8 ม.ค. 2023 เวลา 10:15 • ปรัชญา

“ ศาสนาผี ” จากความเป็นศาสนาสู่วาทกรรมเชิงดูถูก?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนาเป็นสิ่งที่ควบคู่กับวัฒนธรรมของมนุษย์มาโดยตลอด ซึ่งก็มีความเชื่อแตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์แต่ละท้องถิ่น แต่ความเชื่อที่ถือว่าเป็นรากฐานเก่าแก่ของหลายๆศาสนาเรียกได้ว่าคือ “ศาสนาผี” แม้กระทั่งในปัจจุบันศาสนาผีก็ยังคงกลมกลืนอยู่ในหลายความเชื่อหลายวัฒนธรรม และยังมีการปรับตัวเกี่ยวพันกับศาสนามาโดยตลอด
เมื่อพูดถึง “ผี” ในสังคมไทยโดยส่วนมากมักจะเข้าใจว่าหมายถึงผีอย่างผีกระสือ ผีเปรต แม่นาค ฯลฯ แต่เมื่อพูดถึงผีในความเป็นศาสนาผีนั้นไม่ได้หมายถึงการนับถือบูชาผีกระสือหรือผีเปรตอะไรทำนองนั้น นิยามของผีในความเป็นศาสนาจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป
1
คำว่าผีในรูปแบบที่เป็นศาสนานั้นแท้จริงแล้วหมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติที่สามารถบันดาลสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าจะเรียกว่าวิญญาณหรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งความหมายก็นิยามเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเป็นวัตถุก็ตามก็เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นนิยามคำว่าผีในศาสนาผีก็เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติไม่ได้ต่างกับ เทพ,เทวดา ของศาสนาอื่นๆเลย
นักวิชาการหลายคนล้วนกล่าวตรงกันว่าศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือศาสนาผีหรือศาสนาวิญญาณ ที่เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดเพราะว่าตั้งแต่มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือก่อนที่จะมีการเขียนหรือจดบันทึก ก็ล้วนแต่บูชาอำนาจเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็นหรือเรียกว่าบูชาวิญญาณด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งก็ถือเป็นศาสนาดั้งเดิมของมนุษย์ ส่วนเรื่องนามหรือรูปลักษณ์นั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นถิ่นและวัฒนธรรม
ศาสนาผีหรือศาสนาวิญญาณที่เรียกว่า “Animism” เป็นศาสนาประเภทวิญญาณนิยม ซึ่งมีความเชื่อว่าวิญญาณเหนือธรรมชาติมีอยู่จริงและเป็นอมตะ และวิญญาณเหล่านั้นคอยปกปักรักษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสังคมให้เกิดการเสมอภาคและยุติธรรมตามความเชื่อ หรือเรียกได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนสมัยนั้น ซึ่งโดยส่วนมากล้วนเป็นความหมายในเชิงบวก
สำหรับในภูมิภาคของประเทศไทยนั้น ศาสนาวิญญาณ หรือ ศาสนาผี มีมานานถึงราว 5,000 ปีมาแล้ว หรืออาจเก่ามากกว่านี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทางอีสานตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเก่าสุด เริ่มทำกสิกรรมปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ แล้วมีพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ คนในไทยทุกวันนี้นับถือศาสนาผีปนพราหมณ์พุทธ มีศาลผี และทำพิธีทรงเจ้าเข้าผีทั่วไปทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นศาสนาแบบผสมหรือที่เรียกกันว่า “ศาสนาไทย”
ศาสนาไทยมีลักษณะที่เอาศาสนาผีเป็นรากฐาน แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ เข้ามาประกอบกับศาสนาผีควบคู่กันไปด้วยจึงเรียกได้ว่าเป็นศาสนาผสมแบบ “ผี-พราหมณ์-พุทธ”
เรื่องผี สังคมยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป ผีในศาสนาดั้งเดิมก่อนรับศาสนาพุทธและพราหมณ์ กับหลังรับศาสนาแล้ว พอพูดไปจะสับสนและปนเป แต่ถ้าค่อยๆ ทําความเข้าใจร่วมกัน เราจะไม่ปนกัน”(สุจิตต์ วงษ์เทศ)หรือแม้แต่การดํารงชีวิตประจําวันของคนในรัฐก็ผูกพันข้องเกี่ยวกับศาสนาผีตลอดเวลา อย่างคาดไม่ถึง เช่นชาวนามีการบูชาพระแม่โพสพซึ่งเป็นเทพ(ผี)แห่งข้าว ชาวประมงที่ออกเรือก็มีการบูชาแม่ย่านางเรือ(ผีประจําเรือ)
ศาลผีบริเวณบ้านและในวัด (คือศาลเจ้าที่และศาลพระภูมิ เรียกรวมว่า “พระภูมิเจ้าที่”) ศาลผี มี 4 เสา เรียกศาลเจ้าที่, ศาลตายาย, ศาลปู่ย่า, ศาลเพียงตา ฯลฯ ศาลพระภูมิ มีเสาเดียว (สัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ) อยู่ในประเภทศาลผี คนปฏิบัติต่อศาลพระภูมิเหมือนศาลผี ที่สำคัญคือมีในไทย ไม่มีในอินเดีย
แต่ในเวลาต่อมาศาสนาผีถูกศาสนาและวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่และมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทยก็คือศาสนาพราหมณ์กับพุทธ ยิ่งที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องศาสนาบริสุทธิ์ ศาสนาที่เที่ยงแท้,ประเสริฐ จิงได้กดให้ความเชื่อที่อ้างว่าเป็นของศาสนาผีเป็นความหมายในเชิงลบเพียงอย่างเดียว
อย่างเช่น ศาสนาผีเป็นสิ่งที่งมงาย,หลับใหล ผีเป็นวิญญาณที่ชั่วร้าย,ตายแล้วไม่ไปผุดไปเกิด ซึ่งทำให้ความเชื่อที่เกี่ยวกับศาสนาผีเป็นเรื่องที่งมงายไปเสียหมด ศาสนาผีจึงถูกมองว่าเป็นวิญญาณหรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่ด้อยและชั่วร้าย แต่กลับกันอำนาจที่เหนือธรรมชาติที่ดีและประเสริฐถูกเรียกว่าเทพ,เทวดา
ในสังคมไทยทุกวันนี้มักอ้างตามประเพณีว่านับถือศาสนาพุทธ-ไม่นับถือศาสนาผี บางคนแสดงความรังเกียจเหยียดหยามความเชื่อผี แม้นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธการมีอยู่จริงของศาสนาผี เพราะเหตุนี้เวลาที่ใครใช้คำว่าศาสนาผีหรือความเชื่อบางอย่างที่เป็นของศาสนาผีก็จะมีความหมายไปในเชิงลบ,ต่ำต้อยและดูถูกเหยียดหยามไปเสียหมดโดยเฉพาะศาสนาที่ตนเองคิดว่าประเสริฐกว่า
แต่ที่จริงแล้วคำว่าศาสนาผีในความหมายดั้งเดิมก็ถือเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติเหมือนกับเทพ,เทวดารวมถึงเทพเจ้าด้วย อย่างเช่นผีฟ้าก็เป็นวิญญาณเทพเจ้าแห่งท้องฟ้า หรือย่างผีดินก็เป็นวิญญาณที่ครอบครองดูแลผืนดิน ต้นไม้ ป่าเขา
ในวงวิชาการศาสนวิทยาทางตะวันตกส่วนมากมักไม่ใช้คำว่าศาสนาผีหรือไม่ใช้ศัพท์ว่า “ghost religion” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่าศาสนาผี แต่จะใช้คำเรียกอื่นคือ animism ซึ่งหมายถึงวิญญาณนิยม แต่ที่นิยมมากกว่าคือเรียกเป็นยุคหรือระดับพัฒนาการของศาสนาคือ “primitive religion”
ซึ่งแปลว่าศาสนายุคบรรพกาลหรือศาสนาประฐมภูมิ ที่ใช้คำเรียกแบบนี้ก็เพราะว่าศาสนารูปแบบนี้เป็นศาสนาพื้นฐานดั้งเดิมที่มนุษย์ทั้งโลกล้วนเริ่มมาจากรากฐานของศาสนารูปแบบนี้มาก่อนทั้งสิ้น ก่อนที่ต่อมาจะพัฒนาแนวคิด,ความเชื่อต่อไปยังศาสนารูปแบบอื่นที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
โฆษณา