6 ม.ค. 2023 เวลา 10:30 • กีฬา
ไขข้อข้องใจ ทำไม สนามศุภชลาศัย ถึงไม่ได้รับการปรับปรุง | Main Stand
พลันที่ภาพของสนามศุภชลาศัย สถานที่จัดคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ของ BLACKPINK ถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก มีหลายเสียงมองว่าสนามแห่งนี้มีสภาพที่เก่าแก่ทรุดโทรมและยังดูไม่เข้ากับภาพลักษณ์อันทันสมัยของวงเลยแม้แต่น้อย
เหตุใดสนามอันได้ชื่อว่าเป็น “สนามกีฬาแห่งชาติ” ที่ควรจะทันสมัยและมีมาตรฐานที่สุดของประเทศกลับถูกปล่อยจนดูทรุดโทรมเหมือนแทบไม่เคยได้รับการปรับปรุงแบบนี้ ... หาคำตอบได้ที่ Main Stand
ใครเป็นเจ้าของ ?
สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยแต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของวังวินด์เซอร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของหอพักโรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
ก่อนที่ในเวลาต่อมาหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกของไทย ได้มีแนวคิดที่จะก่อสร้างสนามกีฬากลางของประเทศขึ้นมา จึงได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อก่อสร้าง “กรีฑาสถานแห่งชาติ” จนแล้วเสร็จและเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2481
สนามกีฬาแห่งนี้ถูกใช้จัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติมาแล้วมากมายทั้ง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ฟุตบอลทีมชาติ ฟุตบอลสโมสร การแข่งขันกรีฑาระดับชาติ ตลอดจนคอนเสิร์ตใหญ่ของ ไมเคิล แจ็กสัน เมื่อปี 2536 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับปรุงใหญ่เพียงครั้งเดียวเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี เมื่อปี 2551 ด้วยการตกแต่งและติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่
อย่างไรก็ตามหลังจากสัญญายาวฉบับสุดท้ายหมดลงในปี 2555 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของที่ดินได้ขอขึ้นค่าเช่าพื้นที่จากปีละ 3 ล้านบาท เป็นปีละ 153 ล้านบาท พร้อมเรียกขอพื้นที่คืนเพื่อนำไปพัฒนาเองเนื่องจากมองว่ากรมพลศึกษายังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ทว่าฝั่งผู้เช่ายังติดปัญหาเรื่องงบประมาณและการหาสถานที่ใหม่จึงพยายามไกล่เกลี่ยจนนำไปสู่การต่อสัญญาชั่วคราวแบบปีต่อปี โดยหลังจากนั้นได้ทยอยคืนพื้นที่บางส่วนเรื่องมา ไล่ตั้งแต่ สนามเทนนิส อาคารจันทนยิ่งยง สนามฟุตบอลจินดารักษ์ ฯลฯ จนเหลือเพียงอาคารกีฬานิมิบุตร และสนามศุภชลาศัย ที่ยังยื้อใช้งานอยู่จนถึงตอนนี้
แน่นอนว่าเมื่อผู้เช่าเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้มีงบประมาณมากมาย ด้วยสัญญาปีต่อปีจึงไม่สามารถพัฒนาและปรับปรุงที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินได้ แถมยังต้องจ่ายค่าเช่าที่แพงขึ้นสวนทางกับรายรับที่นับวันยิ่งน้อยลงทุกที จึงลืมเรื่องการลงทุนด้วยเงินก้อนโตสำหรับพัฒนาและปรับปรุงสนามไปได้เลย
ขณะที่ผู้ให้เช่าก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องทุ่มเงินปรับปรุงใหม่ รอเพียงวันเรียกคืนพื้นที่ได้ทั้งหมดแล้วปรับปรุงใหญ่ทีเดียวเลยจะดีกว่า
ทำให้สภาพสนามนอกจากจะเก่าแก่แล้วยังดูทรุดโทรม ห้องน้ำ ห้องพักนักกีฬา อัฒจันทร์ ห้องจำหน่ายตั๋ว และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ต่างจากสถานที่โดยรอบที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าและการคมนาคมขนส่งที่ล้ำยุคขึ้นทุกวัน
ในเวลานั้นผู้คนต่างมีความเห็นแบ่งเป็นหลายฝ่าย บ้างก็อยากให้จุฬาลงกรณ์ฯ เรียกคืนพื้นที่ไปทั้งหมดเพื่อนำไปพัฒนาให้ทันสมัยตามแผนที่วางไว้ ทั้งตัวสนามและพื้นที่โดยรอบที่ต้องการให้เป็นศูนย์ออกกำลังกายใจกลางเมืองและจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ... บ้างก็อยากให้อนุรักษ์ตัวสนามที่มีความทรงจำไว้ หวั่นว่าคืนไปแล้วจะถูกทุบทำลายทิ้ง ถึงขนาดเรียกร้องให้มีการขึ้นทะเบียนสนามศุภชลาศัยเป็นโบราณสถานเลยทีเดียว
เตรียมขึ้นทะเบียน
อย่างที่กล่าวไป สนามศุภชลาศัยถือเป็นสนามกีฬาที่มีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน นอกจากจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติแห่งแรกของเมืองไทยแล้วยังเป็นสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของเอเชียในสมัยนั้นด้วยเช่นกัน
1
ที่สำคัญยังแฝงไว้ด้วยศิลปะอันทรงคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้าปะรำที่ประทับที่ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง เหนือหัวเสาหน้าสนามประดับด้วยตราสัญลักษณ์องค์พระพลบดี สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษาที่ออกแบบโดย อ.ศิลป์ พีระศรี หน้ามุขทางขึ้นตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ รวมถึงจารึกชื่อนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลในเอเชียนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพลงบนผนังตลอดอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก
สิ่งเหล่านี้ทำให้สนามศุภชลาศัยถูกยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ หรืออาคารเก่าที่มีคุณค่าทางทางสถาปัตยกรรมเป็นที่เรียบร้อย โดยรอเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อตัวสนามมีอายุครบ 100 ปี
การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อรับรองว่าสิ่งก่อสร้างแห่งนี้มีความสําคัญและมีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนเพื่อคุ้มครองป้องกันสิ่งก่อสร้างนั้นมิให้ถูกทําลาย หรือเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ต่อไป
ดังนั้นเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว การจะรื้อสร้างใหม่หรือปรับรูปโฉมใหม่ให้ทันสมัยและได้มาตรฐานมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น ทำได้แต่เพียงปรับปรุงเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งจะต้องทำเท่าที่จำเป็นและทำให้มีลักษณะกลมกลืนกับของเดิมด้วย โดยทุกกระบวนการต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร
ในเรื่องนี้ ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษาคนปัจจุบัน ได้เปิดเผยว่าการจะปรับปรุงสนามศุภชลาศัยครั้งใหญ่คงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่จะดูแลให้อยู่ในสภาพที่ดี ... โดยสถานที่แห่งนี้มีความเก่าแก่ ควรค่าแก่การอนุรักษ์อาคารสถานที่ให้คงสภาพเดิม ... เพราะสนามศุภชลาศัยถือเป็นรากเหง้าของวงการพลศึกษาไทย ดังนั้นป้ายหรือโลโก้ที่ถูกมองว่าโบราณ กลับเป็นสิ่งที่ทางกรมฯ พยายามอนุรักษ์ไว้
เมื่อไม่มีทั้งผู้ลงทุนแถมยังจ่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะได้เห็นสนามศุภชลาศัยรูปโฉมใหม่ที่ทันสมัยและยกระดับมาตรฐานสู่ระดับโลก
แต่ก็ชวนอดคิดไม่ได้ว่าสนามเก่าที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์และเรื่องราวในแบบที่เป็นอยู่นี้ กับสนามที่ถูกปรับปรุงใหม่ให้ก้าวทันโลก สิ่งไหนเหมาะสมกว่ากัน
บทความโดย ชมณัฐ รัตตะสุข
โฆษณา