4 ม.ค. 2023 เวลา 03:21 • ไลฟ์สไตล์
.....ทฤษฎีแบบนี้มีด้วยหรือ?... ทฤษฎีแห่งความสุข...(อ่านใน Line กลุ่มของกลุ่มเพื่อนชั้น ม.ศ.3 เพื่อนนำเสนอมาให้ดูสั้นๆ สนใจจึงตามค้นหาใน Google ครับ)
...มาเรียนรู้ “ทฤษฎีแห่งความสุข (Theory of Happiness)” ที่ไม่ใช่สูตร E=mc^2 ของไอน์สไตน์
อยากมีความสุขต้องทำอย่างไร?
คำถามที่เราคงถามตัวเองกันบ่อยๆ ในยามที่เหนื่อยล้ากับชีวิต การงานมีปัญหา ความสัมพันธ์ถึงทางตัน และสารพัดความทุกข์ที่ไหลบ่า จนทำให้คิดไปว่า ถ้าโลกนี้มีสูตรคณิตศาสตร์ ที่แทนค่าบางตัวแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นความสุขจำนวนมหาศาลก็คงจะดี
โลกซ่อน “ความลับของความสุข” เอาไว้ที่ไหนกันนะ
ในระหว่างที่เรากำลังคิดถึงคำถามนี้ ก็บังเอิญได้อ่านบทความหนึ่งใน Medium ที่มีชื่อว่า “Greatest Tip Ever: Albert Einstein’s Theory of Happiness” และพบว่า โลกไม่สามารถเก็บ “ความลับของความสุข” ไว้ได้ตลอดกาล เพราะมีผู้ที่ไขความลับนี้ออกแล้ว นั่นคือ Albert Einstein (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพนั่นเอง
ทฤษฎี (ไม่) ลับ กับกระดาษสองใบ
ย้อนกลับไปในยุคที่ไอน์สไตน์ยังมีชีวิต เชื่อหรือไม่ว่าไอน์สไตน์เองก็มีช่วงเวลาที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิตเหมือนกับเรา
ในปี 1922 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์แสนปราดเปรื่องคนนี้ก็ตระเวนแจกจ่ายความรู้ของเขาไปให้คนหมู่มาก แล้วไอน์สไตน์ก็ได้เดินทางมาพักผ่อนที่ญี่ปุ่น
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในช่วงที่เขากำลังจะออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในโตเกียว หลังจากที่พนักงานยกกระเป๋าให้เรียบร้อยแล้ว ไอน์สไตน์กลับไม่ได้ให้ทิปพนักงานคนนั้นเป็นเงินตามปกติ แต่ได้ให้กระดาษที่เขาเขียนประโยคหนึ่งลงไปว่า
“INSTEAD, A CALM AND MODEST LIFE BRINGS MORE HAPPINESS THAN THE NEVER-ENDING PURSUIT OF SUCCESS.”
“ในทางตรงกันข้าม ชีวิตอันสงบสุขและเรียบง่ายจะนำความสุขมาให้ มากกว่าการไล่ตามหาความสำเร็จแบบไม่รู้จบ”
ข้อความสั้นๆ นี้มาจากความรู้สึกเหนื่อยใจอันสาหัสของเขาเอง เพราะหลังจากที่ไอน์สไตน์ได้ไล่ตามเงินตรา อำนาจและชื่อเสียงจนแทบไม่ได้พักผ่อน เขาก็รู้สึกว่าชีวิตที่สงบและเรียบง่ายคือชีวิตอันแสนสุขอย่างแท้จริง
จากกระดาษโน้ตที่มอบให้พนักงานโรงแรม มาถึงวันนี้ ข้อความดังกล่าวได้กลายเป็น “ทฤษฎีแห่งความสุขของไอน์สไตน์” (Einstein’s Theory of Happiness) ที่มีผู้ประมูลไป ณ งานประมูลแห่งหนึ่งในเมืองเยรูซาเลม โดยกระดาษแผ่นหนึ่งขายได้ในราคา 2.4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอีกแผ่นมีราคาถึง 1.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่า “ความลับของความสุข” นี้มีมูลค่ารวมเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว!
....ปรัชญาชีวิต จาก Spinoza ถึงไอน์สไตน์...
ถ้าหากสาวลึกลงไปว่าเหตุใดไอน์สไตน์จึงคิดเช่นนั้น จุดเริ่มต้นอาจมาจากความชื่นชอบในนักปรัชญาชาวยิว-ดัตช์คนหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่ชื่อ “Baruch Spinoza” ผู้เป็นช่างทำเลนส์แว่นตา ซึ่งไม่เคยสนใจของรางวัลหรือเกียรติยศต่างๆ เลย ชีวิตของ Spinoza นี้เองที่ทำให้ไอน์สไตน์เข้าใจชีวิตที่สงบสุขและเรียบง่าย
“ผมมีความสุขเพราะผมไม่ต้องการสิ่งไหนจากใครทั้งนั้น ผมไม่สนใจเงิน ของสวยงาม ตำแหน่ง หรือความแตกต่างใดๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่มีค่าในสายตาผม ผมไม่ใฝ่หาคำสรรเสริญ เพราะสิ่งเดียวที่ทำให้ผมมีความสุขนอกจากงาน ไวโอลินและเรือของผมก็คือ คำชมจากผู้ที่ติดตามงานของผม”
และดูเหมือนว่าแนวคิดของไอน์สไตน์ จะตรงกับแนวคิดของนักจิตวิทยาบางคนที่มองว่า สิ่งไหนสามารถทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินจนลืมเวลา สิ่งนั้นก็คือความสุข และไอน์สไตน์ยังได้ถ่ายทอดมุมมองนี้ลงในจดหมายที่ส่งถึงลูกชายเขาเองด้วย ซึ่งเป็นเสมือนความลับของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ไม่รู้จบ
“เราจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกสนุกขณะที่กำลังทำสิ่งนั้น จนเราไม่สนใจว่าเวลากำลังผ่านไปแค่ไหน เพราะบางครั้งพ่อเองก็มัวแต่ขลุกตัวอยู่กับงานจนลืมมื้อเที่ยงด้วยซ้ำ”
สิ่งที่สะท้อนว่า ไอน์สไตน์ให้ความสำคัญกับความสุขในการทำสิ่งต่างๆ อย่างเพลิดเพลิน คือการที่เขาพยายามค้นหาว่า “วิถีของโลกใบนี้คืออะไร” แทนที่จะต่อสู้เพื่อให้ตนร่ำรวย มีอำนาจหรือควบคุมผู้อื่นได้ เหมือนอย่างที่เขาปฏิเสธตำแหน่งประธานาธิบดีของอิสราเอลไป
....ทฤษฎีความสุขในแบบฉบับของเราเอง...
กระดาษสองใบของไอน์สไตน์อาจไม่ใช่ความลับสุดยอดของจักรวาล ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือน E=mc^2 แต่มันกลับบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ในวันที่เราเหนื่อยล้ามากๆ กับการพยายามขึ้นไปให้สูง อาจเป็นวันเดียวกับที่เราต้องหยุดพัก แล้วมองหาสิ่งที่เพลิดเพลิน ชโลมใจ เป็นความสุขอันเรียบง่ายเหมือนอย่างที่ไอน์สไตน์ได้ค้นพบ
แน่นอนว่าเรายังต้องต่อสู้ ต้องดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตที่ดี หลายๆ คนไม่ได้อยู่ในจุดที่ปฏิเสธเงินทองได้ ชีวิตยังต้องกินต้องใช้ แต่ในบางวันที่เผชิญความทุกข์ตรม ข้อความในกระดาษของไอน์สไตน์อาจทำให้เราหันกลับมามองชีวิตอันเรียบง่ายอีกครั้ง เพื่อค้นพบความสุข แม้ในบางสิ่งที่ดูเล็กน้อย ก็อาจเป็นหนทางสู่ความสุขได้ แค่เพียงเราตั้งใจไปกับมัน
ว่าแต่คุณรู้ไหม ว่ากระดาษอีกใบถูกเขียนว่าอะไร?
กระดาษใบที่สองนั้น ไอน์สไตน์ได้เขียนไว้ว่า
“When there’s a will, there’s a way.”
"เมื่อใดที่มีความปรารถนาอันมุ่งมั่น เมื่อนั้นหนทางจะปรากฏ"
แปลและเรียบเรียง
โฆษณา