3 ม.ค. 2023 เวลา 14:04 • การศึกษา
คัดมาครับผม
คุณวิฑูรย์ ทวีสุข มีคำถามผ่านเดลินิวส์ถึงราชบัณฑิตยสถาน ว่า อเนกประสงค์ กับ เอนกประสงค์ ว่าเขียนอย่างไรกันแน่ ขอตอบก่อนเลยว่า อเนกประสงค์ เป็นคำที่ถูกต้อง และมีคำอธิบายดังนี้ค่ะ
อเนก มาจาก อน+เอก โดยที่ อน [อะนะ-] มีความหมายเดียวกับ อ [อะ-] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า “เป็นอักษรใช้นําหน้าคําที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตบอกความปฏิเสธหรือตรงกันข้าม แปลว่า ไม่ หรือ ไม่ใช่ เช่น อศุภ (ไม่งาม) อธรรม (ไม่ใช่ธรรม)” อน- ใช้แทน อ ในกรณีที่ประกอบหน้าศัพท์บาลีและสันสกฤตที่ขึ้นต้นด้วยสระ เช่น อนาทร (อน+อาทร) อนาจาร (อน+อาจาร )
อเนก อเนก- [อะเหฺนก อะเหฺนกกะ] แปลว่า มาก หลาย อเนกประสงค์ [อะเหฺนกปฺระสง] ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างแล้วแต่ความต้องการ อเนกวิธ [อะเหฺนกกะวิด] หลายอย่าง ต่าง ๆ อเนกอนันต์ [อะเหฺนกอะนัน] มากมาย มากหลาย อเนกรรถประโยค [อะเนกัดถะปฺระโหฺยก] ประโยคใหญ่ที่มีใจความสำคัญอย่างน้อย ๒ ใจความมารวมกัน และใจความนั้น ๆ จะต้องมีลักษณะเป็นประโยคโดยมีสันธานเป็นบทเชื่อมหรือละสันธานไว้ในฐานที่เข้าใจ ในทางตรงกันข้าม เอกรรถประโยค [เอกัดถะ-] ก็คือ ประโยคที่มีเนื้อความเดียว มีบทกริยาสําคัญเพียงบทเดียว
มีวิธีจำง่าย ๆ คือ อเนก ไม่ใช่ เอ-นก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ พบว่ามีเพียงคำเดียวที่สระเอนำหน้า อ แล้วอ่านว่า อะ- คือ เอร็ดอร่อย [อะเหฺร็ดอะหฺร่อย] เอนก ไม่มีความหมายในภาษาไทย แต่ที่ชื่อบางคนเขียน เอนก แล้วอ่านว่า อะเหฺนก คงต้องยกเว้นให้ว่าเป็นคำเฉพาะ และหวังว่าเด็กที่เกิดใหม่คงไม่มีใครชื่อ เอนก อีกต่อไป เพื่อรู้รักษ์ภาษาไทยกันนะคะ.
1
รัตติกาล ศรีอำไพ
โฆษณา