31 ธ.ค. 2022 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์

🩴โรโดพิส: ตำนานซินเดอเรลล่า (รองเท้าแตะ) เวอร์ชั่นแรกในโลก

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสาวใช้ผู้งดงามนางหนึ่งผู้มีนามว่าโรโดพิส ขณะที่นางกำลังอาบน้ำชำระล้างร่างกายที่แม่น้ำไนล์อยู่นั้น เทพเจ้าซุสก็ได้ส่งนกอินทรีบินโฉบลงมาเพื่อคาบเอารองเท้าแตะข้างหนึ่งของนางไป
นกอินทรีตัวนี้นำรองเท้าแตะของโรโดพิสไปถึงเมืองเมมฟิส (Memphis) ซึ่งในระหว่างนั้นองค์ฟาโรห์กำลังตัดสินคดีความอยู่ในที่โล่งแจ้ง นกอินทรีเมื่อบินอยู่เหนือหัวของฟาโรห์จึงได้ปล่อยรองเท้าแตะข้างนั้นลงบนตักของฟาโรห์แห่งอียิปต์ได้อย่างเหมาะเหม็ง ซึ่งการที่รองเท้าแตะของสตรีจะหล่นลงมาจากฟากฟ้าไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้ทุกวัน
กษัตริย์แห่งอียิปต์เชื่อว่านี่คือสัญญาณที่เทพเจ้าจากสวรรค์ส่งลงมาให้ อีกทั้งยังถูกปลุกเร้าจากความงดงามของเรียวเท้าเมื่อเห็นรองเท้าแตะ ดังนั้น พระองค์จึงส่งบรรดาผู้รับใช้ไปเสาะแสวงหาเจ้าของรองเท้าแตะคู่นี้ทั่วสารทิศ และเมื่อไปพบนางผู้นี้เข้าที่เมืองนอเครติส (Naucratis) นางจึงถูกนำตัวไปยังเมืองเมมฟิส ฟาโรห์เมื่อได้ประสบพบพักตร์ก็ตะลึงในความงามของนาง โรโดพิสจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีคู่กายของพระองค์
นี่คือเรื่องเล่าของซินเดอเรลล่าเวอร์ชั่นอันแสนจะเก่าแก่ของโลกโบราณ ไม่มีนางฟ้าแต่เป็นเทพเจ้า ไม่มีรองเท้าแก้วแต่เป็นรองเท้าแตะ และเชื่อว่าตำนานนี้มีที่มาจากบุคคลที่มีตัวตนจริงคือสตรีนามว่า โรโดพิส (Rhodopis) และเรื่องก็ไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งไปตลอดกาล
ตำนานนางซินยุคโบราณนี้เป็นของชาวโรมันที่เล่าขานกันมา โดยถูกบันทึกเป็นครั้งแรกโดยนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่ชื่อว่า สตราโบ (Strabo)
รองเท้าแตะของชาวอียิปต์โบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่รองเท้าของโรโดพิส แต่นำมาเป็นภาพประกอบตำนานนางซินยุคโบราณ (Wikipedia)
🩴โรโดพิสตัวจริงในประวัติศาสตร์
ความจริงกับตำนานในเทพนิยายนั้นต่างกันลิบลับ และออกจะน่าตกตะลึงอยู่บ้าง เพราะตำนานเรื่องนี้นำเค้าโครงมาจากโรโดพิสที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์แต่นางไม่ใช่ชาวอียิปต์ นางมาจากดินแดนที่ชื่อว่า เธรส (Thrace) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประเทศบัลแกเรีย และชีวิตนางไม่ได้ลงเอยด้วยการเป็นราชินี แต่นางเป็นโสเภณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคโบราณ
โรโดพิสเป็นโสเภณีประเภทหนึ่งของกรีกโบราณที่เรียกว่า ฮิไทรา (Hetaira) ซึ่งมิได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทางเพศอย่างเดียว แต่ยังเป็นทั้งศิลปิน ผู้สร้างความบันเทิง และเป็นคู่สนทนาให้กับลูกค้าไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเหล่าโสเภณีกลุ่มนี้มักจะได้รับการศึกษาสูงและได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในที่พบปะชุมนุมของเฉพาะบุรุษได้ด้วย
ส่วนท้องเรื่องจริงเกิดขึ้นในดินแดนอียิปต์โบราณอันมั่งคั่ง ส่วนพระเอกของเรื่องคือฟาโรห์แห่งอียิปต์นั้นก็คือฟาโรห์เชื้อสายกรีกในราชวงศ์ปโตเลมี (แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นปโตเลมีที่เท่าไหร่ เพราะตำนานไม่ได้ระบุไว้) ซึ่งมีเชื้อสายกรีกสืบทอดมาจากแม่ทัพของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชที่ทรงแต่งตั้งให้ปกครองอียิปต์หลังจากทรงยึดครองได้มาตั้งแต่ปีที่ 305-30 ก่อนคริสตกาล ซึ่งผู้ปกครองคนสุดท้ายของราชวงศ์นี้คือคลีโอพัตรานั่นเอง
แต่บางที่ก็ระบุชื่อฟาโรห์แตกต่างกันไปตามเวอร์ชั่นใครเวอร์ชั่นมัน เช่น เฮโรโดตัส (Herodotus) บอกว่าเป็นฟาโรห์นามว่า อาห์โมสที่ 2 (Ahmose II) แถมเรื่องตัวตนของโรโดพิสก็ถูกเล่าแบบจับแพะชนแกะน่าดู แต่ที่เรียบเรียงมาให้อ่านแบบผสม ๆ กันมีใจความดังนี้
หินอ่อนชื่อว่า RHODOPIS โดย CHARLES FRANCIS FULLER รังสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1862 (christies.com)
🩴โรโดพิสหญิงงามเมือง
โรโดพิส แปลว่า สาวแก้มแดงราวกับกุหลาบ นางถูกขายให้เป็นทาสตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงแก่พ่อค้าทาสคนกลางที่เดินทางมาจากเกาะในทะเลอีเจียนที่เรียกว่าเกาะเซมอส (Samos)
ในชั้นแรก นางเป็นทาสร่วมนายเดียวกันกับอีสป (Aesop) ที่เกาะเซมอส ซึ่งน่าจะใช้นางเป็นทาสกามบำเรอลูกค้าแล้วเก็บรายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง ใช่แล้ว อีสปผู้นี้คือนักเล่าเรื่องลิ้นทองที่เรื่องเสียดสีของเขากลายมาเป็นนิทานสอนใจให้พวกเราอ่านกันในวัยเด็กคนนั้นนั่นเอง ถ้าใครไม่รู้จักอีสปแสดงว่าเกิดมาแล้วแก่เลย
1
อีสปผู้นี้ได้แอบมีสัมพันธ์ทางเพศกับโรโดพิส ทั้งคู่กลายเป็นคู่รักแบบลับ ๆ ของกันและกัน แต่หลังจากนั้นโรโดพิสก็ถูกพรากจากอีสปด้วยการขายให้แก่พ่อค้าทาสชาวเกาะเซมอสอีกคนชื่อว่าซานธีส (Xanthes) ซึ่งเป็นผู้นำนางไปยังอียิปต์เพื่อหารายได้ต่อ
1
โรโดพิสได้ไปอยู่ในเมืองนอเครติส (Naukratis) อันเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าของพ่อค้าชาวกรีกที่ค้าขายกับชาวอียิปต์ เป็นโชคดีของโรโดพิสที่นางสามารถอัพเกรดจากทาสกามกลายเป็นโสเภณีชั้นสูงสำหรับคนชั้นสูงและร่ำรวยได้ เหตุเพราะนางได้พบกับผู้อุปถัมภ์ที่ร่ำรวยผู้หนึ่งนามว่า คาราซอส (Charaxos) ซึ่งมีน้องสาวนามว่าแซโฟรแห่งเลสบอส (Sappho of Lesbos) กวีหญิงผู้โด่งดังอันชื่อของเกาะนั้นกลายเป็นที่มาของคำว่าเลสเบียนนั่นเอง (สามารถอ่านเรื่องนี้ได้ในเรื่องเล่าก่อนหน้าเรื่องนี้ซีรีย์เดียวกันนี้แหละ)
คาราซอสเดินทางไปยังเมืองนี้เพื่อค้าไวน์ เมื่อได้พบกับโรโดพิสเขาตกหลุมรักนางเข้าอย่างจังและลุ่มหลงในตัวโรโดพิสมาก แต่ความหน้ามืดตามัวนี้ก็นำทุกข์โศกมาให้แก่คาราซอสอย่างยิ่งยวด
เรื่องมีอยู่ว่าคาราซอสตกหลุมรักโรโดพิสมากจนนำเงินจำนวนมหาศาลไปไถ่ตัวนางมาจากเจ้าของเดิมแล้วปลดปล่อยนางจากความเป็นทาส เท่านั้นยังไม่พอ แซโฟรยังเล่าว่านางได้ปอกลอกเอาสมบัติพี่ชายนางไปหมด แถมยังแต่งกลอนล้อเลียนพี่ชายที่พาตัวเองไปพัวพันกับนางผู้นี้ แต่ปรากฏว่าเมื่อเป็นไทโรโดพิสไม่มีความต้องการจะตามเขากลับบ้านเกิดไป นางไม่ต้องการไปจากอียิปต์
แต่ในเรื่องเล่านี้นั้นแซโฟรเรียกผู้หญิงที่ปอกลอกพี่ชายของนางนั้นว่า ดอริกา (Doricha) ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นคนละคนกัน แต่บ้างก็เชื่อว่าเป็นคนเดียวกันแต่ชื่อนี้เป็นชื่อที่โดโรพิสใช้ในวงการเวลารับแขก
ภาพนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The beautiful Rhodope in love with Aesop” ที่รังสรรค์โดยศิลปินชาวฟลอเรนซ์ชื่อว่า Francesco Bartolozzi เมื่อปี 1782 (Wikipedia)
🩴ราชินีหรือโสเภณี
หลังจากได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส โรโดพิสลงหลักปักฐานสร้างชีวิตใหม่ที่อียิปต์จนไต่เต้าได้เป็นโสเภณีชั้นสูง และรายได้หนึ่งในสิบส่วนที่นางหามาได้นั้นได้นำไปถวายให้กับวิหารแห่งเมืองเดลฟีที่บูชาเทพเจ้าอะพอลโล โดยแปลงเงินนี้เป็นเหล็กเสียบเนื้อย่างสัตว์เพื่อบูชาเทพเจ้าส่งไปยังวิหารแห่งเดลฟี
เรื่องเล่าต่อมาแตกต่างกันไป เวอร์ชั่นหนึ่งบอกว่าโรโดพิสได้เป็นถึงราชินีแห่งอียิปต์ ซึ่งตรงเรื่องเล่าส่วนนี้แลที่นำไปเป็นตำนานกล่าวขานว่านางเป็นนางซินที่นกอินทรีมาคาบเกิบหรือแตะคีบนางไปข้างหนึ่ง และมีเรื่องเล่าไปอีกใหญ่โต (แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง) ว่าพีระมิดที่ 3 แห่งเมืองกิซ่านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อถวายแต่องค์ราชินีผู้นี้นั่นเอง
แต่บางเวอร์ชั่นไม่ได้บอกว่านางเป็นราชินี แต่ระบุความยิ่งใหญ่ของความเป็นหญิงงามเมืองผู้ป็อบปูลาร์ว่านางสร้างฐานะจากการเป็นโสเภณีชั้นสูงที่มีชื่อเสียงและมั่งคั่ง แถมยังได้สุสานเป็นถึงพีระมิดทีเดียวเชียว ว่าเมื่อโรโดพิสสิ้นชีวิต บรรดาคู่ขาผู้เต็มไปด้วยความโศกเศร้าจากการจากไปของนางได้รวมตัวกันเพื่อจ่ายเงินสร้างพีระมิดน้อย ๆ เป็นสุสานแก่นาง แม้โรโดพิสจะไม่ได้เป็นราชินีตามตำนาน แต่บรรดาคู่ขาของนางก็สร้างสถานที่ฝังศพให้แก่นางดั่งราชินี
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ในเวลาต่อมาเรื่องราวของโรโดพิสได้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างผลงานศิลปะทั้งภาพวาดและรูปปั้นออกมาหลายชิ้น และหลายคนเชื่อว่าตำนานของสตรีผู้นี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนิทานซินเดอเรลล่าในยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
ภาพนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “King Psammeticus of Egypt in Love with Rhodope” ที่รังสรรค์โดยศิลปินชาวฟลอเรนซ์ชื่อว่า Francesco Bartolozzi เมื่อปี 1782 (Wikipedia)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา