3 ม.ค. 2023 เวลา 04:34 • ท่องเที่ยว

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก เมืองกำปงธม (1) .. อิศานปุระ สังเขปประวัติศาสตร์

กาลครั้งหนึ่ง .. บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต่อเนื่องขึ้นไปตาม “แม่น้ำบาสัค” ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขงสายหนึ่งที่ผ่านไปยังทะเลสาบเขมร มีบ้านเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ฟูนัน”
บริเวณนี้พบหลักฐานบ่งชี้ว่า เคยเป็นเมืองท่าภายในที่มีทางน้ำสามารถออกทะเลในอ่าวไทยได้สะดวก ทำให้มีการค้าขายกันระหว่างชน 2 ชาติ คือ จีนและอินเดีย .. การค้าขายทำให้มีชุมชนตั้งอยู่กระจายในพื้นที่นี้ และมีศาสนสถานบนเนินเขาย่อมๆบูชาเขาศักดิ์สิทธิ์หรือพนม
... ซึ่งจดหมายเหตุของจีน ได้สนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ และเรียกตามจดหมายเหตุจีนว่าฟูนัน .. บ้านเมืองเหล่านี้ล้วนสร้างพื้นฐานของการก่อเกิดรัฐแรกเริ่มภายในในดินแดนกัมพูชา โดยมี “พระเจ้าจิตรเสนมเหนทรวรมัน” เป็นกษัตริย์ที่มีอิทธิพลอยู่ในเขตรอยต่อของดินแดนอีสานในประเทศไทย ลาวใต้ ไปจนถึงเขมรโบราณ ดังปรากฏในจารึกที่เกี่ยวกับพระองค์ในยุคสมัยดังกล่าวอยู่หลายอัน
เมื่อ “พระเจ้าอิศานวรมัน” ซึ่งเป็นพระโอรส ขึ้นครองราชย์ (ราว พ.ศ. 1153-1198 หรือช่วง ศตวรรษที่ 7) ได้ทำสงครามกับอาณาจักรฟูนัน ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ ควบรวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน ซึ่งเป็นการสูญสิ้นอาณาจักรฟูนัน .. ได้ทรงสถาปนาศูนย์กลางการปกครองขึ้นใหม่ ชื่อ “อิศานปุระ (Isanapura)” ในชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานมาแล้วแต่เดิมในเส้นทางค้าขายระหว่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเขตเขมร ที่ราบสูงอีสานของไทย รวมถึงบริเวลุ่มน้ำโขงแถบวัดพูไปจนถึงบ้านเมืองของชาวจามที่ริมชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนกลาง
... จารึกตั้งแต่สมัยอิศนาวรมันที่ 1 อ้างว่า พระองค์เป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองสุวรรณภูมิ”
ความรุ่งเรืองในยุคนี้ ปรากฏในบันทึกของจีนในสมัยราชวงศ์สุย หรือ “สุยซู” ว่า
“…(เจินล่า) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลินอี้ (จามปา) เดิมเป็นเมืองในการปกครองของอาณาจักรฟูนัน หากเดินทางด้วยเรือต้องใช้เวลาหกสิบวัน
โดยทางทิศใต้อยู่ติดกับเมืองเชอฉวีกวั๋ว ทิศตะวันตกมีเมืองจูเจียงกวั๋ว
มีกษัตริย์ตระกูลซาลี่ ชื่อจื้อตัวซือน่า (จิตรเสน) โดยปฐมกษัตริย์ได้สถาปนาอาณาจักรขึ้นจนเข้มแข็งมาจนถึงสมัยจื้อตัวลี่น่าถึงได้กลืนอาณาจักรฟูนัน เมื่อสิ้นพระชนม์ลงบุตรที่ชื่ออีเส่อน่า (อีศาน) ได้สืบตำแหน่งต่อมา ได้ตั้งเมืองชื่อว่าเมืองอีเส่อน่า (อีศานปุระ)
ภายในกำแพงเมืองมีสองหมื่นกว่าครัวเรือน (หมายถึงทั้งอาณาจักร-ผู้แปล) ในเมืองมีพระราชวังใหญ่และเป็นที่ว่าราชการของกษัตริย์ และมีเมืองทั้งสิ้นสามสิบเมืองในเมืองมีนับพันครัวเรือน ในแต่ละเมืองมีเจ้าเมืองขุนนางดูแลเหมือนเมืองหลินอี้
กษัตริย์ออกว่าราชการสามวันครั้งโดยประทับนั่งอยู่บนตั่งไม้หอมประดับอัญมณี ข้างบนมีฉัตรกาง ฉัตรนั้นมีไม้กฤษณาเป็นก้านมีงาช้างและแผ่นทองกั้น สันฐานคล้ายห้องขนาดย่อม แสงทองอร่ามตา เบื้องหน้ามีกระถางกำยานทำด้วยทองคำ มีมหาดเล็กสองคนคอยเฝ้าแหน
ทุกเดือนห้าถึงเดือนหกของแต่ละปีจะมีมลภาวะ ดังนั้นจึงใช้หมูขาว วัวขาว แพะขาวไปเซ่นสรวงที่ศาลนอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตก มิฉะนั้นจะถือว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สมบูรณ์ ปศุสัตว์ทั้งหลายอาจล้มตายเสียหายผู้คนอาจเกิดโรคระบาด
ที่ใกล้ๆ กับเมืองนั้นมีภูเขาหลิงกาโปวโผว (ลิงคบรรพต) บนเขามีศาลเจ้า โดยมีทหารเฝ้ารักษาห้าพันนายทางทิศตะวันออกมีเทพชื่อโผวตัวลี่ (ภัทเรศวร) ที่ต้องใช้เนื้อคนเซ่นสรวง โดยกษัตริย์จะฆ่าคนเพื่อใช้ในการเซ่นสรวงทุกปี และทำพิธีเซ่นในคืนนั้น โดยมีทหารเฝ้าที่ศาลนี้พันนาย ซึ่งการเซ่นนี้เหมือนกับการเซ่นผี โดยมากแล้วจะมีพิธีพุทธประกอบ โดยมีนักพรตประกอบพิธี พระและนักพรตจะยืนประจำในหอแห่งนั้น
ต้าเย่ปีที่สองได้ส่งทูตเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการ ทางพระจักรพรรดิทรงรับและตอบแทน เครื่องราชบรรณาการนั้นอย่างถึงขนาด แต่หลังจากนี้ก็ขาดส่งไป…”
“พระเจ้าชัยวรมัน” เป็นพระมหากษัตริย์ที่สำคัญสุดท้ายใน “อิศานปุระ” .. พระองค์เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในราชอาณาจักรในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 8 อันเป็นช่วงปลายของอาณาจักร เมื่อกษัตริย์แห่ง “ราชวงศ์ไศเลนทร์” ของ “อาณาจักรศรีวิชัย” เข้าโจมตีและยึดอีศานปุระได้สำเร็จและประหารกษัตริย์ของเจนละ เป็นอันปิดฉากของอาณาจักรเจนละลง
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า .. พื้นที่กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกนี้ เดิมก็คืออาณาจักรโบราณ อิสานปุระ อาณาจักรขอมรุ่นที่ 2 ที่มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจากอาณาจักรฟูนัน รุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตรวรรษที่ 11 ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างของไทย ตอนบนของประเทศกัมพูชา และลาวตอนใต้
.. สถาปนาโดย “พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1” มีพระมหากษัตริย์ปกครองรวม 12 พระองค์ เจริญรุ่งเรืองราว 200 กว่าปี ระหว่าง พ.ศ.1093 - 1331 ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จะสร้างศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ที่เมืองพระนคร
“กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก” .. จึงเป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรืองทางอารยธรรมของชนชาติขอมในยุค “อาณาจักรเจนละ” ทำให้องค์การยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของประเทศกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยใช้ชื่อว่า แหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk Site)
โฆษณา