-ไอ้หนุ่ม Metro คือโปรดิวเซอร์ที่สามารถรังสรรค์ความแตกต่างชนิดที่หลับตาก็รู้ว่ากลิ่นอายเพลงแบบนี้ต้องเป็น Young Metro อย่างแน่นอน ด้วยการคราฟท์ซิกเนเจอร์เป็นของตัวเองด้วยสไตล์ modern hip hop ที่มีบรรยากาศดาร์คอันเฉพาะตัว เป็นความทริลเลอร์ที่ไม่ได้ยัด jump scare แต่เต็มไปด้วยพลังงานแห่งความเยือกเย็น ซึ่งตอบโจทย์สาย listener อย่างยิ่ง สะสมไมล์ด้วยการร่วมงานคอยเป็นมือปืน(ครีเอทบีท)ให้กับแร็ปเปอร์ระดับ A-List มากมาย มีผลงานติดบิลบอร์ดท็อปเท็นเป็นที่ประจักษ์แก่วงกว้าง
-รู้จักพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มรูปแบบด้วยการเริ่มปฐมบท Not All Heroes Wear Capes ที่ทำให้เรารู้ว่า ฮิปฮอปก็ยกระดับความสนุกจาก trap ท้องถนนให้บังเกิดความ cinematic ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดบิวท์อัลบั้มของไอ้หนุ่ม Metro ยกระดับความเป็นฮิปฮอปให้ไปไกลเกินกว่าการเป็น club banger โยกตัว twerk ตามคลับท้องถิ่น แต่เป็นการใส่สุนทรีย์เพื่อขายประสบการณ์เต็มรูปแบบ
-รวมไปถึงการสร้าง art direction ที่ชัดเจนกว่าครั้งไหน ด้วยการนำแขกรับเชิญทั้งหมดมาแปลงโฉมเป็นตัวการ์ตูนคอมมิคแยกคนเป็นเรื่องเป็นราวอย่างไม่ตกหล่น เป็นการเรียกน้ำย่อยปูทางก่อนเข้าอัลบั้มได้อย่างตื่นตาตื่นใจขึ้นไปอีก ถือว่าวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการแสดงแสงยานุภาพความมีอิทธิพล ความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นที่ประจักษ์ในความเหนือธรรมดา
-ไม่มีซีนแห่งความเซอร์ไพร์ส จำพวก whisper flow แบบที่ 21 Savage เคยแย้ปในเพลง Don’t Come Out the House เป็นความไม่เซอร์ไพร์สที่ทดแทนด้วยฟีลเพื่อนเก่าไม่เจอนาน แต่เก๋าเกมส์ขึ้นในการชูเอกลักษณ์นั้นจนน่าขนลุกยิ่งกว่าเพลงเดี่ยวของเขาเสียอีก เมื่อได้มารวมกับคนคุ้นเคยที่ไม่ได้โคจรหากันตั้ง 5 ปี ซึ่งเขาคนนั้นคือ Future นั่นเอง
-หากใครติดตามตั้งแต่อัลบั้มแรกจะเห็นได้ว่า การขาด Future พี่ชายคนสำคัญที่เป็นส่วนนึงให้ไอ้หนุ่ม Metro กลายเป็นอาวุธลับคนสำคัญของวงการ กลับสร้างความคลางแคลงใจให้กับชาวฮิปฮอปอยู่ไม่น้อยถึงความสัมพันธ์ทางใครทางมันอย่างปริศนาด้วยระยะเวลาถึง 5 ปี ด้วยผลงานที่ผ่านมาของ Future ก็มักจะมีอย่างน้อยหนึ่งเพลงที่ไอ้หนุ่ม Metro เจิมไว้อยู่เสมอ
-แต่ทำไม 5 ปีที่ผ่านมา การออกผลงานของเฮียฟิวไร้เครดิตชื่อของไอ้หนุ่ม Metro แม้แต่เพลงเดียว ในเมื่อคนน้องอยากเปิดตัวเต็มรูปแบบ เหตุใดจึงไร้ชื่อคนที่เป็นนายเก่าตั้งแต่ Day 1
-อย่างไรก็ดีตอนที่สัมภาษณ์กับ Ebro ไอ้หนุ่ม Metro ก็ให้เหตุผลของการห่างกันสักพักเพื่อเบรคความถี่ในการร่วมงาน เนื่องด้วยเพลง Mask Off ที่เป็น break out success ยิ่งทำให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของทั้งคู่ได้ส่วนนึง การเลือกที่จะไม่คอลแลปกันอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเหตุผลหลักเชิงกั๊กไพ่ไว้ก่อน แล้วงัดเอามาใช้เมื่อถึงเวลา
-การกลับมาในรอบ 5 ปีถือว่าเป็นไพ่ไม้ตายเด็ดที่คู่ควรกับจักรวาลของไอ้หนุ่ม Metro เสียจริง ทุกการปรากฏตัวของเฮียฟิวกลายเป็นพลังงานความขลังที่ทุกคนคิดถึง อาจเนื่องด้วยความคิดถึงที่ไม่ได้เจอการโคจรร่วมกันนาน และคิดไว้เยอะพอสมควรว่า โผล่มาครั้งนี้อย่างไรให้น่าจดจำ สำหรับผมโมเมนต์ที่น่าจดจำก็มีตั้งแต่เพลง Superhero (Heroes & Villains) ที่เปิดตัวได้อย่างอาจองมากๆ มาพร้อมกับ Outro ของ Chris Brown ที่หวือหวาและเฟี้ยวยิ่งกว่าเพลงเดี่ยวยุคปัจจุบันของเขาเสียอีก
-แม้กระทั่งการโผล่มาแย้ปสั้นๆใน Interlude เพลง I Can’t Save You ด้วยน้ำเสียงแหบพร่าก็เพิ่มความเยือกเย็นเป็นธรรมชาติ และในช่วง Outro เพลง Too Many Nights ที่ใช้เทคนิคการลากเสียงได้อย่าง Beast Mode ส่วน Lock On Me ที่ตัดสลับกับ Travis Scott แชร์ความกรึ่มของการยับยั้งชั่งใจ ภายใต้ตีม self-control ในการวางตัวต่อวงการเพลงเพื่อไม่ให้เสียกระบวน ซึ่งเอาจริงทราวิสเป็นเมนหลักของเพลงนี้ ชนิดที่ว่าไม่น่าให้เฮียฟิวมาซ้ำฮุกในตอนท้าย จบในส่วนของเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้เจอหน้ากันนานแต่เพียงเท่านี้
-อาทิเช่น Morgan Freeman กับการร่วมงานครั้งที่ 2 ถัดจากโปรเจกต์ Savage Mode II ที่มาพร้อมกับการดัดแปลงวลี If Young Metro don't trust you / Motherfucker, you better run ซึ่งเป็นอะไรที่ฮือฮาสัดๆ ในเพลงเปิด On Time น้ำเสียงของนักแสดงอาวุโสท่านนี้ กลับเพิ่มท่าทีให้ดูขรึมกันตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งสวนทางกับท่าที classical ที่เป็นมิตรแช่มชื่นของจารย์ John Legend เหลือเกิน
-อย่างไรก็ดีไอ้พาร์ทน้ามอร์แกนเป็นตัว twist เข้าสู่ฝันร้าย มาพร้อมกับแซมเปิ้ลหนึ่งในซีนน่าจดจำของตัวละครสุดร้ายกาจ Homelander ในซีรี่ย์เรื่อง The Boys ด้วย
-ส่วน Takeoff สร้างการกล่าวขานในช่วงหลังความตายด้วยกลอนแร็ปทิ้ง alphabet A ถึง Z ที่ดูซิมเปิ้ล แต่ฉลาดในการเชื่อมโยงโคตร ถือเป็นการกลับมาของ Rocky ที่ชอบที่สุด และเป็นการส่งไอ้หนุ่มจรวดได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย
-พาร์ทของ Don Toliver ก็ทำออกมาได้เกินคาดมาก ด้วยน้ำเสียงอันแหลมปรี๊ดของเขาดันเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะเจาะกับหมากบีทที่ไอ้หนุ่ม Metro วางไว้จริงๆ ตอนแรกคิดว่าจะมาสายเอื้อนเนิบๆ ที่ไหนได้บีทนำพาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น Too Many Nights, Around Me โดยเพลงหลังฉายภาพเดี่ยวของ Don อย่างเฉิดฉาย
-โดยเฉพาะ I Can’t Save You ที่เป็น interlude พี่แกก็งัดทักษะแร็ปตามบีทได้อย่างไหลลื่น ประหนึ่งกลัวตีเหล็กแล้วไม่ร้อน ซึ่งเพลงก่อนหน้าอย่าง Metro Spider ที่ Young Thug โชว์โฟลว์สุดแพรวพราวแบบไม่เกรงใจใครซะงั้น I Can’t Save You เลยเป็นความมะรุมมะตุ้มที่หาทางแลนด์ดิ้งได้ดีและลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
-เมื่อพูดถึงนักร้องสายเอื้อนแล้ว จะไม่ให้พูดถึง The Weeknd ได้ไง สำหรับ Creepin’ ที่เป็นการแปลงเพลง I Don’t Wanna Know ของ Mario Winans ซึ่งไม่ต่างกับการกระทำ cover ด้วยท่วงท่าและวลีที่ไม่เปลี่ยนไปมากกว่านี้ ผมเลยไม่รู้สึกว้าวเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะผมคาดหวังความเดือดจาก session After Hours บวกกับความชื่นชอบเวอร์ชั่นออริจินัลอยู่แล้วด้วย เลยไม่อยากจะอวยแทร็คนี้มาก
-ส่วน verse ของ 21 Savage เป็นจุดที่ผมคลิ๊กมากกว่า ดูทะมัดทะแมง เป็นการปรับให้สมบุกสมบันขึ้น ต่างจาก verse ต้นฉบับที่เฮีย Diddy เคยแร็ปไว้ให้กลมกลืนกับความอาร์แอนด์บี slow jam และการได้ Travis Scott มาคอรัสฮึมฮัมให้ด้วย ช่วยให้โทนเพลงที่ขมุกขมัวอยู่แล้วเพิ่มเติมด้วยความกรึ่มที่เข้าท่า
-สำหรับคนกลุ่มเดิมจากภาคที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Travis Scott, 21 Savage, Young Thug ก็ยังคงเสิร์ฟความบันเทิงด้วยสำเนียงที่คุ้นเคยจากผลงานเดี่ยวและผลงานแจม แต่พอมาเป็นภาคต่อของไอ้หนุ่ม Metro ผมสัมผัสได้ถึงความเรียบหรูมีคลาสมากขึ้นเป็นกอง vibe ในภาคแรกจะเน้นหนักไปทางเครื่องกดบีท 808 แล้วเจือด้วยดนตรีคลาสสิคบางๆเท่านั้น หรือไม่ก็มาในท่อน Outro ไปเลย แต่สำหรับภาคสองนี้ ถือว่ายกระดับไปเลย การเพิ่มบทบาทของดนตรีคลาสสิคทำให้มวลรวมความเป็น Trap แน่นกว่าเดิมเยอะจริงๆ
-Niagara Falls (Foot or 2) หยดเสียงเปียโนแม่งตราตรึงมากๆ น้ำเสียงสะลึมสะลือของ Travis แปรเปลี่ยนความเรียบหรูของเพลงที่ว่าด้วยการ flex และโดนอีตัวเกาะกิน กลายเป็นความรู้สึกเย็นชาต่อไลฟสไตล์หรูหราหมาเห่าโดยปริยาย Umbrella เป็นเพลงที่ว่าด้วยวิถีชาวแก๊งค์ในมุมมองของ 21 และญาติสหาย Young Nudy มาร่วมแจม ความเงียบสงัดคลอด้วยสายฝนโปรยปราย มโนไปถึงภาพชาวแก๊งกางร่มดำในงานศพ การถ่ายทอด verse ของ Young Nudy แม่งโคตรหมาเรื้อนดีๆเลยฮะ (ไม่ได้เหยียด เถื่อนดีชอบๆ)
-อันที่จริงตั้งแต่ No Heroes… ไอ้หนุ่มเมโทรก็ชูความเป็นแอนตี้ฮีโร่กันตั้งแต่ดีเอ็นเอของศิลปินแต่ละท่านอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอันเข้าใจโดยดีว่าเส้นแบ่งระหว่างการเป็นฮีโร่สร้างความบันเทิงให้ชาวประชากับความเป็นวายร้ายที่อาจเต็มไปด้วยคดีความและข่าวฉาว ช่างเป็นเส้นกั้นที่บางเหลือเกิน
-ถ้าจะชี้เพลงที่แบ่งเส้นความเป็น Heroes & Villains ได้ชัดเจนสุดคงเป็นเพลง Walk Em Down (Don’t Kill Civilians) เพลงเดียวกับที่ใช้โปรโมทในหนังสั้น โดยเพลงดังกล่าวฉายภาพสังคมชายขอบที่หวังพึ่งฮีโร่คนดีไม่ได้ อย่างมากสุดก็คือต้องหาคนที่รับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น อันเกิดจากชาวแก๊งทั้งหลายที่ตีรันฟันแทงจนไม่สนห่าไรเลย
-โดยพาร์ทแรก 21 ถ่ายทอดมุมมองของชาวแก๊งที่เตรียมพร้อมจะบวกกับอริ ส่วนพาร์ทสอง Mustafa ศิลปินจากแดน Toronto เป็นคนถ่ายทอดความสะเทือนใจด้วยท่วงทำนองเปียโนบัลลาด อันเป็นจุด dramatic ที่สุดในอัลบั้ม
-สรุปการกลับมาของ Young Metro รอบนี้ไม่เกินความคาดหมายมากนัก เมื่อเทียบกับภาคแรกถือว่าเสมอและคงเส้นคงวาในแบบที่ไม่ใช่การฆ่าผลงานชุดก่อนแต่อย่างใด เหตุผลคือจุดแข็งของสองภาคต่างกันไม่มาก ภาคแรกเป็นการลงลายเซ็นให้ชัดด้วยหมึกหนาๆไปก่อน มีพลังงานความสนุก มีความพลุ่งพล่านบ้าง มีความริเริ่มแบบคิดการใหญ่ในการยกระดับความเป็น trap ให้มีความ cinematic ขยาย scope อย่างระมัดระวัง
-แต่สำหรับภาคสองก็เป็นความคุ้นเคยจากภาคก่อนที่ถูกพัฒนาให้มันแกรนด์ขึ้น แต่ก็ต้องยอมสูญเสียความพลุ่งพล่านเพื่อให้เข้าถึงบรรยากาศเฉพาะตัวที่ขรึมและมีคลาสขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าคนฟังยุค new school ที่โตมากับเพลงของ Young Metro น่าจะชื่นชอบความหรูหราหมาเห่านี้ไปตามลำดับเช่นกัน ตอนรีวิวครั้งก่อนผมคาดหวังถึงแขกรับเชิญเซ็ตใหม่ที่แตกต่างจากกลุ่มคนกันเองนี้บ้าง
-ผมอาจจะยังไม่รู้ว่านี่คือส่วนนึงของไตรภาค ตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจในการเลือกฟีทเจอร์เซ็ตเดิม เพิ่มเติมด้วยหน้าใหม่เพียงไม่กี่คน ด้วยเหตุผลการขับเคลื่อน direction และ theme ให้สอดคล้องตรงกับดีเอ็นเอของภาคก่อนนั่นเอง ผมคือคนที่ first impression ไปกับความสนุกที่คุ้นเคยแบบภาคแรก และรู้สึกเอ็นจอยกับความขรึมที่มีคลาสของภาคสองเช่นกัน
-ความคงเส้นคงวาและการจับจังหวะให้มั่นของไอ้หนุ่ม Metro ยังคงเป็นสิ่งที่เราสามารถ trust ในฝีมือได้ และยังคงเป็นโปรดิวเซอร์ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้วงการฮิปฮอปได้อย่างสนิทใจ อย่างน้อยเริ่มรู้จักใส่ความเนี๊ยบเป็นหัวใจหลักของผลงานที่เป็นได้มากกว่าความสนุกประเดี๋ยวประด๋าว พอได้ดูหนังสั้นโปรโมทอัลบั้มที่ LaKeith รับบทเป็นวายร้ายเผาบ้านเผาเมืองในยามที่ Young Metro ตัวเอกของเรื่องหายตัวไป
Top Tracks : On Time, Superhero (Heroes & Villains), Too Many Nights, Umbrella, Trance, Around Me, Metro Spider, I Can’t Save You (Interlude), Niagara Falls (Foot or 2), Walk Em Down, Feel The Fiyaaaah