4 ม.ค. 2023 เวลา 05:08 • ท่องเที่ยว

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก เมืองกำปงธม (2) .. กลุ่มปราสาทเยียปวน (1/2)

“สมโบร์ไพรกุก” หรือ “ซ็อมโบร์ไพรกุกห์” .. ในภาษาเขมร “ซ็อมโบร์ไพร” หมายถึงป่าอันอุดมสมบูรณ์ ส่วน “กุกห์” หมายถึงศาสนสถาน หรืออาศรมหรือปราสาท จึงมีความหมายโดยรวมว่า ปราสาทในป่าทึบ นั่นเอง
.. ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้ ชื่อเดิมของเมืองที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกคือ “อีศานปุระ” .. เป็นอาณาจักรยุคเริ่มแรกตั้งแต่สมัยเจนละ หรือในเอกสารจีนเรียกว่า “เจิ้นลา” ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของรัฐ ยุคก่อนเมืองพระนคร รัฐนี้เก่ากว่าเมืองพระนครราว 150 ปี สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สามารถรวบรวมเอาอาณาจักรฟูนันมาไว้ด้วยกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น
กลุ่มปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์ ... เป็นกลุ่มปราสาทโบราณมีอายุมากกว่า 1390 ปี มีปราสาทที่ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานในปัจจุบันมากกว่า 170 โดยมีปราสาทสำคัญอยู่ 3 กลุ่มหลัก ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ราว 64 แห่ง ในรัศมีราวๆ 2-3 กิโลเมตร
Credit :มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
ปราสาทกลุ่มนี้มากมายนับร้อยแห่ง จึงทำให้นักโบราณคดีชาวตะวันตกที่เข้ามาทำการสำรวจในพื้นที่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้จัดทำระบบบัญชีชื่อปราสาทต่างๆขึ้นและยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์มี “ชื่อเป็นทางการ” เป็นตัวอักษรและตัวเลข แทนชื่อที่ชาวบ้านเรียก
.. โดยปราสาทต่างๆในกลุ่มเหนือ จะมีชื่อขึ้นต้นว่า N (North) ปราสาทกลุ่มกลางมีชื่อขึ้นต้นว่า C (Central) และปราสาทกลุ่มใต้ มีชื่อขึ้นต้นว่า S (South) แล้วตามด้วยตัวเลขที่แสดงถึงความสำคัญ หรือตามลำดับการเรียงตัวที่ตั้งของปราสาท เช่น N1 หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มเหนือ S1หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มใต้ คือปราสาทเนียกปวน และ C1 หมายถึงปราสาทประธานของกลุ่มกลาง คือปราสาทตาว เป็นต้น
ปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเฉพาะของยุคก่อนเมืองพระนคร .. มีขนาดไม่ใหญ่โตเหมือนปราสาทขอมในเมืองเสียบเรียบ รูปลักษณ์ภายนอกที่เรียบง่าย วัสดุหลักคืออิฐ ยกเว้นบางส่วนเช่น ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูจะสลักด้วยหินทราย
ลักษณะเป็นกลุ่มปราสาท ที่ประกอบด้วยปราสาทจำนวนมาก หอคอยแปดเหลี่ยม ศิวะลึงค์และโยนี สระน้ำและอ่างเก็บน้ำ และรูปปั้นสิงโต
ปราสาทขอมที่สมโบร์ไพรกุกมีรูปลักษณ์หน้าตาที่แตกต่างไปจากปราสาทขอมแห่งอื่น ๆ .. ที่เห็นได้ชัดก็คือ ตัวปราสาทแบบที่ก่อในผังแปดเหลี่ยม นิยมสลักลวดลายเป็นอาคารทรงวิมานอยู่บนผนังอิฐด้านนอกของปราสาท รวมถึงการประดับซุ้มกุฑุที่มีรูปบุคคลโผล่ออกมาครึ่งตัวในซุ้มประดับอยู่ที่ผนังและชั้นเชิงของหลังคาปราสาทก็เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแปลกตาที่ไม่สามารถหาชมได้ที่ไหนเท่าที่นี่
สมโบไพรกุกตั้งอยู่ท่ามกลางป่ากึ่งเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ .. การชมปราสาทที่นี่จึงให้ความรู้สึกเพลิดเพลิน รื่นรมย์ รวมถึงเหมือนเราผจญภัยในป่าแล้วมาเจอปราสาทลึกลับที่ซ่อนตัวอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ในผืนป่า
กลุ่มปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์ มีปราสาทสำคัญอยู่ 3 กลุ่มหลัก
กลุ่มที่ 1 กลุ่มปราสาทด้านใต้ (S) หรือ กลุ่มปราสาทเยียปวน (Prasat Yeay Poan)
กลุ่มปราสาทเยียปวน มีหลักฐานจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 ราวคริสต์ศตวรรษ ที่ 7 หรือราวปี ค.ศ.610-655 (ราวพ.ศ. 1159 - 1180)
ปราสาทกลุ่มนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะเป็นศาสนสถานกลางใจเมือง “อิศานปุระ” ซึ่ง “พระเจ้าอิศานวรมัน”ทรงสถาปนาขึ้นเป็นนครหลวงแห่งใหม่ของ “อาณาจักรเจนละ” และปราสาทองค์ประธานของกลุ่มถือเป็นเทวาลัยประจำพระองค์ของ พระเจ้าอิศานวรมัน นั่นเอง
กำแพงปราสาท .. กลุ่มปราสาทเยียปวน ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่มีแนวกำแพงยาวล้อมรอบ 2 ชั้น .. แนวกำแพงชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ..
สภาพปัจจุบันชำรุดพังทลายเกือบหมดแล้ว ยังคงเหลือเฉพาะกรอบประตูทางเข้าที่ทำด้วยแผ่นศิลามีจารึกอยู่ที่ผนังกรอบประตูด้านในทางขวามือ
กำแพงชั้นในสร้างด้วยอิฐ โดยจะแบ่งกำแพงออกเป็นชองสี่เหลี่ยม ระหว่างช่องจะก่ออิฐเป็นวงกลม แล้วสลักภาพอยู่ในวงกลม .. มีภาพสลักนูนสูงประดับอยู่ภายในกรอบวงกลมทั้งด้านในและด้านนอกของกำแพง
ภายในกรอบวงกลมนั้นมีภาพต่าง ๆ ดูแปลกตาเช่น ภาพคนต่อสู้กับสิงโต มองเห็นนักรบถือโล่เพื่อกำยังสิงห์โตเอาไว้ เพื่อปกป้องคนที่อยู่ด้านล่าง .. รูปแบบนี้น่าจะมาจากภาพคนต่อสู้กับสิงโตที่มีในอินเดีย ในช่วงของราชวงศ์ซุงคลาก ในช่วงเวลาราว 400 ปี ก่อนที่จะสร้างปราสาทกลุ่มสมโบร์ไพรกุก .. ซึ่งอินเดียคงได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง
.. ภาพลิงให้ผลไม้แก่หญิงสาว ซึ่งเราไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นภาพเรื่องราวอะไร แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์บางท่านเสนอว่า อาจเป็นภาพสลักแสดงเรื่องราวในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของรามายณะก็ได้ บางรูปเป็นภาพแสดงวิถีการดำเนินชีวิต บอกล่าเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญๆ
บางด้านของแนวกำแพงอิฐก็ไม่ปรากฏภาพสลักอะไร มีเพียงโครงกรอบวงกลมหลายกรอบที่ยังไม่มีการจำหลักภาพ ทำให้ชวนคิดได้ว่ากำแพงนี้อาจยังก่อสร้างไม่เสร็จหรือไม่ หรือเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้งานการก่อสร้างแห่งนี้ต้องหยุดชะงักลงไป
เมื่อเดินผ่านจากกำแพงอิฐที่มีภาพสลักเข้ามา เป็นที่ตั้งของปราสาทที่ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ 7 หลัง ซึ่งทั้งหมดสร้างด้วยอิฐ .. ปราสาทสำคัญคือ ปราสาท S1 ซึ่งเป็นปราสาทประธาน
ปราสาทประธาน (S1) … มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งยังคงแสดงถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอินเดีย ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก ด้านในปราสาทเคยมีรูปเคารพ ที่จารึกบอกว่าเป็นรูป พระศิวะยิ้ม?
ประตูทางเข้ามีเพียงประตูเดียว โดยเชื่อว่าบานประตูทำด้วยไม้ ปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นแล้ว .. ส่วนอีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอกที่สร้างจากหิน โดยประดับด้วยการสลักลวดลายเหมือนกับประตูไม้จริงๆ
***อาจจะมีคำถามว่า ทำไมไม่สร้างประตูจริงทั้งสามด้านไปเลย?
.. คำตอบที่เป็นไปได้ คือ หากทำประตูเปิดทั้งหมด จะไม่สามารถรับน้ำหนักของอาคารที่มีส่วนของศิขระ (ส่วนบน) ที่หนักมากจากการเรียงหินและอิฐ ซึ่งจะส่งผลให้อาคารทั้งหลังพังทลายลงมา .. จากการเดินชมรอบพื้นที่ เราก็เห็นอาคารบางหลังที่มีร่องรอยการพยายามทำประตูเปิดทั้ง 4 ด้าน แต่อาคารพังทลายเกือบทั้งหมด
ทับหลังที่อยู่เหนือประตูด้านหนึ่ง .. เป็นหินจำหลักลวดลายรูปแบบที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะให้ชื่อว่า “ศิลปะแบบ สมโบร์ไพรกุกห์” ด้านล่างเป็นรูปพญานาค พร้อมเทวี และขุนนาง ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่า เป็นการเล่าเรื่องอะไร .. มีนาคเลื้อยพาดอยู่ตรงกลาง มีภาพบุคคลอยู่ตรงกลาง และตรงขอบมีรูปบุคคลอยู่เหนือมกร
ทับหลังอีกด้าน .. มีรูปแบบศิลปะถาลาปริวัตร คือมีวงโค้งมาบรรจบกับ 4 วง ด้านล่างเป็นเฟื่องอุบะที่ซับซ้อน สลักลึกลงไป 4 ชั้น
ศิขระ หรือยอดปราสาท .. มีวิมานขนาดเล็กสลักซ้อนกันขึ้นไปจนถึงส่วนบอด ซึ่งเป็นลักษณะของวิมานแบบศิลปะอินเดียใต้ ปัจจุบันรูปวิทานผุพัง แทบจะไม่เห็นรูปร่างแล้ว
เรือนธาตุรอบตัวปราสาทองค์ประธานที่มีแนวเสาติดผนังแบ่งผนังเป็นช่องกรอบ .. ภายในแต่ละช่องมีลวดลายประดับเป็นรูปวิมาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆซุ้มบุษบกหรือปราสาทขนาดเล็กโดยมีหน้าบันหรือยอดเป็นวงโค้งลวดลายเป็นรูปวิมาน หรือเรียกตามคำศัพท์เทคนิคว่า “วิมานลอย” (flying palaces) ในภาษาแขมร์เรียกว่า “ปราสาทอันแดด”
เทวาลัยโคนนทิ (S2) ตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธาน (S1) .. จากจารึก K440 นอกมณฑปบอกเอาไว้ว่า ที่นี่เคยมีรูปประติมากรรมของโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร ขนาดเท่าโคจริง
Credit : CMU
ทำด้วยวัสดุเงิน (โคนนนทิ ในปกรณัม มีกายสีขาว) ตัวโคหันหน้าเข้าปราสาทประธาน .. ดังนั้นด้านในปราสาทประธาน ต้องมีรูปเคารพของพระศิวะ หรือตัวแทนที่สื่อความหมายถึงองค์พระศิวะ
ตัวเทวาลัยมีลักษณะเป็นอาคารเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสา 4 ต้น คล้ายเทวาลัยของมหาฤาษี (N17)
แต่ที่นี่มีลักษณะโปร่ง ด้านบนอาจจะเคยมีเครื่องไม่ทำเป็นเรือนยอด ..
มีการประดับเส้นขอบของหลังคาด้วยส่วนของศีรษะบุคคลที่มีลักษณะเป็นชาวต่างชาติอย่างชัดเจน และเป็นลักษณะของศิลปะสมัยคุปตะของอินเดีย
โฆษณา