1 ม.ค. 2023 เวลา 03:11 • ความคิดเห็น
ตามปกติทั่วไปของปุถุชน สาธุชน จิตของเราอยู่ใต้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ที่เค้าเรียก อารมณ์กรรม อารมณ์นึกคิดต่างๆ ที่เราเรียนรู้จัก นั่นมันเป็นเรื่องราวของชีวิตที่มีกรรม ..กรรมที่ไหลออกจากเรือนกาย เป็นอารมณ์ กายที่เคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ สติของเราก็ตามอารมณ์ จิตของเราก็ถูกอารมณ์ บังคับให้สั่งกาย เคลื่อนไหวไปตามอารมณ์ เช่น มีอารมณ์โกรธโมโห ..กิริยาของกายวาจาใจ ที่เคลื่อนไหวก็เป็นไปตามอารมณ์โกรธ ..เมื่อใช้อารมณ์โกรธไปแล้ว เสียทีอารมณ์ไป สร้างเวรกรรมแล้ว อารมณ์โกรธนั่นก็สงบลงไป เหมือนนอนหมอบอยู่ข้างจิต
เวลา..เจอเหตุการณ์ ทำให้หงุดหงิด ไม่พอใจ อารมณ์โกรธ..ก็ลุกขึ้นมาอีก จิตก็ทำตามอารมณ์โกรธอีก เรื่องราคะ โทสะ โมโห ก็ทำนองเดียวกัน ที่เค้ามีลักษณะเฉพาะตัว จนเป็นนิสัย ..เป็นนางมารร้าย นางอิจฉา นักเลงอันธพาล…มากมายก่ายกอง นั่นก็ด้วยอารมณ์ ที่เราอยู่กับอารมณ์ แต่จิตของเราตัวเราเองไม่รู้จักอารมณ์ ที่เค้าเปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่นน้ำใส สิ่งสกปรกอยู่ในน้ำ ก็คืออารมณ์ น้ำนั่นก็คือ จิต ..จิตที่เป็นน้ำใสสะอาด . ก็เป็นจิตของผู้ที่มีธรรม อารมณ์ก็ไม่มีปรุงแต่ง จิตก็เฉย..เป็นบรมสุขของจิตผู้มีธรรม
การประพฤติธรรม นั่งสมาธิ เดินสมาธิ เราต้องการ ให้จิตของเรามีสติ เป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์นึกคิด เรื่องราวต่างๆออกไป เพราะนั่นคือ อารมณ์ ..แล้วก็เห็นอารมณ์ นั่นเป็นตัวกรรม
คราวนี้ เมื่อเรามาฝึกหัด ปฏิบัติ เราก็ต้องปฏิเสธอารมณ์นั่นออกไปก่อน ..ซึ่งเราต้องเพียรกระทำ ..ให้สติของเรามาอยู่ มายึดในคำว่าพุทโธ ที่ไม่มีอะไรให้ยึด ที่ในความหมาย ของคำว่าพุทโธ นั่นเป็นจิตของพระ ไม่มีอะไรเลย ทำกายให้นิ่งเฉย สงบ ปล่อยความยึดถือ มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ยึด มีเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ยึด ..ก็รักษาจิตนิ่งๆ กายนิ่ง..ไปจนครบกำหนดเวลาที่เราตั้งใจปฏิบัติธรรมทำสมาธิ..ไม่ต้องพิจารณาอะไรมากมาย เพราะอารมณ์นึกคิดมันคอยทีปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆมากมาย มันไหลออกมาหลอกจิต ถ้าเขียนได้เป็นเล่มเกวียนไม่มีจบ
ในคำว่าสมาธิ กระทำให้จิตเรามีปัญญา รู้จักอารมณ์ของตัวเราเอง..รู้จักกายที่เราอาศัย รู้จักเรื่องสติของจิต นั่นเป็นอย่างไร มันจึงต้องฝืนอารมณ์ ไม่ปล่อยจิตไปตามอารมณ์นึกคิด เพื่อให้เรารู้จักคำว่าจิต ..จิตของตัวเอง ตัวเราเองนั้นเป็นจิตมาอาศัยในเรือนกายของคุณบิดามารดาชั่วขณะหนึ่ง
เรื่องคำภาวนา พุทโธ นี่ มันแปลก คนที่ท่องคาถาอาคม ท่องคาถาได้ แต่ให้มาท่อง พุทโธ ..แค่สองคำเท่านั้น ทำกายนิ่ง จิตเฉย ภาวนา พุทโธ แค่สองคำง่ายๆ..ไม่ได้มากมายอะไร ..ทำตลอดสายการปฏิบัติธรรม ..จะกระทำไม่ได้เลย ยิ่งให้มีสติอยู่กับลมหายใจ ที่ไม่มีสิ่งยึด มีอากาศว่างๆ..ไม่มีตัวตนอะไร มีแค่สองคำว่า พุทโธ ..กายก็จะร้อน..จิตก็จะร้อนเป็นไฟ .ลุกลี้ลุกลน ทนไม่ไหวเลย
เวลามีการพูดว่า ทำจิตอยู่กับปัจจุบัน ..ปัจจุบันของจิตอยู่กับกาย อยู่กับอารมณ์ กำลังใช้กายทำอะไร ทำไปตามอารมณ์ เช่น กำลังด่า ..กำลังตบยุง ..กายเคลื่อนไหวทำอะไร มีสติยับยั้งการกระทำนั้นได้มั้ย ไม่ให้เกิดกายวาจาใจที่เป็นกรรม
เรื่องปล่อยวาง ความคิด ปล่อยวางอารมณ์ ต้องอาศัยการฝึกฝน ให้จิตเราเข้มแข็งขึ้นมา แล้วสิ่งที่ช่วยเราได้ในเรื่องของสมาธิ ..ปล่อยวาง ก็คือ เราฝึกหัดสร้างบุญด้วยจิต เอาปัจจัยที่เรายึดหวงแหน ..สละความยึดนั่นออกไป..ให้เป็นทาน เปรียบเทียบ เหมือนเรามีเพชรในมือ เราก็สละเพชรเม็ด เป็นทานเป็นกุศล ..สละหลุดจากมือไป ไม่ให้จิตเรายึด ..เหมือนกับองค์พระสิทธัตถะ สละหนียศฐานบรรดาศักดิ์ หนีเวียงวัง ที่หลอกให้จิตยึดถือ ..นั่นเป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ที่สามารถกระทำได้ สละแล้วไปอยู่ป่าด้วยเสื้อผ้าชุดเดียว
ส่วนตัวเรา ..ยังเป็นปุถุชน ก็เพียรฝึกหัด ปล่อยวาง เมื่อปฏิบัติ เราก็พยายามทำ ต้องเริ่มตั้งแต่ การกราบ การกล่าวอธิษฐาน ปฏิบัติธรรม พูดให้หูเราได้ยิน เพื่อให้หูเราส่งต่อไปบอกจิตที่อยู่ในเรือนกายบิดามารดา จิตเราจะรับรู้ว่ากำลังจะทำอะไร บอกกล่าวสถานที่ ..ที่จิตเราอาศัยอยู่ คือ กายพ่อแม่ ให้รับรู้ . เมื่อเราเริ่มต้นกระทำที่ดีๆ การปฏิบัติก็ค่อยๆดีขึ้น มันเริ่มตั้งแต่เริ่มนั่งปฏิบัติธรรม
เรื่องของการปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็นั่งไปเลย ต้องมีการอธิษฐานบอกกล่าว ขอปฏิบัติธรรมไปตามรอยคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ..เพื่อกำหนดให้จิตเรา มุ่งมั่นไปอยู่กับพระ ให้จิตมีพระเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่จิตพึ่งอารมณ์ เป็นทาสของอารมณ์ เมื่อจิตเราอยู่ใต้อารมณ์ ..อารมณ์ก็ส่งความคิดมาให้ เราก็ปฏิเสธอารมณ์นั้นไป เอาจิตไปอยู่กับคำว่าพุทโธ ดูที่ลมหายใจเข้าออก ..นั่นเป็นเรื่องที่ผู้ที่ฝึกหัด ต้องมีสติ มีขันติอยู่ที่ลมหายใจ อดทนกรทำขึ้น ให้ชำนิชำนาญ จิตก็จะเข้มแข็งต่ออารมณ์..สลัดอารมณ์นึกคิดไปได้
เวลาปฏิบัติ ก็อย่าไปเอาจิตที่เศร้าสร้อย หงอยเหงามาทำ บอกตัวเอง ทำใจให้มันฮึกเหิม ให้ทำใจเหมือนขุนศึก ห้าวหาญ ออกไปสู่สนามรบ เพียบพร้อมด้วยสติ พละกำลัง สนามรบที่อยู่ในเรือนกายพ่อแม่ที่เราอาศัย มีอารมณ์เป็นศัตรูของจิต ต้องอาศัยจิตที่เข้มแข็ง สติปัญญา รักษาป้อมค่าย รักษากายให้นิ่ง รักษาจิตให้นิ่ง
หวั่นไหวเมื่อไหร่ ป้อมค่ายก็แตก ขยับเขยื้อนกายไปตามอารมณ์ จิตก็ไม่มีความสามารถควบคุมกาย..ให้นิ่ง ไม่มีสติอยู่กับลมหายใจ จิตก็ถูกอารมณ์พาไป ท่องเที่ยงเรื่องนั่นเรื่องนี้ เค้าเรียกว่า โจระจิต..มาขโมยจิตเราไป นั่งทีไร ก็ถูกโจรมันพาไป ไม่มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว รู้สึกตัวอยู่กับกายพ่อแม่ ที่มีลมเข้าลมออก
การอธิษฐาน เมื่อเริ่มต้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า https://www.blockdit.com/posts/63a40e4c28ca701182555af8
โฆษณา