7 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กลยุทธ์ของ Eat Am Are ที่ทำให้เป็นร้านสเต๊กขวัญใจมวลชน และมีรายได้เฉลี่ยต่อสาขา แซงแบรนด์ดัง
หากใครเป็นคอสเต๊ก ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะต้องเคยได้ยินชื่อ Eat Am Are ผ่านหู อย่างแน่นอน
โดยผู้ก่อตั้ง คือ คุณธัช เกษมสิทธิโชค
ด้วยรสชาติที่ถูกปาก ปริมาณที่จุใจ ในราคาที่เข้าถึงได้
ทำให้ใครต่อใคร เมื่อได้ลองทานสเต๊ก ที่ร้าน Eat Am Are แล้ว ต่างก็ติดใจ และอยากที่จะกลับไปลิ้มลองรสชาติอีกครั้ง
1
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม ทุกครั้งที่เดินผ่าน ร้าน Eat Am Are ไม่ว่าจะเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ข้างทาง ในคอมมิวนิตีมอลล์ หรือห้างสรรพสินค้า คนก็แทบจะแน่นร้านทุกครั้งไป
ซึ่งความฮอตฮิตและฐานลูกค้าอันเหนียวแน่นนี้ ก็ถูกสะท้อนออกมาที่ผลประกอบการของร้าน
โดยหากวิเคราะห์ถึงตัวเลขรายได้ และจำนวนสาขาในปี 2564 จะพบว่า
บริษัท อีท แอม อา กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน Eat Am Are
ปี 2562 รายได้ 280 ล้านบาท กำไร 2.5 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 227 ล้านบาท กำไร 1.9 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 271 ล้านบาท กำไร 2.2 ล้านบาท
2
โดยในปี 2564 ร้าน Eat Am Are มีอยู่ด้วยกัน 8 สาขา
เมื่อคำนวณหารายได้เฉลี่ยต่อสาขา จะพบว่า 1 สาขา ของ Eat Am Are ทำรายได้ 2.8 ล้านบาท/เดือน เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน Eat Am Are มีทั้งหมด 9 สาขา และเร็ว ๆ นี้กำลังจะเปิดใหม่อีก 1 สาขา รวมเป็น 10 สาขา
1
ทีนี้มาดูทางด้าน บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ผู้บริหารร้าน Sizzler
ปี 2562 รายได้ 2,691 ล้านบาท กำไร 124 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 1,757 ล้านบาท ขาดทุน 53 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,456 ล้านบาท ขาดทุน 39 ล้านบาท
1
เมื่อนำรายได้ปี 2564 มาคำนวณหารายได้เฉลี่ยต่อสาขา ซึ่งตอนนั้น Sizzler มีอยู่ 63 สาขา
จะพบว่า 1 สาขา ของ Sizzler ทำรายได้ 1.9 ล้านบาท/เดือน
1
(ปัจจุบัน Sizzler มีทั้งหมด 61 สาขาด้วยกัน)
นั่นหมายความว่า ถึงแม้ Eat Am Are จะมีสาขาน้อยกว่า Sizzler แต่ก็ทำรายได้เฉลี่ยต่อสาขา ได้มากกว่าแล้วนั่นเอง..
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราลองมองในมุมของกลยุทธ์ ที่ทำให้ Eat Am Are กลายเป็นร้านสเต๊กขวัญใจคนไทย ก็จะประกอบไปด้วย
1) รสชาติดี ปริมาณเยอะ ราคาเข้าถึงได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รสชาติขององค์ประกอบที่อยู่บนจาน ไม่ว่าจะเป็น สลัด เครื่องเคียง ขนมปังชีส หรือแม้แต่พระเอกอย่าง “สเต๊ก” มีรสชาติดี ถูกปากคนไทย
ที่สำคัญคือ “ปริมาณ” ที่ให้เยอะ จนสเต๊ก 1 จาน สามารถแบ่งทานกัน 2 คนได้ สำหรับคนที่ทานน้อย
รวมถึงราคาที่มีความสมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่ได้ โดยราคาเฉลี่ยตกอยู่ที่ 100-250 บาทต่อจาน
2) คุณภาพเป็นมาตรฐาน
รสชาติและปริมาณของสเต๊ก รวมถึงเครื่องเคียงในแต่ละจาน ไม่ว่าจะไปทานที่สาขาไหนก็ตาม จะมีมาตรฐานเหมือนกันหมด
เช่น สเต๊กปลาย่าง ที่จะมีขนาดใกล้เคียงกัน หรือข้าวผัด สลัด และขนมปังชีส ที่รสชาติ เหมือนกับปรุงออกมาจากครัวเดียวกัน
2
ซึ่งการควบคุมมาตรฐานของรสชาติให้คงที่ ได้เหมือนกันทุกสาขา เกิดจากการทำ Standard Operating Procedure (SOP) หมายถึง การเขียนเอกสารขั้นตอนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นมาอย่างละเอียด
ทำให้พนักงานในครัว รู้ขั้นตอนในการปรุงอาหาร สัดส่วนในการใช้วัตถุดิบ และเวลาในการทำอาหารที่เหมาะสม
ซึ่งเป็นเครื่องมือชั้นดี ที่ช่วยลดความผิดพลาด และพนักงานใหม่ ยังสามารถปฏิบัติตามและเรียนรู้ได้ทันที เป็นการช่วยลดขั้นตอนในการสอนงาน ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
1
ในส่วนของการควบคุมปริมาณวัตถุดิบให้มีความคงที่ ในจุดนี้ แบรนด์เองก็ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบที่ดี การดีลกับซัปพลายเออร์ ให้ได้วัตถุดิบตรงตามที่ต้องการ โดยที่คุณภาพยังคงเดิม เหมือนกับวันแรกที่เปิดร้าน
3) ทำเลที่ตั้งสาขา
เสียงตอบรับของลูกค้า มักจะพูดเหมือนกันว่าร้าน Eat Am Are มีสาขาที่ค่อนข้างน้อย เพราะอัตราการขยายสาขา ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแบรนด์โฟกัสกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน มากกว่าการเร่งขยายธุรกิจ
1
โดยในช่วงแรก ๆ สาขาของร้าน Eat Am Are มักจะตั้งอยู่ข้างทาง และในคอมมิวนิตีมอลล์ก่อน
เพื่อควบคุมต้นทุนด้านค่าเช่า ไม่ให้แพงจนเกินไป และสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ที่มีกำลังซื้อปานกลาง
1
ต่อมาพอแบรนด์ติดตลาด ธุรกิจแข็งแรงพอ ร้านก็เริ่มขยายสาขาใหม่ ไปตั้งตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ บ้างแล้ว เช่น MBK Center เพื่อขยายฐานและเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น
1
4) “ลูกเล่น” ในการออกแบบเมนู
จุดเด่นอีกอย่างคือ การออกแบบเครื่องเคียงที่มีความหลากหลาย ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม และสนุกในการเลือก
โดยมีทั้งเครื่องเคียง ที่ไม่คิดเงินเพิ่ม เช่น สลัดผัก เฟรนช์ฟรายส์ หอมทอด และข้าวผัด
และเครื่องเคียงที่คิดเงินเพิ่ม 15 บาท เช่น มันบด มันอบ สปาเกตตี มันบดทอด และส้มตำ
การมีตัวเลือกให้ลูกค้า เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้าง “ประสบการณ์” และการมีส่วนร่วม ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือ เครื่องเคียงต่าง ๆ ถูกออกแบบมาให้ถูกปากทั้งชาวต่างชาติและคนไทย อีกด้วย
จากกรณีศึกษาของ Eat Am Are ทำให้เราเห็นมุมของการทำธุรกิจ ได้อย่างหนึ่งว่า
เราอาจไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่ “การเติบโต” ของธุรกิจ เพียงอย่างเดียว
ไม่ต้องเร่งรีบขยายสาขา หรือทำรายได้และกำไรให้เติบโตหลาย ๆ เท่า ในแต่ละปี
1
หากเราลองเปลี่ยนจุดโฟกัสมาที่ “ความสุข” ของลูกค้า
ผลลัพธ์ที่ได้ ก็อาจเป็นเหมือนอย่าง Eat Am Are
ที่ไม่ว่าจะไปเปิดสาขาที่ไหน ลูกค้าก็พร้อมจะตามไปต่อคิว เพื่ออุดหนุนในทุกเมื่อ นั่นเอง..
1
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โฆษณา