local Market) สุดท้ายการจะเป็นองค์กรระดับโลกก็คือ การปรับธุรกิจให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ อย่าแค่คิดว่า “แบบนี้คงขายได้” ต้องลงพื้นที่จริงเท่านั้น ตอบสนองความต้องการแบบยืดหยุ่น
3️⃣ สามสิ่งที่ขับเคลื่อนสู่ตลาด และขยายไปยังต่างประเทศได้ ได้แก่…
แบรนด์ = ความน่าเชื่อถือ การชนะโดยไม่มีพลังของแบรนด์เป็นเรื่องยาก
โมเดลธุรกิจ ที่ใช้ได้ผล อย่างมูจิผลิตสินค้าเอง จำหน่ายเอง จะตอบสนองความต้องการลูกค้าได้โดยตรง และกำไรขั้นต้นจะสูงกว่า
ความสามารถในการดำเนินการ มูจิใช้เสน่ห์และพลังหน้าร้าน ผสมผสานสินค้าให้เข้ากับความต้องการในแต่ละพื้นที่ และมีความยืดหยุ่น
4️⃣ ให้ความสำคัญกับต้นทุนก่อนเสมอ รวมถึงการรับมือกับความเสี่ยงจากสิ่งที่ไม่คาดคิดเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
5️⃣ คู่มือที่มีหลักเกณฑ์ในการเปิดร้านใหม่ เรียกว่ามูจิแกรม จะแบ่งเป็น 3-5 ระดับ พร้อมให้คะแนน ว่าด้วยเรื่อง ระยะทาง จำนวนลูกค้า ขนาดพื้นที่ มีคาราโอเกะ มีโรงหนัง จำนวนร้านเช่า ชื่อเสียงของร้าน นั่นก็คือสภาพแวดล้อม พร้อมปรับปรุงและทบทวนหลักเกณฑ์เสมอๆ
1
6️⃣ ปรับความเร็วในการขยายสาขาให้เข้ากับความเร็วที่แบรนด์เป็นที่รับรู้ของตลาดแต่ละพื้นที่ เช่นยุโรปต้องใช้ความเร็วต่ำ ในขณะที่เอเชียต้องใช้ความเร็วสูงแบบรถด่วนพิเศษ
7️⃣ การคัดเลือกพนักงานไปประจำแต่ละพื้นที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ อย่างแรกต้องเต็มใจไป อาจจะมีระยะทดลอง 3 เดือนก่อน รวมถึงการอบรมทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ หากแต่ว่าภาษาเป็นสิ่งที่ฝึกฝนทีหลังได้ เลือกคนที่เข้าตลาดนั้นและทำผลงานได้ดีน่าจะดีกว่า
สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความเป็นมูจิ คือ “แนวคิด” เป็นการบ่งบอกถึงภาพรวมทั้งหมด เรียกว่าแก่นขององค์กรก็ได้ แนวคิดถัดมาก็คือ…
10. การบริการแบบญี่ปุ่นเน้นความใส่ใจ มีน้ำใจ เป็นข้อดีที่ได้เปรียบ นี่คือการส่งออกความดีแบบญี่ปุ่น
11. มูจิได้รับการยอมรับเรื่องความเรียบง่าย ไม่ว่าประเทศไหนก็แสดงถึงแนวคิดนี้ เน้นการใช้งาน เป็นการอุทิศตัวเพื่อสังคมผ่านการค้าขาย แต่สามารถปรับแนวคิดย่อยให้เข้ากับยุคสมัย และผลิตสินค้าที่พูดได้ว่า “อันนี้ก็ดี” ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจ
12. ไม่ได้ขายสินค้า แต่ขายการใช้ชีวิต เมื่อสินค้ามีอิทธิพลไปถึงวิถีชีวิต ก็ไม่มีอะไรที่เป็น “จุดแข็ง” ไปมากกว่านี้แล้ว อย่ารอให้วัฒนธรรมใหม่สุขงอม ต้องไปตอกเสาเข็มสร้างวัฒนธรรมตั้งแต่เนิ่นๆ
13. แต่สินค้าที่เรียบง่ายอย่างเดียวเอาชนะใครไม่ได้ ปรัชญาต่างหากที่ดึงดูดผู้ที่มีค่านิยมร่วม ผู้คนเหล่านี้รับรู้ เข้าใจ และใช้สินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริงๆไม่ได้เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมาย แต่เป็นการโฟกัสมากกว่า ดังนั้นควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจง
1
14. สร้างสินค้าที่ “ใช้แทนอะไรก็ได้” เช่นแก้วหนึ่งใบ จะใช้เป็นแจกัน ใส่เครื่องประดับ ใส่ลิปติก แปรงเครื่องสำอางก็ย่อมได้
1
15. ให้ความสำคัญกับสี สีขาว ดำ แดง ก็มีหลายเฉดให้ความรู้สึกต่างกัน โดยเฉพาะในแต่ละฤดูกาล
16. ไม่ได้ “สร้างใหม่” ขึ้นมา แต่ “เสาะหาและนำมาใช้” มูจิค้นหาของที่แทรกซึมในชีวิตประจำวัน เสาะหาของดีที่หยั่งรากมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทั่วโลก เรียนรู้ และกลั่นกรองเป็นสินค้าแบบมูจิ เช่นถุงเท้า 90 องศาที่ขายดีเพราะสบายกว่า 120 องศาที่ขายๆกัน
17. MUJISM ไร้พรมแดน แทรกซึมปรัชญาของแบรนด์เข้าไปในแต่ละพื้นที่อย่างไร้รอยต่อ เช่น การทักทาย ถึงเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่เข้าใจได้ว่ายินดีต้อนรับและอบอุ่นใจ ถ้าเห็นห้องลองเสื้อผ้ามีฝุ่น ก็รีบเอาไม้กวาดมากวาดแสดงถึงความใส่ใจ
18. การประชาสัมพันธ์โดยไม่ต้องโฆษณามีพลังในการบอกต่อสูง เช่นการบรรยายผ่านผู้ที่มีชื่อเสียงที่เป็นแฟนของแบรนด์ แม้แต่ลูกค้าก็ยังอธิบายแนวคิดของมูจิออกมาได้ ผ่านแท็กคำอธิบายเรื่องราวของสินค้าสั้นๆ
19. คนที่บุกเบิกทำงานต่างพื้นที่หรือต่างประเทศได้ มีคุณสมบัติ 8 ข้อ ดังนี้
1️⃣ เป็นผู้ริเริ่ม หรือ Innovator
2️⃣ ความสามารถในการลงมือปฏิบัติ
3️⃣ ความสามารถในการทำให้ถึงที่สุด
4️⃣ ความสามารถในการค้นหาเนื้อแท้
5️⃣ อ่านเกมออก
6️⃣ ความสามารถในการมอบหมายงาน
7️⃣ ความสามารถในการจัดการหน้างานและข้อเท็จจริง
8️⃣ ความกล้าหาญ
20. นอกจากตัวเองแล้ว คอนเน็กชั่นก็เป็นเรื่องสำคัญในตลาดใหม่ที่เรายังรู้อะไรๆไม่เท่าเทียมกับเจ้าของพื้นที่
21. การที่จะทำให้คนมีไฟไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นความเร่าร้อนกระตือรือร้นต่างหาก
22. ในการเจรจา ภาษาไม่ได้สำคัญที่สุดหากแต่เป็นการสื่อสารโดยตรงกับคู่เจรจา โดยมีจุดยืนที่ชัดเจน ถูกกฎหมาย ไม่ตุกติก ยุติธรรม และจริงใจ
23. “บริษัทที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศไม่ได้ ก็จะอยู่รอดในประเทศไม่ได้” ท่ามกลางโลกที่มีการติดต่อกันตลอดเวลา หากไม่สามารถต่อสู้กับคู่แข่งระดับโลกให้รอดได้ ก็เอาตัวรอดในประเทศไม่ได้เช่นกัน
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “เพราะไม่มีอะไร จึง “มีอะไร” | MUJI” แล้วจะวางไม่ลงเลยทีเดียว ^^
หวังว่า 23 แนวคิดดีๆจากมูจิ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาว Moonday เตรียมตัวต้อนรับปี 2023 อย่างสร้างสรรค์และมีพลังกันทุกคนเลยนะ ❤️
1
หนึ่ง Moonday (อภิรดา เบ็ญจฆรณี)
^_________________________^
ติดตามเราอีกหนึ่งช่องทาง
#CreativeMoonday
#UnlockCreativity
#CreativeLeadership
#CreativeCollaboration
#MUJI
โฆษณา