7 ม.ค. 2023 เวลา 10:40 • การเมือง
คนนอกสนาม !! “จารย์มาร์ค” ดูบอลมองการเมือง รอสัญญาณประชาชนคัมแบ็ค
“การเมืองก็เหมือนเราดูบอล บางทีคนที่อยู่ในสนาม...มันก็มองไม่เห็น ทุกวันนี้ผมยินดีให้คำแนะนำภาคประชาชน และพยายามกระตุ้นให้มองปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีหลายภาคส่วนรวมตัวกันทำข้อเสนอเชิงการเปลี่ยนแปลง นำเสนอพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง ส่วนอนาคตการเมืองของผมจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับประชาชน ต้องเคารพประชาชน”
คีย์แมสเสจ “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. เมื่อปี 2562 เพื่อรักษาจุดยืนอุดมการณ์ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ และรักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน...ปชป.ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ !!
4 ปี เว้นวรรคการเมืองสลับบทเป็นนักวิชาการ #จารย์มาร์ค เดินสายบรรยาย สัมมนาหัวข้อร้อยแปดพันเก้า การเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเกษตร การต่างประเทศ ฯลฯ
แล้วยังติดตามข่าวการเมืองตามปกติ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนการเมืองไม่ได้ขาดสาย เพียงแต่เราไม่มีบทบาท ตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งภายในพรรคปชป. แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ !!
เราก็สามารถให้ความคิด ความอ่าน ความรู้อะไร ๆ ได้จากมุมมองของคนข้างนอกได้มากขึ้น !! มีเวลาอ่านหนังสือหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม แนววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ
และได้ตามเชียร์ทีมฟุตบอลโปรด #นิวคาสเซิล...ดูทุกแมท ฮา ฮา ฮา “ผมชอบตั้งแต่เกิดครับ” ก็อย่างว่าคนเกิดนิวคาสเซิลหรืออยู่ที่นั่น...เหมือนถูกสาปให้ต้องเชียร์ แล้วรอคอย ๆ ช่วงเวลาดี ๆ แบบนี้เนี่ย 20 – 30 ปี มีสักหนก็ยังไปไม่ถึงจุดสูงสุด
แต่ว่าเที่ยวนี้มีความสุข !! เพราะไม่ใช่แค่ชนะ แต่ทีมเล่นดีจริง ๆ ทั้งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทัศนคติของโค้ช แม้จะถูกค่อนขอดว่ามีสตางค์เยอะหรือเปล่า แต่ความจริงการใช้เงินก็ไม่ผิดแผกไปจากทีมอื่นมากนัก แล้วจริง ๆ ยังไม่ได้ใช้เต็มที่ด้วยซ้ำ
ปีนี้เดิมลุ้นแค่ว่า...ได้เกือบไปเล่นถ้วยยุโรปก็พอใจแล้ว แต่พอเปิดฉากมาเกือบครึ่งฤดูกาล มันขึ้นมาถึงที่ 2 – 3 ....เริ่มขยับ ๆ ความคาดหวังให้สูงขึ้นไปหน่อยคงเล็งไปที่แชมเปียนส์ลีก แล้วบอลถ้วยถ้าได้สักถ้วย...ก็ไม่เลวเลย !!
จะว่าไปการเมืองก็เหมือนเวลาเราดูฟุตบอล แล้วมองเห็นแบบว่า...คนที่อยู่ในสนามบางทีมันก็มองไม่เห็น !!
“ทุกวันนี้ผมยินดีที่จะช่วยให้คำแนะนำภาคประชาชนทั้งในเรื่องข้อมูล ความคิดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะผมอยากเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และได้รับความสนใจจากฝ่ายการเมืองด้วย
แต่อันนี้เราคงอยากจะให้ภาคประชาชน สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แล้วต้องระมัดระวังบทบาทของตัวผมด้วย เพราะหลายคนยังมองว่าเป็นการเมืองอยู่...ผมก็ยังเป็นสมาชิกพรรคปชป.นะครับ”
คนนอกสนามมองการเมืองแบบห่วง ๆ !?
1.ติดหล่มการเมือง 2 ขั้วใช้อำนาจต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งยังมองไม่เห็นว่า เราจะก้าวออกจากสภาพที่เป็นได้อย่างไร หลายพรรคพูดถึงการสลายขั้ว แต่ยังไม่ได้เป็นการพูดในเชิงการขจัดความขัดแย้ง
2. เกิดภาพการเมือง 2 บริบท คือ
(1) พรรคการเมืองใหม่ ชูจุดขายก้าวพ้นความขัดแย้ง แต่ทางปฏิบัติยังไม่เห็นพรรคใดประสบความสำเร็จ
(2) พรรคพลังประชารัฐ - พรรคภูมิใจไทย สองพรรคนี้ถูกมองว่า...เป็นตัวแปรสลับขั้ว และภูมิใจไทยก็อยู่ในฐานะที่จะเลือกได้ว่าจะอยู่กับขั้วไหน หรือในฐานะใด
3. ปัญหาทั้งหมดทั้งปวงในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น เหตุเพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง !! แต่ขณะที่การแข่งขันเชิงนโยบายทางการเมืองวันนี้เป็น “เชิงประชานิยมเฉพาะส่วน” เช่น ค่าแรง – บำนาญ - ราคาพืชผล - ประกันรายได้ – มีแต่เงินช่วยเหลือจากรัฐ แต่ไม่เคยมีคำตอบว่าระบบภาษีจะแก้ไขอย่างไร
4. ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับพรรคที่พยายามนำเสนอเชิงโครงสร้าง คือพรรคก้าวไกล และคุณเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่แคนดิเดตพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยมีอำนาจ คุณเศรษฐาจะได้เป็นผู้นำหรือไม่และอะไรสำคัญกว่า...วาระกลับบ้าน
5. การเข้าสู่สังคมสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยังไม่มีการจัดระบบเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน – หลักประกันความเป็นอยู่ - ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และเรื่องของทางออก
6. บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมให้เกิดสภาพเบี้ยหัวแตก ตอนนี้ทำให้เรื่องการใช้เงินในการเลือกตั้ง...น่าจะรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
7. ไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด – 19 ช้าที่สุด แล้วอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดในอาเซียน และภาคธุรกิจเสียเปรียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านนับวันยิ่งชัดเจนขึ้น
8. ภาวะตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน กดดันโลก - ภูมิภาคเราเป็นพิเศษ – ไทยเหมือนลดบทบาทตัวเองในต่างประเทศลงในหลายเรื่อง ทำให้การแสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหากับต่างประเทศ เราด้อยลงไปด้วย
9. สถานการณ์โลก ปี 2566 อยู่ในสภาวะไม่แน่นอนผันผวนแปรปรวนมากขึ้น ในแง่ความมั่นคง เศรษฐกิจกิจยังหนักหน่วงอยู่ เราเคยหวังว่าพอผ่านเรื่องโควิด - 19 เศรษฐกิจจะฟื้น
แต่เรายังต้องเจอกับความไม่แน่นอน ในเรื่องเงินเฟ้อจากผลกระทบสงคราม – ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่สหรัฐ ญี่ปุ่น กดดันให้อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น – ภาวะหนี้สินของประเทศ หนี้สาธารณะ ครัวเรือนพุ่งสูง ฯลฯ
เราต้องการให้ผู้มีอำนาจมาแก้ไขประเด็นเหล่านี้ แต่ว่าถ้าอ่านข่าวการเมืองทุกวัน ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้อยู่ใน...ข้อถกเถียงในทางการเมือง
10.วันนี้ผมยืนยันสิ่งที่เคยนำเสนอมาตลอดว่า...
“ถ้าแก้มาตรา 272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. โหวตนายกฯ ได้ก่อนการเลือกตั้ง และจัดทำประชามติในวันเลือกตั้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. ได้”
มันจะช่วยคลายปมขัดแย้งหลายอย่างในทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้จะต่อสู้กันอย่างไรก็แล้วแต่...ประชาชนยังมีความหวังต่อไปว่า...วันข้างหน้าจะมีการจัดระบบระเบียบทางการเมืองกันใหม่ เพื่อให้ประเทศเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้
สำคัญ...ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมานำการเมือง อย่ารอการเมือง
ใครที่เห็นปัญหา ใครที่มองเห็นทางแก้ปัญหาต่าง ๆ จะต้องมีบทบาทสำคัญในกระตุ้น - ดึง – ผลักให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาสู่จุดนี้ให้ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรหมดหวัง มารวมพลังพลิกตรงนี้...ให้เป็นโอกาสของประเทศกันครับ !!
“ผมยังเชื่อในศักยภาพของประเทศไทย 100 % ชาวต่างชาติเองเขาก็เห็นอะไรดี ๆ ในไทยเยอะ ทุกวันนี้ผมพยายามกระตุ้นให้ภาคประชาชนที่เขามองปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งความจริงมีหลายคนแล้ว ภาคเอ็นจีโอ ประชาชน นักวิชาการ ลูกศิษย์บางส่วน
เขาพยายามรวมตัวกัน แล้วนำเสนอข้อมูล ข้อเสนอแนะในเชิงการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งอยู่
ส่วนอนาคตทางการเมืองของผม...ผมตอบไม่ได้ครับ !! เมื่อประชาชนไม่ได้ให้การสนับสนุนเราก็ต้องยอมรับ เราต้องถอยออกมา ต้องเคารพเสียงประชาชน
เพราะผมจะกลับเข้าการเมืองก็ต่อเมื่อ...ผมคิดว่าทำประโยชน์ได้ ประชาชนยอมรับความคิดความอ่านในแนวทางของเรามากขึ้น และสนับสนุนให้เข้าไปทำ เข้าไปผลักดันสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
ผมไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว !! ” --//--
.
WhoChillDay
7 มกราคม 2566
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#WhoChillDay #อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
#คัมแบ็คการเมือง #ปิดสวิตซ์ส.ว. #เลือกตั้ง2566

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา