5 ม.ค. 2023 เวลา 15:18 • การ์ตูน
EP : 1,160
สีแห่งความโกรธ COLOR OF RAGE
เวลาที่ผมเจองานแนวพีเรียดหรือเรื่องที่ใช้พื้นหลังในอดีตเป็นฉากเล่าเรื่องราวให้ได้อ่าน ผมมักจะสนใจมองหาสิ่งที่เรื่องๆนั้นกำลังต้องการสื่อสาร บอกเล่าให้กับคนอ่านได้รับรู้ ด้วยความที่ผมชอบงานแนวนี้อยู่แล้วทำให้มันง่ายต่อการจะสนุกกับไอเดียของแต่ละเรื่องที่พยายามผสมมาให้อ่านอยู่เสมอ ไม่ว่าแนวมันจะสุดโต่งแค่ไหนก็ตามมันก็มักจะมีสิ่งที่ผมสามารถแยกเอามาคิดในแบบฉบับของผมในแต่ละเรื่องราวได้อยู่เสมอ
“สีแห่งความโกรธ หรือ COLOR OF RAGE” เรื่องนี้ก็เช่นกันถือเป็นงานที่มีองค์ประกอบน่าสนใจมากๆ กับการหยิบเรื่องราวของชนชั้นมาปะทะชนชั้น โดยใช้ฉากหลังของเรื่องราวจากยุคเอโดะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของยุคสมัยกับแนวความคิดหลายๆเรื่องที่ถูกหยิบมาพูดกันในเรื่องนี้พร้อมกันๆครับ
เรื่องราวทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อเรือขนสินค้าต่างประเทศลำนึงได้อับปางลงกลางทะเลใกล้ฝั่งญี่ปุ่น มีเพียงชาย 2 คนที่รอดชีวิตมาและสามารถขึ้นฝั่งได้ โดยคนนึงเป็นคนญี่ปุ่น แต่อีกคนนึงเป็นคนผิวดำ คำถามคือ เขาทั้ง 2 คนนี้คือใคร มันเกิดอะไรขึ้นกับเรือที่เขามา นี่คือเรื่องราวการเดินทางของทั้ง 2 ผ่านดินแดนที่ครั้งนึงเต็มไปด้วยศักดินาและชนชั้นใน ““สีแห่งความโกรธ” ครับ
ถ้าจะพูดง่ายๆเรื่องราวในเรื่องนี้ไม่ซับซ้อนในเชิงรายละเอียดมากนัก มันคือเรื่องราวของชาย 2 คนที่มีประวัติคลุมเครือกำลังเดินทางไปยังที่แห่งนึง โดยระหว่างทางมีเรื่องราวที่พวกเขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องจนเป็นเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องนี้
ซึ่งผมว่าทุกคนก็คงคุ้นเคยอะไรแบบนี้กันอยู่บ่อยๆ กับเรื่องราวแนวเอาตัวละครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสังคมหรือพื้นที่ที่มีความต่างของความคิด ความชอบและความเชื่อ จนก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆในเรื่องมากมาย ถ้าสรุปออกมาแบบนี้ ผมก็ถือว่าใกล้เคียงกับเรื่องราวในเรื่องนี้เช่นกัน เพียงแต่ถ้ามองในองค์ประกอบและรายละเอียดในเรื่องนี้จะพบว่าเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในหลายๆเรื่องเต็มไปหมดครับ
ด้วยเนื้อเรื่องที่เน้นความดราม่าของชนชั้นและสถานภาพของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ตั้งแต่ต้นเรื่องสิ่งที่เห็นเลยคือการนำเสนอภาพของการดิ้นรนเพื่อจะหนีออกจากสถานภาพอันไร้อิสระ ซึ่งถือเป็นแรงขับและเป็นพลังในการเดินเรื่องในหลายๆด้านในเรื่อง เพราะความตั้งใจในการนำเสนอออกมาด้านนี้ เนื้อหาสาระในเรื่องจึงเป็นไปด้วยความขัดแย้งและดิ้นรนเพื่อหนีออกจากสิ่งที่ตัวเองและผู้อื่นเป็นครับ
มันออกจะดูแปลกที่แปลกทางไปไม่น้อย ตั้งแต่ตัวละครผิวสีในสถานะภาพแบบนั้นที่ต้องมายุ่งวุ่นวายกับชนชั้นของทางญี่ปุ่น ซึ่งในยุคเอโดะของญี่ปุ่นนั้น การปกครองโดยเหล่าขุนนางยังถือว่าเข้มข้นมากๆ การใช้ตัวละครผิวสีมาเป็นตัวปะทะจึงออกจะแปลกทั้งไทมมิ่งของช่วงเวลาอยู่ไม่น้อย แต่ถ้ามองไปที่ตัวละครหลักทั้ง 2 คนที่มีปูมหลังไม่ชัดเจนเอามากๆ โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น ก็ถือว่าเป็นความคลุมเครือที่เรื่องจงใจสร้างเอาไว้ไม่แตกต่างจากตัวตนของคนผิวสีครับ
เอาจริงๆหลายๆรายละเอียดในเรื่องนี้ไม่ได้ใส่เอาไว้ ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับ 2 ตัวละครหลักนี้ด้วยครับ แต่ถามว่ามีผลอะไรมากไหม อันนี้แล้วแต่คนนะครับ ผมอ่านได้ชิวๆ และด้วยลักษณะที่นำเสนอให้ออกมาแบบคนจรที่เดินทางแบบไม่รู้หัวนอนปลายเท้า สิ่งที่เขาเข้าไปยุ่งก็ดูมันเกินพอดีไปไม่น้อยเหมือนกัน แต่หากมองในหลักคุณธรรมของยุคนี้แล้ว มันคือสิ่งที่เข้าใจได้ว่าพวกเขาในฐานะตัวเอกต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน
คาเรทเตอร์ 2 ตัวละครหลักเป็นอะไรที่ผมว่าเซ็ทเอาไว้ดีไม่น้อย (แม้จะขาดรายละเอียดปูมหลังก็ตาม) ดูมีความเป็นมนุษย์อย่างมาก แม้ความเป็นมนุษย์ที่ว่านั้นถูกนำเสนอออกมาในแง่พระเอกและคุณธรรมมากเกินไปในตัวละครบางตัว(ตามสมัยนิยมของช่วงเวลาเขียนเรื่องนี้)
ในขณะที่อีกคนดูเป็นมนุษย์ในแบบที่เราเข้าใจได้ง่าย ยึดหลักความจริงเป็นที่ตั้ง เสมือนเป็นความต่างในพื้นฐานของความเป็นคู่หูเหมือนกับหลายๆเรื่องที่เคยอ่าน แต่เรื่องนี้ด้วยความเป็นงานแนวดราม่าพีเรียดที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมเป็นสำคัญ สิ่งที่ทั้ง 2 ขัดแย้งหรือทำร่วมกันมันเป็นอะไรที่ทั้งเข้าใจได้ .. ยอมรับได้ แม้บางทีเราจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องตัวเองก็ตามครับ
พูดถึงตรงนี้ผมก็ต้องบอกว่าการที่ผมรู้สึกทำนองนี้ออกมาเพราะผมมองจากช่วงเวลาที่เรื่องนี้เขียน ซึ่งมันคงอยู่ในช่วงยุค 80 ปลายๆได้ พอมองไปที่ช่วงเวลานั้นที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทางสังคมและความเชื่อมากมาย การนำเสนอออกมาด้วยเรื่องราวแบบนี้ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งในเรื่องถ้าได้อ่านจะพบความรุนแรงในหลายๆรูปแบบและเราจะเห็นว่าความรุนแรงที่ว่าไปลงที่เด็กหรือสตรีเป็นสำคัญ ด้วยบริบทในยุคนั้นมองเด็กและสตรีที่แตกต่างจากตอนนี้ ก็ถือว่าเรื่องนี้เต็มไปด้วยความรุนแรงและขัดแย้งให้เห็นอยู่ไม่น้อยเลยครับ
แม้จะดูว่าเรื่องนี้พูดอะไรหลายๆอย่างมากมายหลายประเด็นก็ตามแต่สิ่งที่พูดก็พูดถึงจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์อย่างพวกเรา คนอ่านอย่างเราเลยเข้าถึงและเข้าใจ สามารถแสดงออกความคิดเห็นระหว่างอ่านไปได้ตลอดเรื่อง ชอบ ไม่ชอบ เห็นด้วย
หรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องราวที่ได้อ่าน ซึ่งด้วยพื้นหลังของเรื่องราวเป็นอดีต เมื่อมองจากมุมมองปัจจุบันย่อมเป็นอะไรที่ขัดกับความรู้สึกเราไม่น้อยในบางแง่ ผมถือว่านี่คือสาระที่เรื่องราวในเล่มนี้และแนวนี้มักจะทดสอบหรือต้องการสื่อสารเพื่อให้แต่ละคนหาคำตอบที่แตกต่างกันจากพื้นฐานคนอ่านอย่างเราๆครับ
มาพูดถึงในแง่งานวาดบ้างดีกว่า ผมว่าผมเคยได้ยินใครบางคนบอกว่า อ. Seisaku Kano เคยเป็นลูกมือหรือช่วยงาน อ. takao saito มาก่อน(ผู้วาด ต้องรอด) อันนี้ไม่รู้จริงแท้แค่ไหน แต่ถ้ามองจากลายเส้นเรื่องนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้มีมูลนะ เพราะแวบแรกที่เห็นตัวละครในเรื่องนี้ ผมคิดว่า อ. Saito มาวาดซะอีกนะครับ มันคล้ายๆ กันมากๆ และโดยส่วนตัวผมจดจำลายเส้นหลังๆของ อ. Kano ได้ เลยรู้สึกว่ามันไม่เหมือนงานวาดของ อ. Kano ในตอนนี้เลยครับ
ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนงานวาดของ อ. Saito มาก่อนจะจดจำลายเส้นของ อ. ได้ว่าเป็นงานสไตล์เก่าที่เต็มไปด้วยความละเอียดในทุกๆฉาก ซึ่งงานในเล่มนี้ก็เช่นกันครับ ต้องบอกว่าผมชอบงานวาดแบบนี้จริงๆ มันเต็มไปด้วยความใส่ใจ ความตั้งใจในการนำเสนอ ซึ่งงานสมัยก่อนแบบนี้แค่ได้เห็นลายเส้นผมก็รู้สึกว่าเราได้เห็นอะไรหลายๆอย่างมากกว่าแค่การสื่อสารผ่านภาพทั่วไป เรียกว่าทุกอณูของภาพ มันจะมีเรื่องราวบางอย่างถูกใส่เอาไว้ แค่เราจะสังเกตเห็นหรือเปล่าเท่านั้นเอง
และไม่ใช่แค่นั้นสำหรับงานวาดในเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ผมมองดู รู้สึกว่าเรื่องนี้ใช้เทคนิคการวาดที่แตกต่างกันในส่วนของหน้าเปิดแต่ละตอน ผมคิดว่าเป็นการวาดแบบใช้ถ่านในการวาดนะ มันเห็นถึงความแตกต่างจากการวาดอื่นๆ อย่างชัดเจน และสร้างเสน่ห์และแรงดึงดูดให้กับการอ่านอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆคนถ้าได้เห็นก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน
“สีแห่งความโกรธ หรือ COLOR OF RAGE” เรื่องโดย อ. KAZUO KOIKE และ งานภาพโดย อ. SEISAKU KANO โดยเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานเปิดตัวจากค่าย Chotto Comics โดยทำการพิมพ์ออกมาแบบเล่มเดียวจบ ด้วยขนาด BB ปกนอกใช้พื้นหลังขาวเพื่อตัดกับภาพเชิงอีโรติก จุกโผล่ ซึ่งดูเรียบง่ายแต่โดดเด่น เมื่อตัดกับอักษรสีแดงที่ใช้บนหน้าปกนี้ ส่วนปกในใช้ภาพเดียวกันแต่พิมพ์เป็นภาพขาวดำ ภาพรวมปกนอกดูออกเชิงอีโรติกไม่น้อยด้วยสไตล์นี้ครับ
ตัวเล่มเปิดอ่านแบบญี่ปุ่น เมื่อเปิดไปจะเจอหน้าสีก่อนเลยครับ เป็นภาพสีหน้าหลัง 2 หน้า ที่ต้องบอกว่านี่แหละคือภาพที่ผมคุ้นเคยของ อ. Kano และเมื่อดูรูปที่เลือกใช้ผมว่ามันเป็นคู่ตรงกันข้ามที่เหมือนล้อกับตัวเอก 2 คนในเรื่องนี้เลยครับ ส่วนความคมชัดของภาพสีบอกเลยว่าคมชัดมาก สีสวยน่าประทับใจครับ
ส่วนหน้าอื่นๆทั้งเล่มจะพิมพ์เป็นภาพขาวดำนะครับ งานพิมพ์ถือว่าคมชัดดี ทั้งในส่วนภาพวาดปกติและภาพที่วาดโดยถ่าน ซึ่งอย่างหลักอาจจะดูยากกว่าแบบแรก ด้วยเทคนิคการวาดแบบนั้นมีผลต่อการพิมพ์ไม่น้อย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ชัด หรือดูไม่รู้เรื่องนะครับ เพราะมันก็ยังคมชัดของมันอยู่ ความคมชัดนอกนั้นก็ถือว่าทำออกมาได้ดี รวมถึงคำแปลด้วยเช่นกัน เอาเป็นว่าตัวเล่มถือว่าทำออกมาได้ดีไม่มีอะไรให้ตำหนิครับ
นี่เป็นอีกเรื่องที่ส่วนตัวผมชอบนะ เป็นงานที่ไม่ได้อ่านยากเท่าไหร่แต่สามารถสร้างคำถามหรือความรู้สึกร่วมตามไปได้ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งๆที่เนื้อหาและเนื้อเรื่องไม่ใช่อะไรใหม่เลย อาจจะเป็นเพราะมันพูดถึงความขัดแย้งในบริบทที่ผมชอบด้วยมั้งครับ และพอเป็นคนชอบลายเส้นเก่าๆแล้วด้วย
พอเรื่องนี้เต็มไปด้วยงานสไตล์ที่ชอบ ก็เลยมองว่ามันช่วยให้ผมอ่านสนุกมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อ่านได้เพลินๆ แม้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่นัก ก็เราอ่านงานเก่าในยุคนี้ ใหม่ๆคงจะหาจากงานเก่ายาก งั้นมาดูความเก๋าของสิ่งที่เรื่องพยายามนำเสนอแล้วกันนะครับ เรื่องนี้มีอยู่นะที่ว่ามานั่น..
ภาพ 9.5/10
เรื่อง 8.4/10
ความประทับใจ 9/10
#Manga #รีวิวการ์ตูน #จบ #ChottoComics #การ์ตูนแนวพีเรียด #การ์ตูนแนวดราม่า #MangaAnimeReviews #การ์ตูนแนวต่อสู้ #9คะแนน #สีแห่งความโกรธ #หนังสือการ์ตูน #Rate18 #งานไม่เซ็น #เล่มเดียวจบ #การ์ตูนแนวภาพยุค80 #เธอๆอ่านเรื่องนี้หรือยัง
โฆษณา