Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
6 ม.ค. 2023 เวลา 03:27 • ท่องเที่ยว
กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก เมืองกำปงธม (6) .. กลุ่มปราสาททิศเหนือ (N)(2/2)
ปราสาท เด็ม ชาน (Deum Chan N15) .. ปราสาทหลังนี้สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ตั้งอยู่ริมถนน เห็นได้ชัดเมื่อถึงปราสาทสมโบร์ไพรกุก
ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทอิฐ รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู .. มีแท่นบูชา หรือแท่นทำพิธีกรรมอยู่ด้านหน้าของปราสาท
ประตูทางเข้าได้มีเพียงด้านเดียว .. ประตูส่วนที่เหลือเป็นประตูหลอก แต่ปรากฏการสลักลวดลายสวยเหมือนประตูที่จำหลักด้วยไม้
ประตูประดับด้วยทับหลังที่มีแกะสลักลวดล่ายประดับที่ละเอียดสวยงาม .. เหนือทับหลังมีกูฑุ สลักเสลาสวยงามเช่นเดียวกัน
รอบๆฐานปราสาท .. สร้างเป็นฐานย่อมุม ประดับด้วยการจำหลักลาย และก่ออิฐตามแบบแผนศิลปะอินเดียเป็นส่วนใหญ่
ด้านในของปราสาท มีแท่นประดิษฐานเทพเจ้า (ผู้เขียนไม่ทราบว่าเป็นเทพองค์ใด)
ผนังก่อด้วยอิฐ รูปร่างเป็นทรงสอบขึ้นไปด้านบน ที่มีช่องเปิดโล่ง
ประตูหลอก สร้างด้วยการก่ออิฐ … ทับหลังจำหลักสวยงามด้วยฝีมือช่างชั้นครู
การสลักลวดลายบนบานประตูหลอกสวยงาม
ด้านบนทับหลังจำหลักเป็นวิมานที่งดงาม
“วิมานลอย” บนเรือนธาตุขอบปราสาท .. มีภาพสลักอิฐที่ผนังด้านนอกของเรือนธาตุ ที่มีบุคคลอยู่ภายใน ยอดบนของวิมานมีซุ้มกุฑุที่มีรูปบุคคลอยู่ภายในซุ้ม
.. ลักษณะนี้ถอดแบบมาจากศิลปะอินเดียที่เคยนิยมสร้างกันมาก่อน อันเป็นรูปแบบที่สามารถพบได้ในศาสนสถานของอาณาจักรในอาเซียนที่ร่วมสมัยกัน เช่น อาณาจักรทวารวดีของไทย อาณาจักรมะตะรัมของอินโดนีเซีย และอาณาจักรจามปาของเวียดนาม
“วิมานลอย” ที่ถือว่ามีความพิเศษในการจำหลัก .. คือ วิมานที่มีรูปจำหลัก ผู้ชายที่มีลักษณะหน้าเรียว ตาโปน จมูกยาวโด่งงุ้ม หนวดยาว สวมหมวกแหลม ทรงกรวย หรือผ้าโพกศีรษะ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ลักษณะของชาวเขมร
.. นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่ารูปบุคคลในวิมานลอยนี้น่าจะเป็นชาวต่างชาติ พวกแขกอาหรับเปอร์เซีย รวมถึงอาจจะอนุมานได้ว่า ดินแดนอีศานปุระ น่าจะมีการติดต่อสัมพันธ์การค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชาวต่างชาติพวกแขกอาหรับเปอร์เซียด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม .. ภาพบุคคลในวิมาน สวมหมวกทรงกรวย และสวมเสื้อคลุมยาวแบบชนเผ่า ซิเถียน (Scythan) ซึ่งชาวอินเดียเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ศกะ” (Sakas)
.. ในช่วงเวลาที่มีอาณาจักร อิศานปุระ นั้น มีพราหมณ์และนักบวชจากอินเดียเข้ามาที่อิศานปุระแล้ว พราหมณ์บางคนอยู่ในราชสำนักในฐานะปุโรหิต และแต่งงานกับสตรีในราชวงศ์ชั้นสูงด้วย ..
… จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ปราสาทบางหลังในกลุมนี้ อาจจะสร้างโดยพราหมณ์หรือนักบวชที่มีบารมีสูง เฉกเช่นการสร้างปราสาทบันทายสรี ในช่วงสมัยหลัง ก็อาจจะเป็นได้ จึงมีรูปจำหลักของคนต่างชาติในวิมานลอย ของปราสาทนี้ (มโน และคาดเดาล้วนๆค่ะ)
อาศรมฤาษี (Asram Maha Russey N16) .. เป็นปราสาทขนาดเล็กที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มปราสาทนมโบร์ไพรกุก และนักโบราณดคีบางท่านสันนิษฐานว่า อาศรมฤาษี น่าจะสร้างขึ้นในยุคที่ฟูนันเรืองอำนาจ
ฐานของปราสาท .. สลักรูปเทพอยู่ในวิมาน
ผนังของปราสาทแต่ละด้านสร้างขึ้นจากแผ่นหินสีเทา มีลวดลายประดับตรงหัวเสา ฐาน และมีกูฑุ หรือซุ้มหน้าคนบนขอบหลังคาซึ่งเป็นลักษณะพิเศษตามแบบศิลปกรรมอินเดีย รวมทั้งใบหน้าคน (กูฑุ) ก็ละม้ายคล้ายกับคนอินเดีย ..
การมีกูฑุ บอกได้ว่า .. อาคารแห่งนี้เคยมีเรือนยอดมาก่อน โดยอาจจะสร้างด้วยไม้ ซึ่งในปัจจุบันไม่เหลือแล้ว
ปราสาทเจรย (Prasat Chrey N18) .. เจรย แปลว่า ไทร เป็นปราสาทขนาดเล็กทางด้านเหนือ อยู่ใกล้กับลานจอดรถ สามารถเดินเข้าไปยังทางดินเล็ก ๆ ไม่ลึกมากฝั่งซ้ายของลานจอดรถ คนละฝั่งกับปราสาทสมโบร์ไพรกุกอื่นๆ
ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทอีกหลังที่ปรากฏบ่อยๆ ในภาพถ่ายของปราสาทสมโบร์ไพรกุก .. ลักษณะเด่นของปราสาทหลังนี้คือเป็นปราสาทอิฐขนาดเล็กในผังสี่เหลี่ยมที่รากไม้ชอนไชหยั่งรากลึกพาดปกคลุมไปเกือบทั่วปราสาท
รากของต้นไทร .. ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งค้ำยันตัวปราสาทเอาไว้ หากทำลายต้นไม้ออก อาจจะทำให้ปราสาทพังทลายลงมาได้เลย มุมของปราสาทนี้ดูแปลก และน่าสนใจ .. ต้นไทรช่วยรักษาให้ปราสาทคงอยู่ หรือทำลายปราสาทกันแน่?
ด้านหนึ่งของปราสาทหลังนี้ เปิดเป็นช่องไม่กว้างนัก … เดิมเป็นประตูทางเข้า แต่ตอนนี้มีรากไทรมาพันรัดจนสูง ช่องที่มีอยู่จึงเหลือแค่ขนาดคนลอดคลานได้เท่านั้น
จารึกอยู่ที่กรอบประตูทางเข้าด้านใน เป็นจารึกในสมัยของพระเจ้าอิศานวรมัน .. จารึกมีเนื้อความที่สำคัญ กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์สมัยต่างๆ 3 พระองค์ เรียงกันลงมา มีชื่อของเทพเจ้า และสิ่งของสำคัญที่นำมาถวายให้แก่เทพเข้าในสมัยต่างๆ .. ส่วนด้านล่างของจารึกจะเป็นชื่อของข้าทาสต่างๆ
แม้ว่าจะมีการพบจารึกอื่นๆหลายจารึกในเขตปราสาทกลุมสมโบร์ไพรกุก แต่จารึกเหล่านั้นล้วนเป็นจารึกของพระเจ้าอิศานวรมัน ทั้งสิ้น ..
... ความสำคัญของจารึกที่พบในปราสาทอันนี้ อยู่ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ว่า อย่างน้อยก่อนที่จะเข้าสู่ยุคพระนครนั้น เจนละ มีกษัตริย์ที่มีลำดับอ้างอิงได้ คือ ภววรมัน .. มเหนทรวรมัน (จิตรเสน) และ พระเจ้าอิศานวรมัน ..
… ทำให้รู้ว่ามีการยอมรับการเป็นกษัตริย์ในสมัยลุง พ่อ และตนเอง สามารถนำไปเปรียบเทียบกับจารึกอื่นๆได้
ด้านในของปราสาท .. ปัจจุบันเป็นห้องโล่งๆ มองเห็นผนังอิฐก่อสูงขึ้นไปเป็นเหมือนปล่องไฟที่มีปลายเปิดรับอากาศจากด้านนอก
ประตูหลอกด้านข้างของปราสาท .. ส่วนที่อยู่เหนือกรอบประตูเป็นวิมานลอยเช่นกัน โดยมีกูฑุใหญ่ อยู่ด้านบนของวิมาน
ที่น่าสนใจคือ .. มีท่อโสมสูตรออกมาจากด้านในของปราสาท ซึ่งบอกให้รู้ว่าข้างในเคยมีฐานโยนี และศิวะลึงค์
ท่อโสมสูตร .. เป็นอุปกรณ์ส่วนควบของศิวะลึงค์และโยนี ใช้ในการประกอบพิธีของบุคคลชั้นสูงโดยให้พราหมณ์เทน้ำลงไปบนแท่งศิวะลึงค์ให้ไหลลงไปที่โยนี "กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์" และไหลออกไปสู่ข้างนอกตัวปราสาทผ่านท่อโสมสูตร เพื่อให้ราษฏรที่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในตัวปราสาท สามารถรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปบูชาที่บ้าน
.. จากการเดินชม กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก จะเห็นว่าบางปราสาทมีฐานโยนี แต่ไม่มีท่อโสมสูตร ส่วนปราสาทนี้มี .. เหตุผลคืออะไร?
ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า .. เชื่อว่า ปราสาทที่มีท่อโสมสูตรเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีของชนชั้นสูงที่ปกครองในเมืองนั้นๆ ส่วนปราสาทที่ไม่มีท่อโสมสูตรเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลชั้นสูงท่านนั้นๆ
ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่า ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่สำคัญมาก .. และอาจจะดีกว่าหากเรารู้เรื่องราว มากขึ้น และมากกว่าความสวยของไทรที่โอบกอดปราสาทไว้อย่างอลังการเพียงอย่างเดียว
กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน ยังมีปราสาทที่น่าสนใจอีกหลายหลังที่เราไม่มีเวลาพอจะไปเดินชม เช่น ..
N23 .. เคยมีรูปเคารพของพระพรหม ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นเรื่อวแปลก ด้วยเหตุที่ พระพรหมเคยถูกสาปไม่ให่มีเทวาลัยของตนเอง จรได้ชื่อว่า “เทพเจ้าผู้ไร้วิหาร” .. ดังนั้นส่วนใหญ่รูปเคารพของพระพรหมจึงมักจะประดิษฐานร่วมกับเทพองค์อื่นๆ
สาเหตุ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ลิงคปุราณะ ถึงเหตุการณ์ในยุคสิ้นกัป และกำลังจะขึ้นกัปใหม่ .. พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระพรหมถกเถียงกันว่าใครใหญ่กว่ากัน ในฐานะผู้สร้างโลกและจักรวาล
ระหว่างนั้นพระศิวะจึงบันดาล ให้เกิดลึงค์ขนาดมหึมา ห้อมล้อมด้วยเปลวเพลิง เทพทั้งสองจึงหยุดวิวาทและหันมาสนใจเสาเพลิง ว่าเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ใด พระวิษณุแปลงเป็นหมูป่าขุดลงไปหาโคนแต่ไม่พบ ส่วนพระพรหมแปลงเป็นหงส์บินขึ้นฟ้า ได้เจอดอกไม้ที่หล่นมาจากสวรรค์ สอบถามได้ความว่า หล่นลงมาจากเครื่องประดับเศียรพระศิวะ จึงกลับลงมาพร้อมดอกไม้ ที่ยอมเป็นพยานให้ว่าพบยอดเสาแล้ว
ทันใดนั้นเสาเพลิงได้ระเบิดออกปรากฏเป็นพระศิวะซึ่งรู้ว่าพระพรหมกล่าวเท็จ จึงสาปแช่งให้ไม่มีผู้ใดนับถือ ไม่มีวิหาร (วัด) และงานฉลองในพิธีบูชาของตัวเอง ส่วนดอกไม้ถูกสาปแช่งให้มีอายุสั้น เหี่ยวเฉาเมื่อถูกนำไปบูชา ฝ่ายพระวิษณุได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพผู้ซื่อสัตย์ จะได้เป็นที่รักและได้รับการบูชาเช่นเดียวพระองค์
นอกจากนั้นยังมี .. ปราสาทจัน (N16) เป็นปราสาทอิฐผังสี่เหลี่ผืนผ้าเรือนยอดสูงตามรูปแบบปราสาทสมโบร์ไพรกุกห์ เป็นปราสาทที่มีรูปจำหลักประดับฝาผนัง “วิมาน” หรือปราสาทลอยที่งดงามและยังคงสภาพความสมบูรณ์มากที่สุด ตั้งอยู่ริมฝั่งถนนทางด้านทิศเหนือ
ปราสาทซอนดัน (Sandan N21) เป็นปราสาทอิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรือนยอดพังทลายหมดแล้ว แต่รูปจำหลักอิฐภายนอกที่เป็น “วิมาน” หรือปราสาทลอย ยังคงมีความคมชัด ปราณีตงดงามมาก และบริเวณภายนอกอาคารยังปรากฏท่อโสมสูตรรูปหัวสิงห์โตให้เห็น
ปราสาทสรงพระ ตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มปราสาททิศเหนือด้านใน ใกล้ๆกับอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นปราสาทอิฐหลังเล็ก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเรือนยอดสูงหันประตูเข้าไปทางทิศตะวันออก เสากรอบประตูกลม และทับหลังมีขนาดกะทัดรัดงดงาม เป็นปราสาทที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ และปัจจุบันยังคงใช้ในการประกอบพิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกทำการเกษตรของชุมชนปราสาทซ็อมโบร์
นอกจากกลุ่มปราสาทหลักทั้ง 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว สมโบร์ไพรกุกยังมีกลุ่มปราสาทขนาดย่อยอีกมากมายในป่าลึกทึบในบริเวณใกล้เคียง .. ที่เคยเป็นดินแดนที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ในการก่อสร้างปราสาทขึ้นมากมายเพื่อเป็นที่ถวายสักการบูชาอติเทพองค์พระศิวะ ตามความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย .. เช่น กลุ่มปราสาทโรบังโรเมียะ (K) ซึ่งมีปราสาทย่อยที่สำคัญคือปราสาทเสร็ยกรุปเลียะก์ (สตรีครบลักษณ์) และโกรลโรเมียะ (คอกแรด) เป็นต้น
บันทึก
1
1
5
1
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย