2 ม.ค. 2023 เวลา 06:17 • กีฬา
#MainStand : 11 ประเทศในอาเซียน เรียกกีฬา "ฟุตบอล" ว่าอะไรกันบ้าง
ขณะที่กระแสฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนกำลังร้อนระอุ หลายคนอาจจะยังไม่รู้มาก่อนว่าในภูมิภาคนี้ที่มีประชากรมากกว่า 750 ล้านคนที่เรียกชื่อกีฬา "ฟุตบอล" แทบจะไม่เหมือนกันเพราะความต่างทางด้านวัฒนธรรมภาษาที่ผู้คนทั้ง 11 ประเทศใช้ภาษาไม่ซ้ำกันและอยู่ร่วมหลายชนเผ่า จึงไม่แปลกที่กีฬาลูกบอลกลม ๆ นี้จะถูกเรียกไปตามแบบของตัวเอง
ดังนั้น Main Stand จึงขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า "ฟุตบอล" จากทุก 11 ประเทศในอาเซียนว่ามันถูกเรียกว่าอะไรกันบ้าง
ไทย : ฟุตบอล (Football)
ชาติเจ้าของแชมป์รายการนี้มากที่สุด 6 สมัย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เรียกชื่อกีฬาชนิดนี้ตามประเทศแม่แบบอย่างอังกฤษว่า "ฟุตบอล" นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นำเข้ามาในปี 1900 ซึ่งนับแต่นั้นมาประเทศไทยก็เรียกกีฬาชนิดนี้ว่า "ฟุตบอล" มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีบางบริบทที่เรียกว่า "ลูกหนัง" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ใช้กันในวงการสื่อมวลชน
อินโดนีเซีย : เซปัก โบลา (Sepak Bola)
ชาติเจ้าของรองแชมป์รายการอาเซียน 6 สมัย แต่ยังไม่เคยเป็นแชมป์เลยอย่าง อินโดนีเซีย เรียกกีฬาชนิดนี้ตามภาษาบาฮาซา อินโดนีเซียว่า "เซปัก โบลา" (Sepak bola) หรือแปลได้ว่า "เตะบอล" ซึ่งกีฬาฟุตบอลของพวกเขารับมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์สมัยที่เป็นประเทศใต้อาณานิคม อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียก็มีดีกรีเป็นชาติแรกจากทวีปเอเชียที่ได้ไปลุยฟุตบอลโลกเมื่อปี 1938 ในชื่อ "ดัตช์ อีสต์ อินดีส์"
มาเลเซีย : โบลา เซปัก (Bola Sepak) / ฟุตบอล (Football)
มาเลเซีย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เรียกกีฬาฟุตบอลในภาษาของตัวเอง ซึ่งสามารถเรียกได้ทั้ง "โบลา เซปัก" (Bola Sepak) ที่แปลว่า "เตะบอล" หรือจะเรียกทับศัพท์ตามภาษาอังกฤษว่า "ฟุตบอล" (Football) ก็ได้ โดยมาเลเซียรับกีฬาชนิดนี้เข้ามาจากสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นยังใช้ชื่อทีมฟุตบอลว่าทีมชาติมาลายา
ฟิลิปปินส์ : ซอคเกอร์ และ ฟุตบอล (Soccer and Football)
ในประเทศฟิลิปปินส์ กีฬาฟุตบอลถือว่าไม่ได้รับความนิยมมากเท่าบาสเกตบอล ถึงแม้กีฬาฟุตบอลในฟิลิปปินส์จะเก่าแก่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนก็ตาม อย่างไรก็ดี จากการตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1898-1946 ทำให้คนฟิลิปปินส์เรียกกีฬาชนิดนี้ติดปากว่า "ซอคเกอร์" มากกว่า "ฟุตบอล" โดยคำว่า "ฟุตบอล" จะถูกเรียกอย่างกว้างขวางกว่าในภูมิภาคเกาะลูซอน ขณะที่ภูมิภาคเกาะมินดาเนาจะเรียกว่า "ซอคเกอร์"
สิงคโปร์ : ฟุตบอล (Football)
สมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ เป็นองค์กรทางฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปเอเชียที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1892 (ปีเดียวกับการก่อตั้งสโมสรลิเวอร์พูล) ในสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของบริชติชมาลายา ภายใต้การเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าการได้รับกีฬาฟุตบอลมาจากประเทศต้นตำรับอย่างอังกฤษ ชาวสิงคโปร์จึงเรียกชื่อกีฬานี้ทับศัพท์ไปโดยปริยาย
เมียนมา : บ่อล-โล๊น (ဘောလုံ)
ชาติยักษ์หลับแห่งวงการฟุตบอลเอเชียที่เพิ่งจะตกรอบแบ่งกลุ่มชิงแชมป์อาเซียนครั้งนี้ไปหมาด ๆ เรียกกีฬาฟุตบอลว่า "บ่อล-โล๊น" (ဘောလုံ) แปลเป็นภาษาไทยว่า "เตะลูกบอล" โดยกีฬาฟุตบอลถูกนำเข้ามายังพม่าโดย เซอร์ เจมส์ สกอตต์ ผู้ว่าอาณานิคมบริติชเบอร์มา ในปี 1947 หรือหนึ่งปีก่อนเมียนมาประกาศเอกราช
ลาว : บานเตะ (ບານເຕະ)
กีฬาฟุตบอลในประเทศลาวนั้นเข้ามาในประเทศตั้งแต่สมัยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว แต่ทว่าสมาพันธ์ฟุตบอลลาวเพิ่งจะก่อตั้งในปี 1951 หรือเพียง 2 ปีก่อนลาวประกาศอิสรภาพ ซึ่งชาวลาวเรียกฟุตบอลตามภาษาลาวว่า "บานเตะ" (ບານເຕະ) ซึ่งคำว่า "บาน" (ບານ) หมายถึงลูกบอล ดังนั้นคำว่า "บานเตะ" (ບານເຕະ) จึงแปลเป็นไทยว่า "เตะบอล"
กัมพูชา : บาลต่วต (បាល់ទាត់)
กัมพูชา ก็เป็นอีกประเทศที่เรียกกีฬาฟุตบอลด้วยภาษาของประเทศตัวเอง (เขมร) โดยชาวกัมพูชาเรียกมันว่า "บาลต่วต" (បាល់ទាត់) แปลเป็นไทยว่า "เตะบอล" โดยฟุตบอลในกัมพูชาเข้ามาจากสมัยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และสหพันธ์ฟุตบอลกัมพูชาก่อตั้งขึ้นในปี 1933 หรือ 21 ปีก่อนประกาศเอกราช
ติมอร์-เลสเต : ฟุตบอล (Futebol)
ชาติน้องใหม่ของอาเซียนเพิ่งจะก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลเป็นของตัวเองในปี 2002 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่าในปี 2005 พวกเขาเรียกกีฬาฟุตบอลว่า "ฟุตบอล" ตามสำเนียงของโปรตุเกส "Futebol" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยึดติมอร์เป็นอาณานิคมตั้งแต่ปี 1720 ถึง 1975 ทำให้ชาวติมอร์ที่คุ้นชินกับภาษาโปรตุเกสจึงเรียกทับศัพท์ตาม แม้ว่าติมอร์จะมีภาษาเป็นของตัวเองคือภาษาเตตุนก็ตาม
เวียดนาม : บ่องด๋า (bóng đá)
ชาวเวียดนามรู้จักฟุตบอลเป็นชาติที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ โดยชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาทำการค้าขายและยึดเป็นอาณานิคมในช่วงยุคอินโดจีน แต่ในเวียดนามกลับเรียกชื่อกีฬาฟุตบอลตามภาษาของตนว่า "บ่องด๋า (bóng đá)" หรือแปลว่า "เตะบอล" นอกจากนี้ทุกสื่อในเวียดนามต่างก็เรียกฟุตบอลว่า "บ่องด๋า" กันหมด และไม่มีการเรียกทับศัพท์ตามภาษาอังกฤษ
1
เรื่องโดย : ทรงศักดิ์ ศรีสุข
โฆษณา