Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
5 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • ท่องเที่ยว
กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก เมืองกำปงธม (5) .. กลุ่มปราสาททิศเหนือ (N)(1/2)
กลุ่มปราสาทตอนเหนือ (N) .. แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ ซึ่งมีการจัดวางแผนผังอยู่ในกำแพง กับกลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก ซึ่งประกอบด้วยปราสาทเดี่ยวขนาดกลางและเล็กที่มีอยู่กระจัดกระจาย
กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ .. มีแนวกำแพงล้อมรอบสองชั้น ตรงกลางเป็นปราสาทประธานก่ออิฐ (N1) นอกจากนี้ยังมีปราสาทบริวารที่ยังคงเห็นได้อีก 7 หลัง มีปราสาทเล็กแปดเหลี่ยม (N7) และมีปราสาทแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ย่อมุมอีก 3 หลัง (N8 – 10)
กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก เป็นกลุ่มปราสาทขนาดเล็กกระจายอยู่ทางเหนือของกลุ่มปราสาทสมโบร์ (ข้ามถนนมายังอีกฟากหนึ่ง) อีกหลายหลัง
.. ปราสาทเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ ซึ่งนักโบราณดคีบางท่านสันนิษฐานว่า ปราสาทในกลุ่มนี้มีบางปราสาทที่น่าสร้างขึ้นมาในยุคฟูนันเรืองอำนาจ ก่อนที่พระเจ้าอิศานวรมันจะแผ่ขยายอำนาจเข้ามยึดครองและตั้งเมืองหลวงทับซ้อนพื้นที่เดิมที่เป็นนครพลทิตยปุระ ของกษัตริย์เชื้อสายฟูนัน
สำหรับปราสาทแผนผังสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุมนั้นนักโบราณคดีบางท่านจัดไว้เป็นยุคฝูหนาน ก่อนหน้าที่พระเจ้าอีศานวรมันจะสถาปนาราชธานีที่สมโบร์ไพรกุก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปราสาทซ็อมโบร์มีปราสาทหลากหลายรูปแบบตามยุคสมัยการก่อสร้างที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม ตระการตา ในรูปแบบทั้งก่อนและหลัง “ศิลปะแบบ สมโบร์ไพรกุกห์”
ปราสาทที่น่าสนใจชมในกลุ่มปราสาททิศเหนือด้านนอกได้แก่ ปราสาทจัน (N16) ปราสาทอาศรมมหาฤๅษี (N17) ปราสาทเจรย (N18) ปราสาทสรงพระ (N23) เป็นต้น
ปราสาทประธาน (Prasat Sambor N -1) .. ก่อด้วยอิฐ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านมีขนาดความยาวราว 11 เมตร มีการย่อมุมค่อนข้างมากและชัดเจน ตัวปราสาทมีประตูเข้าได้ทั้ง 4 ด้าน
ใครบางคนเล่าว่า .. ผนังของปราสาทแห่งนี้มีความหนาราวเมตรครึ่ง สร้างด้วยการเรียงอิฐอย่างสวยงามขึ้นไปจนถึงส่วนยอด การที่ผนังต้องมีความหนามาก ก็เพื่อรับน้ำหนักของส่วนบนของปราสาท
อิฐที่ใช้ บางคนบอกว่า .. เป็นอิฐที่มีกรรมวิธีเดีนยวกับอิฐทวาราวดี ที่ใช้ในการสร้าง พระปฐมเจดีย์
ด้านในของปราสาท .. มีฐานโยนีขนาดใหญ่มาก ทำให้จินตนาการได้ไม่ยากว่า ศิวะลึงค์ ก็คงมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน แต่คงไม่สูงมากนัก
วิมานลอย ของปราสาทประธาน .. มีรูปจำหลักอิฐเป็นลวดลายเทพเจ้าและสิงสาราสัตว์ต่างๆ เช่นรูปครุฑบินแบกวิมาน เป็นต้น
วิมานลอยบนเรือนธาตุอีกด้านหนึ่ง
ปราสาทบริวาร ใกล้กับ N1 (เข้าใจว่า คือ N13) .. ตัวปราสาทพังไปมากพอสมควร โดยเฉพาะส่วนของหลังคา มีประตูทางเข้าทางเดียว ปัจจุบันมีการหล่อเสาคอนกรีตค้ำยันเอาไว้เพื่อไม่ให้พังลงมามากกว่านี้
ด้านหน้าปราสาทมีแท่น 8 เหลี่ยม และ 4 เหลี่ยมวางอยู่บนพื้น
ด้านในปราสาท .. สร้างด้วยการก่ออิฐเป็นช่องสูงขึ้นไปมากพอสมควร ..
บนพื้นปราสาท มีฐานโยนี และท่อโสมสูตร แต่ไม่เห็นมีศิวะลึงค์
คติความเชื่อ .. เทวาลัยที่ประดิษฐานศิวลึงค์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นบนฐานสูงใหญ่ที่ก่อลดหลั่นเป็นชั้นเชิงเรียวสอบขึ้นไปอย่างรูปปิระมิด (ให้มีความหมายเท่ากับตั้งอยู่บนภูเขา) ส่วนด้านนอกก็มีคูเมืองกว้างใหญ่ ล้อมรอบเสมือนทะเลรอบเขาพระสุเมรุ และมีกําแพงใหญ่รอบเมืองเสมือนเป็นเทือกเขาใหญ่รายล้อมขุนเขา
N9 .. ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ เช่นเดียวกับปราสาทร่วมสมัยเดียวกัน รวมถึงมีลักษณะโดยรวมที่เหมือนกับปราสาทสมโบร์ไพรกุกอื่นในบริเวณเดียวกัน
ส่วนศิขระของปราสาท ผุพังไปมากแล้ว .. ใครบางคนกล่าวว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่ไม่ย่อมุม อย่างไรก็ตาม จากที่ตั้งและลักษณะที่เห็น ไม่น่าจะเป็นปราสาทในสมัยฟูนัน ดังเช่นที่ มองติเออร์ Henri Pasmentler นักโบราณคดี ให้ข้อสรุปเอาไว้ว่า หากลักษณะของผังปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เป็นรูปลักษณะเข้าข่ายว่าเป็นสถาปัตยกรรมของปราสาทในยุคฟูนัน
วิมานลอย .. องค์ประกอบมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยพยายามเลียนแบบของจริงให้ได้มากที่สุด จะเห็นได้จากการสลักลวดลายประดับในส่วนต่างๆเต็มไปหมด
ส่วนที่เป็นวิมานที่อยู่ของเทพเจ้า .. จะเห็นเสาประดับกรอบประตูได้รับการสลักอย่างละเอียด ตกแต่งด้วยกูฑุขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก มีหน้าคนโผล่ออกมา
Note : กูฑุ (Kudu) เป็นภาษาทมิฬ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จันทรศาลา (Chandraśālā) หรือ ควากษะ (Gvākṣa) เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงซุ้ม หรือหน้าต่างทรงวงโค้งรูปเกือกม้า นิยมใช้ประดับหลังคาลาดหรือเป็นลายประดับในสถาปัตยกรรมอินเดีย ตรงกลางของกูฑุมักสลักใบหน้ารูปบุคคลโผล่ออกมา
ด้านข้างของวิมานใหญ่ .. สลักให้มี “วิมานหลังเล็ก” ประดับอยู่ทั้ง 2 ข้าง เป็นวิมานซ้อนวิมาน อันเป็นระเบียบสถาปัตยกรรมแบบอินเดียใต้ ที่เขมรการซึมซับรับเอาอิทธิพลของอินเดียเข้ามา
ประตูหลอก .. สร้างด้วยอิฐ
ภายในปราสาท มีแท่นที่มีการแกะสลักลายก้ามปู .. ดอกบัวบานหรือดอกไม้กลม สลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีลายก้านขดหรือผักกูด
บันทึก
1
1
5
1
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย