6 ม.ค. 2023 เวลา 15:17 • ธุรกิจ
ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา? รู้จักพฤติกรรมพิษร้ายจากนายจ้าง ‘Quiet Promotion’ เงินเดือนเท่าเดิม เพิ่มเติมคือหน้าที่รับผิดชอบ
เมื่อปีที่แล้ว ศัพท์ที่เกี่ยวกับเทรนด์การทำงานอย่าง ‘Quiet Quitting’ หรือ ‘Quiet Firing’ มาแรง เรามารู้จักกับอีกหนึ่งเทรนด์รับปีใหม่ที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือ ‘Quiet Promotion’ ที่บางคนอาจเจอมาโดยไม่รู้ตัวในช่วงการประชุมวางแผนทิศทางต้นปี
ถ้าเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่าอยู่ๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นจากที่เคยตกลงไว้ตอนสมัครงาน แต่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเลย หรืออยู่ๆ ก็ได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เทียบเท่ากับตำแหน่งที่สูงกว่า แต่ตำแหน่งในนามบัตรก็ยังคงเหมือนเดิม คุณอาจจะกำลังเจอกับการ ‘Quiet Promotion’
โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่หลายองค์กรมักมีการประชุมวางแผน วางโครงสร้างใหม่ วางทิศทางการทำงานใหม่ บางคนก็ได้รับของขวัญปีใหม่เป็น ‘หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิม’ ไม่ว่าคุณจะถนัดในการทำสิ่งนั้นหรือไม่ก็ตาม
2
หรือบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่องค์กรได้ทำการเลิกจ้างครั้งใหญ่ เมื่อพนักงานบางส่วนลาออกไป ก็กลายเป็นคุณที่ต้องมาทำงานแทนพวกเขา แต่ข่าวร้ายก็คือ เงินเดือนยังเท่าเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะมีการสำรวจโดย JobSage ในหมู่พนักงานบริษัทกว่า 1,000 คนทั่วสหรัฐฯ พบว่า 3 ใน 4 ของพนักงานล้วนถูกเพิ่มหน้าที่รับผิดชอบ แต่ไม่มีการขึ้นเงินเดือนแต่อย่างใด
Bonnie Dilber ผู้จัดหางานที่โด่งดังจากการพูดถึงเรื่อง Quiet Quitting ได้ออกมาให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า การขยายโอกาสทางหน้าที่การงานที่ดีจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของเวลาและพลังงานที่ใช้ ส่วนเป้าหมายของการขยายโอกาสนี้คือการที่ทำให้ตัวเราได้เรียนรู้และเติบโต ตัวอย่างของโปรเจกต์ใหม่ที่ดีคือการใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถทำเสร็จได้ในเวลาทำงานปกติ และไม่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าต้องเอาเวลาส่วนตัวมาทุ่มเทให้
แต่ถ้าโปรเจกต์ใหม่นั้นใช้เวลากว่า 30% ของชั่วโมงการทำงานทั้งหมด หรือรู้สึกว่าเริ่มกินเวลาส่วนตัว เริ่มต้องนำโปรเจกต์นี้กลับไปทำที่บ้าน เพราะงานหลักก็แทบจะไม่ไหว โปรเจกต์ใหม่ก็เข้ามาแทรก Dilber ก็กล่าวว่าองค์กรกำลังเอารัดเอาเปรียบพนักงาน คนคนหนึ่งกำลังทำงานสำหรับสองคน องค์กรควรจ้างพนักงานมาเพิ่ม หรือพนักงานแบบสัญญาจ้างเพื่อทำโปรเจกต์นี้ก็ได้ ไม่ใช่คว้าเอาพนักงานประจำที่ใกล้ที่สุดมาเพิ่มหน้าที่รับผิดชอบให้โดยไม่มีค่าตอบแทนเพิ่มอย่างเหมาะสม
Valerie Gordon ผู้ฝึกสอนด้านอาชีพและการสื่อสาร ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า เมื่อได้รับหน้าที่รับผิดชอบใหม่มา ให้ถามตัวเองว่า บริษัทกำลังมอบโอกาสในการเติบโตให้ หรือกำลังโยนงานที่หาใครทำไม่ได้มาให้เรากันแน่ เพื่อแยกให้ออกว่านี่คือโอกาสจริงๆ หรือแค่การเอาเปรียบขององค์กร และทุกครั้งที่ได้รับหน้าที่รับผิดชอบใหม่มา พนักงานมีสิทธิที่จะต่อรองเรื่องค่าตอบแทนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินเดือน การทำงานจากที่บ้าน หรือวันหยุดเพิ่มเติม
1
แม้องค์กรจะคิดว่าการ Quiet Promotion เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการหาแรงงาน แต่ที่จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าพฤติกรรมนี้มีแต่เสียกับเสีย ทั้งองค์กรที่ต้องเสียพนักงานฝีมือดีให้กับคู่แข่งที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนในราคาที่เหมาะสมกว่า ทั้งพนักงานที่เสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต และเสียโอกาสในการเติบโตทางหน้าที่การงาน
อ้างอิง https://bit.ly/3ik6LPn
โฆษณา