29 ธ.ค. 2022 เวลา 08:23 • ข่าวรอบโลก

เปิดเบื้องหลังการเตรียมการศูนย์ข่าวช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

สัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Week: AELW) ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก ซึ่งจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดบทบาทของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ที่ล้วนมีความสำคัญและส่งเสริมความสำเร็จโดยรวม
โดยที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน วันนี้ผมจึงขอพาทุกท่านไปรับฟังเรื่องราวเบื้องหลังการจัดเตรียมศูนย์ข่าว (Media Center) ซึ่งเป็นสถานที่หลักของสื่อมวลชนในช่วง AELW ผ่านการสัมภาษณ์คุณมาระตี นะลิตา อันดาโม ผู้อำนวยการกองประมวลและวิเคราะห์ข่าว หรือ ผอ.ตู่ ครับ
ผู้อ่านสามารถรับฟังรายการย้อนหลังเป็นภาษาอังกฤษได้ที่: https://www.facebook.com/watch/?v=839542593762958&extid=CL-UNK-UNK-UNK-AN_GK0T-GK1C&ref=sharing
 
และเป็นภาษาไทยได้ที่:
ศูนย์ข่าว (Media Center) ที่มา: Facebook APEC 2022
การจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชนมาพร้อมกับแนวคิดที่จะต้องให้ได้ใช้พื้นที่ชั้น LG ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ให้มีประสิทธิภาพ ก่อนอื่น ต้องออกแบบให้เป็นสถานที่ทำงานให้กับสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ที่ “พร้อมใช้งาน” หรือ “fit for purpose” ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับประเด็นที่หลากหลาย
ทั้งเรื่องการจัดสรรพื้นที่ทำงานให้กับทุกคน การให้บริการเชิงเทคนิคแก่ผู้สื่อข่าว การจัดเตรียมบูธทำงานสำหรับสื่อมวลชน หรือ ‘media booth’ การประสานงานเรื่องจอภาพขนาดใหญ่ภายในศูนย์สื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ภาพและออกอากาศสดจากห้องประชุม และแสดงตารางกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้งมีเวทีสำหรับการแถลงข่าวและที่นั่งให้สื่อมวลชนได้รับชม ตลอดจนบริการ QR Code เพื่อแบ่งปันข้อมูลและเอกสารสำคัญต่าง ๆ จากที่ประชุม
การบริการอาหารไทยและนวดแผนไทยที่ศูนย์ข่าว (ที่มา: Facebook กระทรวงการต่างประเทศ และ APEC 2022)
ขณะเดียวกัน ศูนย์สื่อมวลชนจะต้องเป็นเสมือนพื้นที่ผ่อนคลายและสันทนาการ เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่สื่อมวลชนด้วย จึงมีทั้งบริการอาหารวันละสามมื้อและของว่าง ประกอบด้วยอาหารไทยและนานาชาติที่หลากหลาย อาหารฮาลาล และมังสวิรัติ รวมถึงมีบริการนวดแผนไทยที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี สื่อมวลชนและผู้แทนเขตเศรษฐกิจจองคิวเต็มตลอดทั้งวันและทุกวัน
อีกหนึ่งประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญ คือศูนย์สื่อมวลชนต้องเป็นสถานที่ที่สื่อมวลชนจะสามารถมีส่วนร่วม และเข้าถึงประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันได้อย่างแท้จริงตลอดทั้งปีของการเป็นเจ้าภาพ จึงเป็นเหตุผลที่เราออกแบบศูนย์สื่อมวลชนให้เป็นศูนย์สื่อมวลชนสีเขียว ที่มีทีมงานคำนวณและรายงานปริมาณการลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละวัน ซี่งทำให้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจและนำไปรายงานอยู่บ่อยครั้ง
ภาพโครงการ Care the Bear และการคำนวนปริมาณลดการปล่อยคาร์บอน (ที่มา: Facebook APEC 2022)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งบูธของพันธมิตรด้านการสื่อสารการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค (APEC Communication Partner) ในศูนย์สื่อมวลชน จำนวนประมาณ ๓๑ บูธ สะท้อนความร่วมมือที่พันธมิตรแต่ละรายได้สร้างสรรค์ในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจบีซีจี ตัวอย่างเช่น บริษัท บางจากฯ มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ชื่อว่า วินโนหนี้ “Winnonie” มาจัดแสดงและให้บริการทดลองนั่งภายในศูนย์สื่อมวลชน
มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า Winnonie ที่มา: Facebook Winnonie วินโนหนี้
ในช่วงก่อนสัปดาห์ AELW ทีมงานกรมสารนิเทศจึงต้องเตรียมการหลายอย่าง โดยเฉพาะเพื่อรองรับและสนับสนุนสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนทั้งหมด ๒,๑๑๗ ราย เป็นสื่อไทย ๙๒๘ ราย สื่อต่างประเทศที่พำนักในไทย ๑๐๔ ราย และสื่อต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อทำข่าว ๑,๐๘๕ ราย อาทิ
(๑) การจัดเตรียมสถานที่ ติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศูนย์สื่อมวลชน ทั้งสำหรับบูธทำงานของสื่อมวลชน บูธของพันธมิตร และพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี
(๒) เผยแพร่กำหนดการของสื่อมวลชน (Media Opportunities) ว่าในแต่ละกิจกรรมของช่วงสัปดาห์การประชุม มีส่วนใดที่เหมาะสมแก่การเชิญชวนให้สื่อมวลชนมาทำข่าวได้ ไปจนถึงการให้ข้อมูลสำคัญ ๆ สำหรับบางกิจกรรม อาทิ งานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Gala Dinner) การประชุมกับผู้นำเอกชน (CEO Summit) และ
(๓) ประสานงานกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นเบื้องต้น เพื่อให้สื่อสามารถเข้ามาเก็บภาพและทำข่าวได้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารจำเป็นเพื่อเข้างาน การขอวีซ่า การลงทะเบียนสื่อ หรือข้อมูลบริการด้านเทคนิคภายในศูนย์สื่อมวลชน
แต่กว่าจะเป็นศูนย์สื่อมวลชนอย่างที่เราเห็นกันได้นั้น ต้องอาศัยการเตรียมการหลายอย่างมาก ตั้งแต่การจัดเตรียมการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ เตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในการแถลงข่าวโดยโฆษกและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ข้อมูลจะส่งไปถึงทุกคนได้ โดยมีตัวกลางในการประสานงานเบื้องต้น คือ คู่มือสื่อมวลชน หรือ Media Handbook ที่ระบุรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ สำหรับสื่อมวลชนทุกคนเพื่อให้รับทราบถึงกำหนดการการประชุมและข้อมูลอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรายงานข่าว
ในช่วง AELW กรมสารนิเทศ นำโดยกองการสื่อมวลชน เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชน ทั้งภายในศูนย์สื่อมวลชนและการพาสื่อมวลชนทั้งหมดขึ้นไปเก็บภาพและทำข่าวในห้องประชุม รวมถึงการสนับสนุนด้านการรักษาความปลอดภัยจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาล
นอกจากนี้ กองการสื่อมวลชนยังต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานของสื่อมวลชนออกมาอย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะทำให้การประชุมไม่จบเพียงแค่ในห้องประชุม แต่ทุกผลลัพธ์ความสำเร็จ อาทิ ปฏิญญาผู้นำที่สามารถออกได้ในปีนี้ และทุกประเด็นที่ไทยต้องการผลักดัน จะได้รับการสานต่อ และเป็นที่ทราบโดยทั่วกันในหมู่ประชาชนทุกคน
การแถลงข่าวจากศูนย์ข่าว (ที่มา: Facebook APEC 2022)
ขณะเดียวกัน กองประมวลและวิเคราะห์ข่าวมีบทบาทหลักในการจัดเตรียมการแถลงข่าว สำหรับทุกการประชุมสำคัญ ตั้งแต่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials Meeting: SOM) การประชุมในระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำ ซึ่งผ่านไปได้อย่างราบรื่นด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย
อย่างไรก็ดี ผอ.ตู่เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการประชุมใหญ่ ๆ เช่นนี้ คือ ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการมีกำหนดการที่พลิกผันได้ตลอดเวลา ทำให้ทีมงานทุกคนต้องเตรียมพร้อมที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ความท้าทายก็ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกของการประชุม จากเหตุการณ์ที่การประชุมหลายรายการเริ่มขึ้นช้ากว่ากำหนด ทีมงานจึงต้องจัดสรรเวลาและกำหนดการขึ้นมาใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สื่อยังสามารถเก็บภาพการประชุมได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงกำหนดการให้สื่อรับทราบโดยทั่วกันได้อย่างเร็วที่สุด
ภาพการจัดแยกบัตรผ่านสื่อมวลชน
อีกหนึ่งประเด็นความท้าทายสำหรับกรมสารนิเทศ คือ มาตรการด้านความปลอดภัยที่มีการปรับเพิ่มในบางช่วง ซึ่งกระทบกับกระบวนการจัดทำบัตรผ่านของทีมงานสื่อมวลชน จึงต้องมีการประสานงานกับคณะทำงานเอเปค (APEC Task Force) เพิ่มเติม อย่างเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินงานด้านบัตรผ่านสื่อมวลชนยังคงสามารถออกมาอย่างราบรื่นที่สุด ดังนั้น พี่ตู่เล่าว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้ คือ ต้องรู้จักที่จะมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ และต้องสื่อสารกับทุกฝ่ายอยู่ตลอด
กิจกรรมล่องเรือสำราญ (ที่มา: Facebook กระทรวงการต่างประเทศ และ APEC 2022)
สำหรับผลสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ การออกเอกสารผลลัพธ์การประชุมทั้งสามฉบับเป็นไฮไลต์สำคัญของความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพในปีนี้ และยังมีกิจกรรมสำหรับสื่อมวลชนที่กรมสารนิเทศจัดขึ้น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของทีมด้วย อาทิ กิจกรรมล่องเรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเสิร์ฟอาหาร “Sustainable Future Food” การสาธิตมวยไทย ที่มีนักมวยชื่อดัง “บัวขาว บัญชาเมฆ” เข้าร่วม รวมถึงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทย เป็นต้น โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากทีมงานทุกคนที่ต่างมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่
การสาธิตมวยไทย และแฟชั่นโชว์ (ที่มา: Facebook กระทรวงการต่างประเทศ และ APEC 2022)
ผอ.ตู่ปิดท้ายว่า แม้จะประสบกับความท้าทายและอุปสรรคมาไม่น้อย แต่ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของทีมงานกรมสารนิเทศและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนและการบริหารจัดการศูนย์สื่อมวลชนผ่านไปได้ด้วยดี ตลอดจนภายหลัง AELW ก็ปรากฏการเผยแพร่ภาพข่าวและเนื้อหาเกี่ยวกับการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดย ผอ.ตู่หวังว่า การจัดเตรียมและการดำเนินการสำหรับการประชุมในครั้งนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการทำงานร่วมกัน และเป็นบทเรียนสำหรับกิจกรรมใหญ่ ๆ สืบไปในอนาคต
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา