3 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • การตลาด
ตลาดเฟอร์นิเจอร์ยั่งยืนในสหรัฐฯ
ปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์แบบยั่งยืนหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุและกระบวนการผลิตรวมถึงวัสดุที่ยั่งยืน วัสดุที่มาจากทรัพยากรหมุนเวียนและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำได้ ตลาดเฟอร์นิเจอร์ยั่งยืนของทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 43,260 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8.6% ในช่วงปี 2565-2573
ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์ยั่งยืนมีการเจริญเติบโต
1. การรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับความยั่งยืนและการใช้วัตถุดิบยั่งยืนมีการขยายตัวอย่างมาก อุปสงค์ดังกล่าว ช่วยกระตุ้นให้สินค้าตกแต่งบ้านแบบยั่งยืนเป็นที่นิยมและช่วยขับเคลื่อนตลาดเฟอร์นิเจอร์ให้มีการเจริญเติบโต
2. ความสามารถในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นอุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์และเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
3. กลุ่มคนรุ่นใหม่ (young generation) ซึ่งรวมถึงกลุ่ม Gen Z และ Millennials เป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สินค้ายั่งยืนเกิดการเติบโต โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความยินดีที่จะจ่ายส่วนต่างของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยในการรักษาโลก
4. การส่งเสริมการก่อสร้างอาคารและที่พักสีเขียวของภาครัฐ ทำให้โครงการก่อสร้างที่พักอาศัยแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับภาคการค้าและที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น
5. ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งแบบยั่งยืน เพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติและมีสารเคมีประกอบในปริมาณไม่มากซึ่งปลอดภัยกับสภาพแวดล้อมและสุขภาพ โดยวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการผลิต ได้แก่ ไม้เก่า (Reclaimed Wood) ไม้ยางพารา ไม้ไผ่และหวาย เป็นต้น เฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมมีการใช้สารเคมีที่เป็นสารระเหยซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย (volatile organic compounds) ซึ่งทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ไมเกรนและหอบหืดได้
ยอดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ยั่งยืนในสหรัฐฯ ปี 2564 มีมูลค่า 14,800 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าน่าจะ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7.5% ในช่วงปี 2566-2573 อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ของบริษัท Capterra เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืน โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวน 759 ราย สามารถสรุปออกมาได้ 5 ข้อหลัก ดังนี้
1. การรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาผู้บริโภค 84% มีการซื้อสินค้ายั่งยืน โดยในจำนวน 84% มีกลุ่มผู้ซื้อหลัก ได้แก่ กลุ่ม GEN Z (18-25 ปี) รองลงมา คือ กลุ่ม Millennian (26-40 ปี) กลุ่ม GEN X (41-55 ปี) และกลุ่ม Baby Boomer (56-75 ปี)
2. ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อความยั่งยืน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะอัตราเงินเฟ้อ ผู้บริโภคจำนวนมากเห็นด้วยอย่างมากว่าผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมีราคาที่สมเหตุสมผล โดยรวมแล้วผู้บริโภคเต็มใจและยอมรับว่าการผลิตผลิตภัณฑ์ยั่งยืนเป็นการเพิ่มต้นทุน เมื่อเราดูผลลัพธ์ที่แยกตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่มีความอดทนต่อราคาที่เพิ่มสูงขึ้นได้ดีที่สุด
3. การตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้ายั่งยืนโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจากผู้ผลิต ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์รองลงมาตรวจสอบจากเว็บไซต์ของบริษัท โดยผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับแนวทางปฏิบัติของบริษัทและการเลือกใช้วัสดุยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ
4. ปัจจัยที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในการเลือกใช้สินค้าที่มีความยั่งยืนตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ วัสดุและบรรจุภัณฑ์ รองลงมา คือ ส่วนผสมการนำกลับมาใช้ซ้ำ ต้นกำเนิดของสินค้าและการขนส่ง
5. สินค้าที่ผู้บริโภคต้องการให้มีความยั่งยืนมากเป็นลำดับต้น ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม รองลงมา คือ เสื้อผ้าและ สิ่งทอ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าตกแต่งบ้านและสินค้า สุขภาพและความงาม
วิเคราะห์โอกาสทางการค้าของสินค้าไทยในกลุ่มสินค้ายั่งยืน
จุดแข็งของสินค้าไทย
1. ไทยมีวัตถุดิบทางธรรมชาติค่อนข้างหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น รากไม้เก่า ไม้สัก ไม้ ตะเคียน ไม้ยางพารา หวายและอื่นๆ
2. ไทยมีความสามารถสูงด้านการออกแบบและการผลิต ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่ผู้นำเข้าให้ความสนใจผลิต สินค้าในไทย ดังนั้น ควรเร่งพัฒนาสินค้าด้านงานฝีมือและการออกแบบและเสริมสร้างศักยภาพให้มีการส่งออกมากขึ้น
จุดอ่อนของสินค้าไทย
1. ราคาต้นทุนสินค้ามีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง การหันมาเจาะตลาดสีเขียวน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้มากขึ้น
2. สินค้าไทยขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดควรเลือกใช้สินค้าของไทย ดังนั้น นักออกแบบและผู้ประกอบการไทยควรมีการนำเสนอเรื่องราวของสินค้า ให้ความรู้เรื่องวัตถุดิบ การอนุรักษ์ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพราะ จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและทำให้เห็นถึงความแตกต่างกับคู่แข่งในตลาด
โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา
1. ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายโอกาสของสินค้าไทยโดยเน้นเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น Millennials และกลุ่ม Gen Z
2. เพิ่มโอกาสโดยการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และพัฒนาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทาง ECommerce ที่เหมาะสม
3. เพิ่มโอกาสโดยการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และพัฒนาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทาง ECommerce ที่เหมาะสม
ข้อเสียเปรียบของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
1. ข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบและนโยบายที่ไม่ใช่ภาษีบางรายการ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนราคาสินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น ทำให้ขาดโอกาสในการแข่งขันในบางรายการ
2. โอกาสในการเข้าถึงสินค้าไทยของผู้บริโภคในตลาดค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้นการสนับสนุนการแข่งขันทางออนไลน์และให้ความรู้เรื่อง fulfilment facility เกี่ยวกับการจัดเก็บและการกระจายสินค้าของไทยในสหรัฐอเมริกา น่าจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทยได้ในอนาคต
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นิวยอร์ก
โฆษณา