5 ม.ค. 2023 เวลา 10:47 • ไลฟ์สไตล์

ดูปูเสฉวนบก-Land hermit crabs &ปูก้ามดาบ- Fiddler crabs, Ghost crabs หาดสนพังงา

🐚ตามถ่ายคลิป ปูเสฉวน กับปูก้ามดาบ..ชูก้ามหรา-ปูนักรบ ส่วนตัวเมียไม่พกดาบนะคะ
ต้องทั้งคลานคลุกทราย และย่องเบากริบ โชคดีที่ไม่มีใครเห็นเพราะเช้ามาก ประมาณ 6 โมงเช้า มีแต่ รปภ.ของ Kalima & Villa Khao Lak มาต่อสะพานให้ข้ามไปใช้พื้นที่ "หาดสน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือภาคที่ 3
ปูก้ามดาบ เจอขากลับที่ต้นสะพานชักฝั่งของ Kalima ..เวลาถ่ายคลิปต้องนอนราบแนบไปกับสะพาน เพราะน้อง ๆ ปูร้อยกว่าตัวมีความรู้สึกไวมาก จะหลบลงรูเมื่อขยับตัว
...งานนี้ต้องทำใจแข็ง เพราะมีแขกฝรั่ง เดินเฉียดลงมาสะพานเนื่องจาก 8 โมงเช้าแล้ว เราก็ไม่ขยับตัว นอนพังพาบอยู่อย่างนั้น ..ถ้าจะเดินเขาก็เดินได้ เพราะมีพื้นที่พอเดิน
..ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงในการรอน้อง ๆ ถ่ายหลายคลิป มือสั่นตลอด ได้ภาพไม่ชัด แต่มีความสุขดี ..ที่เลือกมา หนุ่มปูก้ามดาบตัวนี้ท้าเรารบอยู่ตลอดเวลาค่ะ 🦀
เสียงเรือชาวบ้านที่อยู่ลำคลองน้ำจืดอีกฝั่งหนึ่งตะโกนทั้งขาไปขากลับ ขาไปคุยกับ รปภ.โรงแรมที่เปิดสะพานเชื่อมฝั่งให้ ไปไม่ถึงสิบนาที แล่นเรืออ้าวกลับ ได้ยินเสียงตะโกนว่า "... เรือเล็กห้ามออกจากฝั่ง.."
แปลกมากเสียงเครื่องยนต์เรือและเสียงตะโกนไม่ทำให้ปูก้ามดาบหนีลงรูเลยค่ะ....คงคุ้นเคยเป็นเพื่อนกัน😁 แต่เราไม่ใช่...
เมื่อ 2 ปีที่แล้วหลานสาวเล็ก ๆ 2 คนไปทำกิจกรรมชายทะเลคืนบ้านให้ปูเสฉวน กลับมาเล่าให้ฟังตามภาษาเด็ก และทุกครั้งที่ไปทะเลก็จะไม่เก็บเปลือกหอยมาเล่นอีกเลย
ช่วงนั้นเป็นปี 2563 สื่อไทยต่างพากันลงภาพที่เห็นแล้วสะเทือนใจของปูเสฉวนอาศัยอยู่ในขวดแตกปรากฏตามสื่อ ต่าง ๆ
ไทยพบปูเสฉวนบกอย่างน้อย 3 species คือ
Coenobita brevimanus (ปูเสฉวนบกยักษ์)
Coenobita violascens (ปูเสฉวนบกยักษ์)
Coenobita rugosus (ปูเสฉวนบก)
ทำไมปูเสฉวนบกต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยที่ตายแล้ว
ลักษณะเฉพาะของปูเสฉวนบก ปกคลุมด้วยเปลือก
ไคตินที่แข็งเหมือนปูทั่วไป ส่วนท้องมีลักษณะที่ยาวและนุ่มกว่า ทำให้สามารถปรับช่วงท้องให้เข้ากับเปลือกหอยที่เป็นเกลียวได้ โดยใช้ขาคู่ที่สี่และห้ายึดเกาะกับผนังด้านในของเปลือกหอยไม่ให้หลุด โดยการเกร็งกล้ามเนื้อตามโครงสร้างของหอย
ก้ามขนาดใหญ่ด้านซ้ายใช้ในการป้องกันตัว จับปีนต้นไม้และทรงตัว และยังใช้เป็นฝาปิดเปลือกหอย ส่วนก้ามด้านขวาที่เล็กกว่าใช้หยิบส่งอาหารและน้ำเข้าปาก ผิวของเปลือกที่ขรุขระช่วยยึดปูไว้ในเปลือก
ปูเสฉวนบกมีเหงือกที่ชื้นสำหรับหายใจ โดยช่องเหงือกมีหลอดเลือดที่พัฒนาสำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซได้โดยตรงกับอากาศ โดยต้องมีความชื้นในอากาศ 70% ซึ่งทำให้ปูเสฉวนบกต้องอาศัยเปลือกหอยในการเก็บกักความชื้นไว้ หากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยเกิน 24 ชั่วโมงก็จะตายได้ https://dmcrth.dmcr.go.th/mcrdi/detail/11434/
ปูเสฉวนบกที่เราเห็นเดินเล่นตามชายหาดจะในไทยมีชีวิตได้นานกว่า 60 ปี เฉลี่ยอายุยาวเท่าคนเลย 😇
ตอนที่ตามถ่ายปูเสฉวน ขอสารภาพถึงบาปที่เคยไปเอาเปลือกหอยกลับมาบ้าน ..ต้องกราบขอขมากุ้งหอยปูปลาไว้ ณ ที่นี้
ย่าเคยสอนว่า เวลาไปร้านอาหารอย่าสั่งกุ้งหอยปูปลาเป็นนะลูก ..และไม่ต้องบอกใครว่าย่าสอน เราไม่กินอะไรก็ไม่ต้องบอกคนในโต๊ะ เพราะจะทำให้เขาไม่สบายใจ
...ไม่สบายใจทุกครั้งที่ไปร้านอาหารที่ให้ลูกค้าสั่งสัตว์น้ำ เป็น ๆ ...จำเป็นต้องไปเพราะเป็นงานเลี้ยงแขกต่างประเทศของบริษัทฯ นั่งหันหลังให้บ่อ ตู้ปลาทุกครั้ง
อยู่กับปัจจุบัน ธรรมะจะเยียวยาทุกสิ่ง ถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
อธิบายภาพ ภาพบนแรก เอามือถือตั้งดักทางน้องปูเสฯ ...เขาเดินมาชิดประมาณ 8 นิ้ว เหมือนจะเห็นว่า มีอะไรขวางหน้า จึงค่อย ๆ เลี้ยวตัวออกไปทางซ้ายของกล้อง
น้องตัวนี้เดินห่างจากชายฝั่งมาถึงทรายแห้ง กลางป่าสน 50 เมตรกว่าค่ะ และทิ้งรอยทางเดินเป็นทาง ..ตอนแรกคิดว่ามีคนมาขี่จักรยานแต่เช้า...ปูเสฉวนบกที่หมกตัวเองตามใบสนแห้งก็มีและตัวเปลือกหอยก็แปลกไปค่ะ ถ่ายไม่ทัน🙃
🏕Everythinghobby! 🏖
ศึกษาพื้นที่สงวนชีวมณฑล
โฆษณา